เกมยาก! ปชป.จับมือเพื่อไทย สกัด 'นายกฯคนนอก'

เกมยาก! ปชป.จับมือเพื่อไทย สกัด 'นายกฯคนนอก'

เจาะประเด็นร้อน เกมยาก! ประชาธิปัตย์จับมือเพื่อไทย สกัด "นายกฯคนนอก"

จุดพลุกันมาหลายรอบแล้ว สำหรับสูตรการเมืองสกัด “นายกฯคนนอก” หลังเลือกตั้ง นั่นก็คือการ “จับมือ-จูบปากกัน” ของ 2 พรรคการเมืองใหญ่อย่าง “เพื่อไทย” กับ “ประชาธิปัตย์”

ล่าสุดบนเวทีเสวนาที่สมาคมนักข่าวฯ เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการแสดงท่าทีจากแกนนำของทั้งสองพรรค คือ จาตุรนต์ ฉายแสง จากค่ายเพื่อไทย กับ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งสองพูดค่อนข้างชัดว่าไม่ปิดโอกาสการจับมือกันทางการเมือง

แม้นโยบายของสองพรรคจะต่างกันสุดขั้ว และยืนอยู่คนละฟากฝั่งกันมาตลอด ถึงขั้นแกนนำของพรรคจัดม็อบปิดเมืองไล่อีกฝ่ายไม่ให้เป็นรัฐบาลก็ยังทำกันมาแล้ว และเป็นหนึ่งในปัจจัยความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็อย่างว่า...สัจธรรมการเมืองไทย อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

ทว่าการประกาศจุดยืนตั้งแต่ไก่โห่ ยังไม่รู้แม้แต่วันเลือกตั้ง อาจส่งผลเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองได้ง่ายๆ โดยเฉพาะมวลชนที่สนับสนุนแต่ละพรรค แต่ละฝ่าย หากวางบทบาทผิดไป อาจเสียคะแนนได้เหมือนกัน

เหตุนี้เองบรรดาหัวหน้าและแกนนำของทั้งสองพรรค จึงออกมาแตะเบรกโดยพร้อมเพรียงกัน จนคนพูดอย่างนิพิฏฐ์ต้องยอมถอย บอกว่าเรื่องนี้เป็นแค่ “คณิตศาสตร์การเมือง”

แต่สูตรคณิตศาสตร์สูตรนี้ ต้องบอกว่าเร้าใจไม่น้อย เพราะตัวเลข ส.ส. 500 เสียง บวก ส.ว.ลากตั้งจาก คสช.อีก 250 เสียง จะมีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยผู้ที่จะได้รับเลือก ต้องได้เสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ 2 สภารวมกัน คือ 376 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียง

หากต้องการสกัดนายกฯคนนอก ต้องเลือกจากนายกฯในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ ซึ่งพรรคการเมืองต้องรวมเสียงกันให้ได้ 376 เสียง โดยไม่ต้องพึ่งเสียง ส.ว. การจะได้เสียงมากขนาดนี้ สองพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ต้องจับมือกันเท่านั้น

ขณะที่ คสช. หากต้องการสืบทอดอำนาจผ่าน “นายกฯคนนอก” คสช.ก็จะมีเสียง ส.ว.250 เสียงอยู่ในมือ ต้องหาเสียง ส.ส.อีก 126 เสียง เกมยากของ คสช.คือ เสียง ส.ส. 126 เสียงนั้นหาไม่ยาก แต่ถ้ามีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเพียงแค่นี้ ถึงจะเป็นนายกฯได้ ก็บริหารประเทศไม่ได้ เพราะเสียงใน “สภาล่าง” ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของ 500 เสียง นั่นก็คือ 250 เสียง ฉะนั้นถ้ามีเสียงสนับสนุนแค่ 126 เสียง แค่จะผ่านกฎหมายยังไม่ได้ อย่าไปพูด พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งหากพ่ายเสียงในสภาล่าง นายกฯก็ต้องลาออก

ฉะนั้น คสช.เองก็ต้องหาพันธมิตรการเมืองเอาไว้เช่นกัน และการปรากฏร่างเงาของ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตขุนพลของพรรคชาติไทยพัฒนา บนเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ถูกมองเป็น “ดีลการเมือง” ที่ซื้อใจกันไว้ล่วงหน้า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพยายามปฏิเสธก็ตาม

สูตรคณิตศาสตร์การเมืองว่าด้วยเรื่องตัวเลข ต้องบอกว่าไม่ต่างอะไรจาก “งูกินหาง” เพราะพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจะถูกแย่งชิงจากทั้งฝ่าย คสช. และฝ่ายสองพรรคใหญ่ที่ไม่ต้องการนายกฯคนนอก เหตุนี้เองพรรคการเมืองอย่าง ภูมิใจไทย และ ชาติพัฒนา จึงเนื้อหอมสุดๆ เพราะเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์แค่ 2 พรรค ก็ไม่ง่ายนักที่จะรวมเสียงกันได้ถึง 376 เสียง โดยเฉพาะในการเลือกตั้งที่ คสช.คุมเกมอยู่

การวางท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องบอกว่าลำบากกว่าพรรคเพื่อไทย เพราะเพื่อไทยนั้น ชัดเจนว่าไม่มีทางร่วมหัวจมท้ายกับรัฐบาลสืบทอดอำนาจของ คสช.ได้อย่างแน่นอน แต่พรรคประชาธิปัตย์ ยังมี สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส.เป็น “โซ่ข้อกลาง” เชื่อมสัมพันธ์กับ คสช. ดูจากการปรับ ครม.เที่ยวล่าสุดที่ให้ กฤษฎา บุญราช เข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ชัดว่าเขาเป็นตัวแทนใคร และภารกิจใหญ่ที่ต้องทำให้สำเร็จคือปลุกราคายางพาราให้เด้งกลับมาเหมือนเก่า เพื่อดึงคะแนนเสียงจากชาวสวนยางซึ่งมีฐานใหญ่อยู่ในภาคใต้ให้เลือกประชาธิปัตย์ และเข้าฮอร์สร่วมรัฐบาลกับ คสช.

ฉะนั้นถ้ากลุ่มอภิสิทธิ์ จะทำ “ดีลลับ” กับพรรคเพื่อไทย เพื่อปฏิเสธนายกฯคนนอก โอกาสที่ประชาธิปัตย์จะแตกเป็นเสี่ยงๆ เหมือนเมื่อครั้ง “กลุ่ม 10 มกราฯ” ที่ วีระ มุสิกพงษ์ และพวกตัดสินใจเดินออกจากพรรคไปเมื่อปี 2531 ก็อาจหวนคืนกลับมา

นี่คือโจทย์ขอยากของประชาธิปัตย์ และทั้งหมดจึงส่งผลให้ “นายกฯลุงตู่” ถือไพ่เหนือกว่าเห็นๆ จังหวะก้าวทางการเมืองนับจากนี้จึงต้องห้ามกะพริบตา!