ปปช.ชง2แนวทาง สกัดนักการเมือง โยกบัญชีทรัพย์สิน

ปปช.ชง2แนวทาง สกัดนักการเมือง โยกบัญชีทรัพย์สิน

รองเลขาฯป.ป.ช.ชี้ 2 แนวทางเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน “ไม่ประชาชนร่วมตรวจสอบ-ไม่ก้าวล่วงข้อมูลส่วนตัว” แนะเพิ่มกลไกสกัดนักการเมืองโยกทรัพย์สินให้ “นอมินี” คงกฎเหล็ก “ข้าราชการ” ทุกระดับยื่นบัญชีทุก3ปีเก็บเข้าฐานข้อมูล

วานนี้(29 พ.ย.) ในการเสวนาหัวข้อ “การเปิดเผยทรัพย์สินและบทบาทหน้าที่ของป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติ ป.ป.ช.ใหม่” จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน(รอง เลขาธิการ ป.ป.ช.) กล่าวถึงการยื่นบัญชีทรัพย์สินว่า ตามกฎหมายป้องกันการทุจริต ปี 2540 ที่ระบุเพียงการยื่นบัญชีทรัพย์สินของตน คู่สมรส และญาติพี่น้องเท่านั้น ต่างกับกฎหมายฉบับใหม่ ปี 2560 ที่ระบุให้การยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นการเปิดเผยผลการตรวจสอบการแสดงรายการทรัพย์สิน นอกจากนี้ยังระบุตำแหน่งเพิ่มของบุคคลที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ตามมาตรา 100 ซึ่งมีทั้ง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งในระดับสูงและผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.)
แต่การเปิดเผยข้อมูลบัญชีทรัพย์สินนั้น มี 2 แนวทางที่ต้องคำนึง คือ เปิดเผยอย่างไรให้สาธารณชนสามารถเข้าร่วมตรวจสอบและการเปิดเผยนั้น จะต้องไม่ก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวมากเกินไป เนื่องจากที่ผ่านมานักการเมืองหลายรายโดนกลั่นแกล้งจากข้อมูลที่ถูกนำไปเปิดเผย ทั้งๆที่อาจไม่ได้เป็นข้อมูลที่ทันสมัย หรือนำไปใช้โดยไม่เกิดประโยชน์ต่อการตรวจสอบเลย

“จากประสบการณ์ทำงานการมีส่วนร่วมตรวจสอบ ข้อมูลที่ปกปิดนั้นไม่มีผลต่อการมีส่วนร่วมตรวจสอบของประชาชน แต่ข้อมูลที่อยากได้คือมีทรัพย์สินอื่นใดอีกบ้างที่ผู้ดำรงตำแหน่งรายนั้นๆ ไม่ได้แจ้งต่อป.ป.ช.อีก ปัจจุบันพบว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทุจริตเขารู้ป.ป.ช.ตรวจสอบร่วมกับสื่อ หลังๆ มาจึงไม่มีการเอาทรัพย์สินมาไว้ในชื่อตัวเอง ให้นอมินีถือแทน ข้อมูลตรงนี้เราอยากได้มากกว่า นี่คือสิ่งที่ต้องการ เพราะเราตรวจสอบตามระบบมันไม่เจอ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ป.ป.ช.คงต้องกลับไปพิจารณาความเหมาะสมในการมีส่วนร่วมตรวจสอบอย่างที่และไม่ให้กระทบสิทธิของผู้ที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินมากเกินไป”

ด้านนายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

กล่าวว่า หลักการที่กรธ.เสนอเรื่องการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินในร่างกฎหมายลูกป.ป.ช.นั้น ไม่ได้แตกต่างจากปี 2540 และ 2550 การระบุว่า มาตรา 104 ของกฎหมายป.ป.ช.ที่ให้ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณชนได้โดยสรุปเท่านั้น

โดยเจตนารมณ์ของกรธ.คือ ไม่ต้องการให้นำข้อมูลส่วนตัวของผู้แสดงบัญชีทรัพย์สินไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง เพราะในการตรวจสอบ เราต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันของสังคม วิวัฒนาการที่เปลี่ยนไปด้วยข้อมูลบางอย่างเมื่อเปิดเผยไปอาจกระทบผู้ที่ยื่นได้
ที่ผ่านมาสนช.หลายคนถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง จึงไม่อยากให้เปิดเผยข้อมูลที่อาจเกิดอันตรายแก่เจ้าของข้อมูลได้ ล่าสุดกมธ.ได้แก้ไขเนื้อหาโดยกำหนดให้ป.ป.ช. ไปเลือกหาวิธีเอาเองว่า มีข้อมูลส่วนใดที่จะไม่เปิดเผยได้บ้าง

ล่าสุดทราบว่าขณะนี้มีข้อมูลอยู่ในข่ายปกปิดได้ตามระเบียบ ป.ป.ช. 14อย่าง อาทิ เลขที่บัตรประชา ชน วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ทะเบียนรถ เลขที่โฉนด เลขที่บัญชีธนาคาร ภาพถ่ายทรัพย์สิน ที่อยู่โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่ของผู้ให้กู้ยืมเงิน ข้อมูลเหล่านี้เมื่อยื่นต่อป.ป.ช.มา เมื่อป.ป.ช.มาเปิดเผยต่อสาธารณะ อาจไม่จำเป็นต้องเปิดเผย หรือทำแถบดำคลุมข้อมูลเหล่านี้ไว้ได้

อย่างไรก็ดีเนื้อหาอีกส่วนที่กมธ.เพิ่มเติมเข้ามาคือ ให้ข้าราชการทุกระดับยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อหน่วยงาน ตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการ และทุก3ปี จะต้องเก็บเป็นข้อมูลไว้ตรวจสอบหากมีการร้องเรียนเข้ามา

ขณะที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(ป.ป.ช.)กลับมองว่า ป.ป.ช.ไม่ควรปกปิดรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ของข้อมูลเรื่องนี้ป.ป.ช.ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประเด็นสิทธิส่วนบุคคลกับการคุ้มครองสาธารณะ ในเมื่อนักการเมืองอาสามาทำงานเพื่อสาธารณะโดยกินเงินเดือนสาธารณะ มาดูแลทรัพยากรส่วนร่วมและเงินทองของสาธารณะ ความเป็นส่วนตัวควรจะลดลง ทั้งนี้เมื่อกฎหมายที่กำลังร่างเขียนคลุมเครือก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

ดังนั้นถ้ากฎหมายเปิดช่องเรื่องเหล่านี้ก็อาจจะถูกตีความเรื่องสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้นๆ แนวโน้มก็เห็นแล้วว่าจากปกปิดแค่ 4 รายการ มาเป็น 14 รายการ ถ้าเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ จะเป็นอย่างไร

“ผมไม่เห็นด้วยกับการให้ความสำคัญกับการปกปิดข้อมูลส่วนตัว ตามที่อ้างกันว่าอาจเกิดอันตราย ผมยื่นบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยมา 10ปี ไม่เห็นมีใครมาทำร้าย ถ้ามีคนบอกว่าอันตราย แสดงว่าคงไปทำอะไรมา”