นครแห่งครัวโลก ปลายทาง‘สมุทรสาคร’

นครแห่งครัวโลก ปลายทาง‘สมุทรสาคร’

สมาร์ทซิตี้ในแบบเมืองสมุทรสาคร ไม่เพียงแค่วางโครงสร้างพื้นฐานและใช้เทคโนโลยีไปเพิ่มคุณภาพชีวิตคนในท้องถิ่น แต่ต้องเติมการศึกษา วิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อก้าวสู่ขุดหมายในการเป็นนครแห่งครัวโลกในปี 2573

“สมุทรสาครพัฒนาเมืองหรือ SKCD เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา จากการรวมตัวกันของภาคเอกชนจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ที่ให้ความสนใจ ปรึกษาพูดคุย จนกระทั่งพัฒนาเป็นบริษัทวิสาหกิจ” ธนชัย เรืองชัยสิทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้จัดการทั่วไป บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวถึงที่มาของการวางรากฐานสมุทรสาครให้เป็นสมาร์ทซิตี้

ชูจุดแข็ง “อาหาร-วัฒนธรรม”

สมุทรสาครมีประชากรในพื้นที่ราว 5 แสนคนแต่มีประชากรแฝงสูงกว่า 8-9 แสนคน มีรายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรม 67% โดยกว่า 35% เป็นอุตฯ อาหารที่มีเม็ดเงินลงทุนกว่า 2.2 แสนบาท ส่วนที่เหลือ 12% เป็นการค้าปลีก-ส่ง และ 5% เป็นเกษตรกรรม

จุดแข็งของสมุทรสาครคือ ภูมิศาสตร์ แม้จะถูกมองว่าเป็นเมืองรองหรือเมืองทางผ่านมุ่งสู่สายใต้ แต่เมื่อมองในเชิงลึกจะสามารถพลิกให้เป็นข้อได้เปรียบในเชิงโลจิสติกส์และซัพพลายเชน จุดแข็งอีกด้านก็คือ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อาหารทะเลและการผสมผสานระหว่างการทำอาหารกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังนั้น “สมุทรสาคร นครแห่งครัวโลก 2573 (SK World Kitchen 2030)” จึงเป็นโจทย์หลักที่จะขับเคลื่อนเมืองนี้

ธนชัย กล่าวว่า การวางแผนเริ่มจากการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ 3 ส่วน เริ่มจากเกณฑ์การเป็นครัวโลกที่ไม่ใช่แค่ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไทย แตุ่ต้องการที่จะดึงรายได้จากนอกประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยต้องการความร่วมมือจากภาคการศึกษาและวิจัยเพื่อวางมาตรฐานและรากฐานของการนำไปสู่นครแห่งครัวโลกในอนาคต ในขณะเดียวกันก็ต้องวางแผนการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการปฏิบัติการณ์ที่เหมาะสม

ทั้งนี้ เพื่อเดินหน้าไปให้ถึงเป้าหมาย บริษัทสมุทรสาครพัฒนาเมืองเตรียมทำมาสเตอร์แพลน เริ่มจากการออกแบบและจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมทั้งในมิติเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม วางโครงสร้างระบบขนส่งรองรับการเดินทางและสินค้าทั้งทางบกน้ำและอากาศในอนาคต ขณะเดียวกันก็ต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานคือ การศึกษาและออกแบบอนาคตของเมือง รวมถึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีุ้์้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างอัจฉริยะ (Smart Tourism)

ยุทธศาสตร์ถัดมาคือ การมีศูนย์กลางด้านความรู้ในพื้นที่สมุทรสาคร โดยในช่วงแรกจะเป็นการดึงภาคการศึกษามาร่วมทำวิจัยในพื้นที่ โดยมี SKCD เป็นตัวกลางประสานเรื่องโจทย์วิจัยที่ไม่ซ้ำกับที่เคยทำ มีฐานข้อมูลเชิงลึกในพื้นที่ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถพัฒนาเมืองไปอย่างต่อเนื่อง และหลังจากนั้นจะเป็นความร่วมมือเพื่อดึงให้มหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยต่างๆ มาร่วมตั้งวิทยาเขตการศึกษาหรือศูนย์วิจัยในพื้นที่

“สิ่งที่สำคัญคือ พื้นที่การศึกษาวิจัยและนวัตกรรม จะต้องเป็นแม่เหล็กดึงสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยเข้าสู่สมุทรสาคร พร้อมจัดตั้งสถาบันการวิจัยด้านโภชนาการ ด้านเทคโนโลยีอาหาร ด้านการปรุงอาหารและนวัตกรรมอาหาร รวมถึงสถาบันรับรองกระบวนการผลิตของห่วงโซ่อุตฯ อาหารอีกด้วย”

“สามัคคี” คีย์เวิร์ดเมืองยั่งยืน

ธนชัย กล่าวว่า ในช่วงเฟสแรก (2561-2563) หวังที่จะเห็นควิกวิน (Quick Win) ในเชิงรายได้ของประชากรในพื้นที่ จากการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ถนนคนเดิน โฮมสเตย์ ในขณะเดียวกันก็ทำการศึกษาศักยภาพของโครงการนำร่อง ทั้งตลาดทะเลไทย สร้างตลาดประชุมสัมมนาสำหรับดึงงานแฟร์ด้านอาหารให้มาที่ไทย สะพานปลา (SK Premium Seafood Market) และนิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร (SK World Kitchen Industrial Estate) เพื่อรองรับการทำงานในเฟสถัดไป (2564) ที่จะเกิดร่างยุทธศาสตร์จังหวัด และผลักดันโครงการต่างๆ ไปสู่นโยบายสาธารณะ

สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 สำหรับสมุทรสาครสมาร์ทซิตี้ คือการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย การสร้างองค์ความรู้ และเม็ดเงินลงทุนโครงการที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อเมือง

“เราต่างคนต่างอยู่กันมานาน การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน คนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบเมือง ดังนั้น จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาวิจัย และวางแผนเมือง รวมถึงภาคประชาสังคมทั้งสื่อมวลชน เอ็นจีโอและสังคม” ธนชัย กล่าว