'บัวตอง' ครองดอย!

'บัวตอง' ครองดอย!

เบื้องหลังความสวยงามอาจมีมุมร้ายๆ ซ่อนอยู่ การเข้ามาของดอกบัวตองช่วยเรียกแขกกระทั่งเกิดรายได้มากมายในบางพื้นที่ แต่ขณะเดียวกันนี่อาจเป็นสัญญาณหายนะของระบบนิเวศท้องถิ่น

            “ดอกบัวตองนั้นบานอยู่บนยอดดอย...” เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินเนื้อเพลงนี้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่รู้ว่าเนื้อเพลงท่อนต่อไปจะร้องว่าอย่างไร ก็คงคล้ายๆ กับดอกบัวตองที่เนื้อเพลงกล่าวถึง ทุกคนรับรู้ว่ามันงาม มันสวย และมันสร้างรายได้ แต่จะมีสักกี่คนที่มองช็อตต่อไปว่าเบื้องหลังสีเหลืองอร่ามและความสวยงามจนมีคนนำมาใส่ในเนื้อเพลงนั้นอาจจะมีพิษสงขนาดไหน

 

  • บัวตอง...สยองขวัญ?

            นับตั้งแต่ ผศ.ดร.ศศิวิมล แสวงผล ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดประเด็น ‘บัวตอง สยองขวัญ’ ขึ้นในเฟซบุ๊คของตัวเอง นับเป็นการต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยวภาคเหนือได้อย่างกระเทือนซาง เพราะด้านหนึ่งบัวตองคือนางเอกแห่งยอดดอยแม่ฮ่องสอน และไม่ได้เพิ่งเข้ามาเป็นเอเลี่ยนสปีชี่ส์น้องใหม่แต่อย่างใด จึงเกิดคำโต้แย้งสวนกลับทันควันจากคนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งรวมถึงคนรักบัวตองว่า “บัวตองไม่สร้างปัญหา และมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นมากเกินกว่าจะยอมให้ทำลาย”

            จากข้อมูลของ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ (สผ.เชียงใหม่) อธิบายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (alien species) ว่าหมายถึง ชนิดพันธุ์ที่เกิดขึ้นในที่ที่แตกต่างจากพื้นที่การแพร่กระจายตามธรรมชาติ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นบางชนิดแพร่ระบาดจนกลายเป็นรุกราน (invasive alien species) หมายถึงว่า ชนิดพันธุ์นั้นคุกคามระบบนิเวศ แหล่งที่อยู่อาศัย หรือชนิดพันธุ์อื่นๆ มีหลายปัจจัยที่มีผลเกื้อหนุนให้ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นตั้งรกรากและรุกรานในที่สุด เป็นที่ทราบกันว่า อิทธิพลทางกายภาพและทางเคมีที่มนุษย์มีต่อระบบนิเวศได้เพิ่มโอกาสให้ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น กลายเป็นชนิดพันธุ์ที่แพร่ระบาดและรุกราน

            เนื่องจากการรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นถูกระบุว่าเป็นการคุกคามที่ร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก เป็นอันดับสองรองจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ในบางประเทศถือว่าเป็นการคุกคามที่สำคัญที่สุด โดยจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศอย่างสิ้นเชิง เกิดการครอบครองพื้นที่โดยชนิดพันธุ์เดียว และเกิดการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งข้อมูลตรงนี้กำลังเกิดขึ้นกับกรณีทุ่งดอกบัวตอง

            บัวตอง เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกากลาง เม็กซิโก และคิวบา มีผู้นำมาปลูกและปัจจุบันปรับตัวได้ดีมากในเอเชียและแอฟริกา ปัจจุบันบัวตองเป็นพืชต่างถิ่นรุกรานรุนแรงในหลายประเทศ ทั้งจีน อินเดีย เมียนมา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หลายประเทศในแอฟริกา และรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกา และถูกจัดให้อยู่ในรายการชนิดพันธุ์รุกรานระดับโลกตั้งแต่ ปี พ.ศ.2551 (Global Invasive Species Database - GISD 2008)

            ผศ.ดร.ศศิวิมล บอกว่า ข้อมูลจากทั่วโลกชี้ชัดว่าบัวตองเป็นปัญหาร้ายแรง เพราะเป็นพืชต่างถิ่นที่คืบคลานเข้าไปในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ธรรมชาติ เมื่อปริมาณมากขึ้นอย่างรวดเร็วพืชอื่นก็อยู่ไม่ได้

            “ถ้าควบคุมได้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีมากเราจะควบคุมมันไม่ได้ ซึ่งก็คล้ายกับผักตบชวา ทั้งที่ดึงออกจากน้ำได้ง่ายดายมากแต่มันก็ระบาดอยู่เป็นร้อยปีแล้วทั้งที่มีกฎหมาย ขนาดนั่นง่ายกว่าเยอะ”          

            การแพร่พันธุ์รวดเร็วและมีเปอร์เซ็นต์รอดชีวิตมากยิ่งทวีความน่ากลัวหลายเท่าตัว อาจารย์ท่านนี้อธิบายว่าบัวตองเจริญเติบโตได้แม้ในที่ดินเลว ทนร้อน ทนแล้ง โตเร็ว กระจายพันธุ์โดยแตกรากจากข้อที่กิ่งต่ำๆ และเกิดยอดใหม่ โดยเฉพาะในฤดูฝน เมื่อเจริญเติบโตเป็นพุ่มใหญ่จะแตกกิ่งหนาแน่นมาก บังแสง ทำให้ต้นกล้าพืชท้องถิ่นเจริญไม่ได้ สร้างดอกและเมล็ดได้ตลอดปีถึงปีละ 80,000 ถึง 160,000 เมล็ดต่อตารางเมตร (อัตราการงอกประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์) จึงแพร่พันธุ์ได้ตลอดปี เมล็ดเล็กเบา (4-8 มม.) ปลิวตามลม น้ำ หรือติดไปกับตัวสัตว์ และพักตัวในดินได้นานถึง 4 เดือน

            ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บัวตองเจริญเติบโตแพร่พันธุ์ได้ดีมาก เป็นเพราะต้นบัวตองสร้างสารซึ่งเป็นพิษต่อพืชอื่น เรียกว่า สารอัลลีโลพาธี (allelopathy) เช่น ทาจิตินิน (tagitinin A และ tagitinin C) และ ฮิสปิดูลิน (hispidulin) ยับยั้งการเจริญของหน่อและราก และการดูดซึมแร่ธาตุของพืชหลายชนิด เช่น ยับยั้งการงอกของเมล็ดข้าว ข้าวโพด มะเขือเทศ หัวหอม แตงกวา บัวตองแพร่พันธุ์ทำลายทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และป่าหญ้าตามธรรมชาติในหลายประเทศ ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง คือ ชนิดของพืชและสัตว์อื่นๆ ในพื้นที่ลดจำนวนลง

            เมื่อสร้างสารพิษจึงน่ากังวลว่าหากลุกลามไปยังพื้นที่ป่าต้นน้ำแล้วจะเกิดหายนะตามมา ซึ่ง ผศ.ดร.ศศิวิมล บอกว่าสถานการณ์มันเลยจุดนั้นไปแล้ว...

            “พื้นที่ 500 ไร่ ที่ตอนนี้เป็นทุ่งดอกบัวตองไม่ใช่น้อยๆ นะคะ แปลว่ามันจะไม่คืบคลานปีละ 3-4 ไร่ แต่จะเพิ่มเป็นทวีคูณ จาก 500 ไร่อาจจะเป็น 800 ไร่ และอาจเป็น 1,600 ไร่ หรือมากกว่านั้นอีกซึ่งมันเป็นไปได้แน่นอน อย่างที่ข้อมูลการขยายพันธุ์บอกไว้”

 

  • บัวตอง...ครองใจ

            อีกด้านหนึ่งบัวตองไม่ใช่พืชที่สวยแต่รูปจูบไม่หอมเพียงอย่างเดียว เพราะมีคุณประโยชน์มากมายหากนำมาสกัดใช้ถูกวิธี เช่น สารสกัดจากใบบัวตองใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้ จากผลการทดลองกับยุงลาย มด และปลวก และมีรายงานว่าต้น กิ่ง ใบบัวตองเป็นปุ๋ยให้ไนโตรเจนมากนอกจากนั้นยังพบว่าสารสกัดทาจิตินินจากบัวตองช่วยยับยั้งเนื้องอก และมะเร็งได้ในหลอดทดลอง มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ต้านมาลาเรีย มีฤทธิ์ควบคุมน้ำตาลในเลือด อย่างไรก็ตาม ละอองจากต้นบัวตอง อาจทำให้ผิวหนังอักเสบได้

            หลังจากประเด็นถูกแชร์ ถูกพูดถึง มีทั้งคนเห็นด้วยถึงความร้ายกาจของบัวตอง และมีหลายคนที่ออกตัวปกป้องพืชชนิดนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น และยังไม่เห็นผลกระทบรุนแรง ทำให้ในโซเชียลมีเดียเกิดสารพัดความคิดเห็นมะรุมมะตุ้มทีเดียว

            ด้าน ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ มองว่าแม้บัวตองจะเป็นเอเลี่ยนสปีชี่ส์จริง แต่น่าจะส่งผลกระทบน้อยกว่าชนิดอื่นๆ เช่น หญ้าคา สาบเสือ ซึ่งความห่วงใยจากนักวิชาการก็นับเป็นเรื่องดี แต่อยากให้ศึกษาอีกหน่อยว่าพืชต่างถิ่นบางชนิดไม่ได้รุกรานรุนแรงในบางประเทศ ตรงไปตรงมาเลย คือบัวตองนี่เอง

            “บัวตองเป็นพืชต่างถิ่นที่รุกราน แต่รุกรานน้อย พื้นที่ระบาดจริงๆ คือ แม่ฮ่องสอน และอาจมีที่เชียงใหม่ เชียงรายบ้าง ในจังหวัดอื่นทางภาคเหนือก็มีบ้างแต่ไม่เยอะเป็นภูเขาอย่างที่ขุนยวม วันนี้เราก็อยากจะควบคุมให้อยู่แค่บริเวณขุนยวม ไม่อยากให้ระบาดไปที่อื่น แต่ถามว่าวันนี้เรากำจัดไปหมดได้ไหม ถ้ากำจัดหมดได้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ผมมองว่ายังมีพืชต่างถิ่นรุกรานที่อยู่ในประเทศไทยอีกหลายชนิดตามมติ ครม.”

            ด้วยความที่บัวตองเติบโตได้ดีในที่มีแสงแดดจัดคล้ายทานตะวัน ผอ.สำนักอุทยาน จึงบอกว่าถ้าเป็นพื้นที่ป่าทึบไม่ต้องกังวลว่าบัวตองจะเจริญเติบโตหรือรุกราน เพราะปริมาณแสงที่ไม่เพียงพอ หากวันใดวันหนึ่งต้องการเปลี่ยนพื้นที่ทุ่งบัวตองเป็นพื้นที่ป่า ก็ขุดรากถอนโคน สางเขา แล้วปลูกต้นไม้ ช่วงแรกอาจมีบัวตองขึ้นอยู่บ้าง แต่หลังจากที่ต้นไม้คลุมพื้นที่แล้ว บัวตองจะหมดไป

            “เมื่อก่อนมีบัวตองมากกว่านี้ หลังจากเราฟื้นฟูต้นน้ำลำธาร ที่เห็นทิวสนสวยงามทั้งหลาย สนที่เราเข้าไปปลูกทดแทนพื้นที่ปลูกฝิ่นสมัยก่อน หลังจากปิดไป ทุ่งโล่งที่แสงแดดส่องก็มีบัวตองแพร่พันธุ์ พอเราปลูกต้นไม้บัวตองก็หมดไป”

            ความยอดนิยมของบัวตองทำให้มีคนนำไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว หากเป็นมุมของนักวิชาการจึงห่วงใยว่าหลายพื้นที่นั้นเสี่ยงต่อการถูกรุกรานทำลาย ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้กำหนดเทศกาลทุ่งดอกบัวตองดอยแม่อูคอ เป็นหนึ่งในสิบสองเดือน ตามโครงการมหัศจรรย์เมืองไทย 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน ชูจุดเด่นคือ ‘ขุนเขาแห่งทะเลดอกไม้สีทอง’ ในฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พื้นที่บริเวณนั้น ได้จัดตั้งเป็น ‘วนอุทยานทุ่งบัวตอง ดอยแม่อูคอ’ ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์

            “คงเพราะหน้าตามันสวยมั้งคะ ถ้าลองเปลี่ยนมันเป็นปลาซัคเกอร์ แล้วอยู่เต็มแม่น้ำบ้านเรา เราจะยังชอบมันอยู่ไหม คือด้วยความที่หน้าตามันสวยแต่ไม่ใช่แปลว่ามันไม่อันตรายนะคะ ถ้ามันอยู่แค่ในตู้ปลาเหมือนปลาซัคเกอร์ก็ไม่เป็นอะไร” อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ ม.มหิดล กล่าว

 

  • จำกัด l กำจัด

            แม้ความคิดเห็นจะแตกเป็นสองทาง ทว่าข้อมูลและผลวิจัยก็ประจักษ์ชัดว่าบัวตองคือเอเลี่ยนสปีชี่ส์ ไม่ว่าจะรุกรานรุนแรงหรือไม่ก็ควรถูกควบคุม แต่การกำจัดให้สิ้นซากคงต้องฟาดฟันกับชาวบ้านและกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์ วิธีอื่นๆ จึงน่าจะเหมาะสมกว่า

            ในกลุ่มเฟซบุ๊ค ‘คนรักแม่ฮ่องสอน’ มีข้อมูลบางส่วนระบุว่า มานพ สายอุ่นใจ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน ได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2560 ว่ามีโอกาสไปเยี่ยมทุ่งดอกบัวตอง บ้านแม่อูคอ ตามคำร่ำลือ และสังเกตพบว่าทุ่งบัวตองบางแห่งมีดอกบัวตองออกดอกแบบเป็นหย่อมๆ ไม่สวยงาม จึงสงสัยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แล้วก็พบว่าบริเวณที่ดอกบัวตองไม่ออกดอกนั้นมันไม่มีต้นดอกบัวตองขึ้นอยู่ แล้วอะไรทำให้ต้นดอกบัวตองไม่งอกขึ้นมาเจริญเติบโตออกดอกโดยพร้อมเพรียงกันล่ะ จึงเข้าไปดูใกล้ๆ และพบว่ามีต้นเฟิร์นสีเขียวขึ้นเต็มไปหมด จากการสังเกตพบว่าเฟิร์นพวกนี้ขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อที่อยู่ใต้ดินฉะนั้นไฟไหม้มันก็ไม่ตาย จึงเป็นพืชที่ขยายพื้นที่ได้รวดเร็วกว่าดอกบัวตอง หากปล่อยทิ้งไว้แบบนี้อนาคตทุ่งบัวตองอาจหายไปกลายเป็นทุ่งเฟิร์น...”

            เฟิร์นดังกล่าวคือ กูดเกี๊ย เป็นเฟิร์นท้องถิ่น และเป็นพืชเบิกนำ คือ หลังจากป่าเสื่อมโทรมหรือถูกทำลายจะมีพืชบางกลุ่มที่ขึ้นมาเป็นกลุ่มแรกๆ เรียกว่า ‘พืชเบิกนำ’ มักจะขึ้นในที่แล้งและที่โล่งมีแดดจัด แม้ว่าตามรายงานจะระบุว่ากูดเกี๊ยเป็นพืชที่อาจจะรุกรานได้บางที่ แต่เฉพาะในบางประเทศ ซึ่งไม่เป็นปัญหาสำหรับประเทศไทย เพราะถ้าสภาพแวดล้อมเปลี่ยน ดินสะสมสารอินทรีย์มากขึ้น กูดเกี๊ยก็จะหายไปเอง นี่จึงเป็นวิธีทางธรรมชาติที่ธรรมชาติอาจช่วยจำกัดขอบเขตการแพร่ขยายของบัวตอง นอกเหนือจากวิธีทั่วไป เช่น การใช้ยาฆ่าวัชพืชซึ่งจะส่งผลเสียต่อดินและแหล่งน้ำได้

            อีกวิธีที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ แต่อาจจะยากที่สุด คือ เปลี่ยนทัศนคติคน

            “ตัวมันเองก็ร้ายอยู่แล้ว แต่คนเอามันไปปลูกอีก ที่มันมาได้ขนาดนี้ก็เพราะคนเอามาปลูกเป็นไม้ประดับก็เยอะ ปลูกตามดอย ตามอุทยาน มันก็จะรุกรานพืชข้างๆ ถ้ามันน้อยๆ ก็ขุดออกได้ แต่พอมันเยอะใครจะควบคุมมันได้ แล้วป่าไม้ ทุ่งหญ้าป้องกันตัวเองไม่ได้ สู้ไม่ได้ แค่ให้ทุกคนช่วยกันถ้าไม่เชื่อกันก็คงไม่ทำอยู่แล้วละค่ะ

            ที่น่ากลัวคือคนในท้องถิ่นบอกว่าควบคุมมันได้ แต่ข้อมูลทั่วโลกบ่งบอกแล้วว่ามันควบคุมไม่ได้ ระดับนโยบายก็ควรลงมาทำอะไรได้แล้ว” ผศ.ดร.ศศิวิมล บอก

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุ่งดอกบัวตองสวยงามจริงๆ และดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากจริงๆ ซึ่งรายได้ก็กระจายสู่พื้นที่อย่างมากในทุกปี แต่เหนือกว่าเงินทองและความสุขที่ได้เห็นดอกไม้งามอร่ามดอย อาจต้องเพิ่มคำว่าระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพตัวหนาๆ สักหน่อย อาจพบ ‘ตรงกลาง’ ที่ไม่ว่าใครก็ไม่ต้องเสียใจภายหลัง

*ภาพประกอบโดย วันสรร จารุธนศักดิ์กูร