กลยุทธ์แพลตฟอร์มหางาน ‘ประจำ-เอาท์ซอส’

กลยุทธ์แพลตฟอร์มหางาน ‘ประจำ-เอาท์ซอส’

การขยายตัวของงานในรูปแบบ Outsource จะเติบโตได้อีกมากในอนาคต

ในวิกฤติหากมองในมุมบวกก็สร้าง “โอกาส” ได้ ชนินทร์ กุลกาญจนาธร กรรมการบริษัท เออีซี เอนลิสท์ จำกัด เป็นอีกคนที่นำปัญหาที่พบเจอจากการทำงานมาพัฒนาเป็นโซลูชั่นเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาที่หลายๆ ธุรกิจต้องเผชิญทั้งการขาดคนทำงาน เทิร์นโอเวอร์สูง และการทิ้งงานจากทั้งผู้ว่าจ้างและคนทำงาน

“ก่อนหน้านี้ ผมทำงานด้าน logistic & supply chain ปรับปรุงกระบวนการในโรงงาน ผู้ประกอบการก็เชื่อมั่น และบอกให้หาคนให้หน่อย แรกๆ เราก็ใช้คอนเน็คชั่นส่วนตัวแนะนำคนให้ หลังๆ เป็นการหาคนในตำแหน่งงานที่หลากหลายขึ้น ทำให้มองเห็นโอกาสตรงนี้ว่าสามารถทำได้โดยใช้เทคโนโลยี”

ในปี 2557 ชนิทร์ เริ่มพัฒนาเว็บไซต์ที่ชื่อ AECJobListing (www.aecjoblisting.com) โดยหวังให้เป็นแหล่งรวมคนทำงานคุณภาพเอาไว้ในที่เดียว

หนึ่งในฟีเจอร์หลักก็คือคนที่ต้องการหางานสามารถฝากเรซูเม่และค้นหาได้ทั้งงานประจำ งานพาร์ไทม์ การฝึกงาน และงานโปรเจค จากการประกาศรับสมัครงานจากต่างประเทศ

“เราทำ AEC Job listing ให้เป็นการรวมงานไทยและต่างประเทศ หลัก ๆ 10 ประเทศในเออีซีก่อน เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนไทยที่อยากทำงานต่างประเทศและเป็นบันไดอีกก้าวของการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์การทำงาน”

ภายหลังเปิดให้บริการมาระยะหนึ่งทำให้เห็นว่ายังมีบางปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ระหว่าง “งานประจำ” กับ “งานไม่ประจำ”

เป็นที่มาของการพัฒนาเว็บไซต์ www.tasknjoy.com ขึ้นในปี 2559

ชนินทร์ บอก AEC Job listing เป็นช่องทางการหางานประจำทั้งในไทยและต่างประเทศ ส่วน tasknjoyจะเป็นเหมือนห้องทำงานออนไลน์สำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจรับงานโปรเจค หรือ ฟรีแลนซ์

ทั้ง 2 เว็บไซต์ แตกต่างทั้ง Position และ กลุ่มเป้าหมาย

AEC Job listing เป็นช่องทางหางานในต่างประเทศ โดยวันนี้ 2 ปีของการเปิดให้บริการมีผู้ประกอบการเข้ามาโพสต์ตำแหน่งงานแล้ว 6 พันราย

“จากการให้บริการมาจะพบว่า หนึ่งในปัญหาที่พบของผู้หางานก็คือ การเขียนเรซูเม่เป็นภาษาอังกฤษ เช่น จากประสบการณ์ที่เคยเจอ มีนักศึกษาบางคณะที่ส่งเรซูเม่มาเหมือนกันหมด เปลี่ยนแค่ชื่อและนามสกุล ทำให้คิดพัฒนางานขึ้นมารองรับในชื่อ ProResumeAsia”

ProResumeAsia เป็นเว็บไซต์สอนเขียนเรซู่เม่เป็นภาษาอังกฤษ แบบฟอร์มตามมาตราฐานสากล เพื่อให้การนำเสนองานในแต่ละครั้งมีความโดดเด่นและเป็นมืออาชีพในสาย ตาผู้ว่าจ้าง

ขณะที่ tasknjoy เป็นต่อยอดไปสู่งานระดับโปรเจ็ค

สิ่งที่ ชนินทร์ มองเห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวของงานในรูปแบบของการ Outsource ที่มีให้เห็นมากขึ้นในวันนี้และคาดว่าจะเติบโตได้อีกมากในอนาคต

“ธุรกิจไม่สามารถมีทุกส่วนงานไว้ในองค์กรได้ แน่นอนว่าหัวใจของธุรกิจคืออะไร ส่วนที่เหนือก็ Outsource ให้กับคนที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านไปทำ”

แต่จากประสบการณ์ที่เจอมากับตัวเองและการศึกษารูปแบบงานลักษณะการ Outsource โดยรวมทำให้เห็นถึง “ปัญหา” ที่ต้องเข้าไปปลดล็อค

ปัญหาการ “เบี้ยวงาน” และ “ส่งมอบงานช้า” “ทำงานผิดจากข้อตกลง” เป็นประเด็นที่เกิดอยู่บ่อยครั้ง เรียกว่า ทางออกคือ ทำอย่างไรให้งานจบและจ่ายครบ

“ผมเองก็เจอมาก่อน จ้างงานส่งงานแค่ส่วนหนึ่งแล้วก็ทิ้งงานหายไป สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้ ขณะที่ในฝั่งของผู้รับงานมาทำก็มีปัญหาเกี่ยวกับการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นไปตามข้อตกลง นี่เองที่ทำให้คิดระบบเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทั้งสองฝ่าย”

แรกๆ ได้นำเสนอแนวคิดและเว็บต้นแบบไปประกวดกับสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลปรากฎว่าได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1ทำให้ได้เงินทุนมาพัฒนาระบบ

หลักใหญ่อยู่ที่การเจรจางาน รูปแบบของงาน สัญญาที่ได้มาตรฐาน ระบบการติดตามงาน และระบบการจ่ายเงิน ทั้งหมดก็เพื่อสร้างความมั่นใจกับทุกฝ่ายที่อยู่บนระบบงานนี้

ผู้ว่าจ้าง จะได้งานตรงตามที่ต้องการ, ผู้รับจ้าง ได้รับค่าตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้ และในส่วนของ tasknjoy เองก็สร้างมาตรฐานและการยอมรับให้เกิดขึ้น

การทำงานของ tasknjoy จะให้ผู้หางานสร้าง Profile ความสามารถ และความเชี่ยวชาญงานเพื่อให้ผู้ว่าจ้างพิจารณา

ส่วนการเจรจา จากเดิมที่การเจรจากันระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างทำงานมักจะเกิดขึ้นบนออฟไลน์ สำหรับ tasknjoy จะเปลี่ยนให้มาอยู่บนออนไลน์ โดยระบบจะทำการบันทึกหลักฐานไว้ทุกอย่าเป็นการเพิ่มความไว้วางใจในการทำงานและสร้างความมั่นใจให้กับทั้งสองฝ่ายว่าทุกอย่างจะเป็นข้อตกลงร่วมกัน

อีกส่วนที่สำคัญอย่างมากสำหรับงาน Outsource ก็คือ ระบบติดตามงาน

“ถ้าทะเลาะกันระหว่างงาน เราจะมีระบบติดตามในแต่ละสัปดาห์ว่าเป็นอย่างไร อีกทั้งให้ทางผู้ว่าจ้าง วางเงินมัดจำ 30% ต่อมูลค่าโปรโจค เอาไว้ในระบบเพื่อสร้างความมั่นใจว่าทำงานแล้วจะได้เงิน โดยระบบการจ่ายจะดำเนินการผ่านเพย์สบาย (Paysbuy)

ผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินผ่านเว็บไซต์ไปฝากไว้ที่เพย์สบาย เมื่องานแล้วเสร็จ เงินดังกล่าวจะจากโอนไปยังบัญชีธนาคารของผู้รับจ้างที่ผูกไว้กับเรา”

ถึงวันนี้ tasknjoy เป็นอีกช่องทางหางานสำหรับกลุ่มนักออกแบบ โดยในปี 2559 ได้ทำความร่วมมือกับ TCDC เพื่อให้บริการบริการระบบงาน tasknjoy ให้แก่สมาชิก

"เรามีคอมมูนิตี้นักออกแบบจาก TCDC มีคนเก่งๆ ด้านออกแบบเยอะ แต่ส่วนใหญ่นักออกแบบที่รับงาน Outsource มักจะเจอปัญหา รับงานแล้วโดนเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้เงิน โดนแก้งานบ่อยครั้ง จนทะเลาะกัน เราก็เป็นพาร์ทเนอร์เพื่อใช้บริการนี้เป็นตัวกลางระหว่างนายจ้างและผู้รับจ้าง

สำหรับหมวดงานหลัก ๆที่คนใช้งานบ่อยคืองานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ ออกแบบ มัลติมีเดีย ทำเว็บไซต์ โปรแกรมโค้ดดิ้งก็เริ่มเข้ามา รวมถึงแปลภาษา ช่างภาพ พนักงาน MC เป็นต้น"

แผนงานต่อจากนี้สำหรับทั้ง AECJobListing และ tasknjoy ก็คือการขยับเข้าสู่มาตรฐานที่สูงขึ้น

ฟีเจอร์ต่างๆ แทนที่จะเป็นเบสิค ก็แอ็คทีฟมากขึ้น ชนินทร์ กล่าว แม้ทั้งสองเว็บไซต์จะแตกต่างกันในกลุ่มเป้าหมาย แต่ในส่วนระบบงานหลังบ้านเป็นส่วนเดียวกัน จากนี้จะทำอย่างไรให้ระบบที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันฉลาดมากขึ้น 

"ลองคิดว่า การเดินทางจากจุดหนึ่งไปถึงจุดหนึ่งระหว่างทางนั้นมีตำแหน่งงานอะไรบ้าง ซึ่งจะทำถึงขั้นนั้นได้ ต้องเริ่มที่ บิ๊กดาต้าก่อน ต้องรวมดีมานด์ ซัพพลาย จากนั้นเริ่มใส่ machine learning เข้าไป แล้วดูผลว่าเป็นอย่างไร

2 ปีที่ผ่านมา เวลาคนออก กว่าจะหาคนทำงานใหม่ ต้องใช้เวลาถึง 30 วันสำหรับบางตำแหน่งงาน แต่วันนี้เวลาลดลง เรามีเป้าหมาย ทำอย่างไรให้การจัดหาคนมา fulfill ในระบบงานมากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมดีมานด์ ซัพพลาย เพื่อวิเคราะห์ เพื่อทำให้มีโอกาสงานมากขึ้น"

ล่าสุดร่วมกับมหาวิทยาลัยทำโปรเจ็ค เทสต์ ร่วมกัน โดยเราจะเขียน API ในฝั่งของซัพพลายเด็กจบใหม่ อีกด้านก็ร่วมกับแหล่งงานต่างๆ เพื่อที่อยากจะเห็นว่า ทำอย่างไรให้นายจ้างหาคนได้ภายใน 7-15 วัน 

ถ้าการันตีได้ขนาดนี้ ทุกคนก็แฮปปี้" ชนินทร์ กล่าว