‘เจ็บ’ เพราะไว้ใจ

‘เจ็บ’ เพราะไว้ใจ

ถึงเวลาปรับทัศนคติที่ซ้ำเติมเหยื่อ เพื่อยุติความรุนแรงซ้ำซากในเด็กและสตรี

ข่าวความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดจากคนในครอบครัว ญาติสนิท หรือคนใกล้ชิด ดูเหมือนจะมีอัตราความถี่สูงขึ้นอย่างมากในช่วงหลัง ไม่ว่าจะ(เชื่อว่า)เป็นเพราะระดับศีลธรรมในสังคมที่ต่ำลง หรือการกระจายข่าวที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นของโซเชียลมีเดีย ในแวดวงคนทำงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ต่างรู้ดีว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่!

สถิติในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2558 พบว่า มีผู้หญิงและเด็กถูกกระทำความรุนแรงมากกว่า 30,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีประมาณ 28,000 ราย และจากสถิติในปี 2558 พบว่าเป็นเด็ก 19,000 ราย และเป็นผู้หญิง 12,000 ราย นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ในกลุ่มเด็กร้อยละ 90 เป็นเด็กหญิงที่มีอายุระหว่าง 10-15 ปี โดยการกระทำรุนแรงที่มีสถิติสูงสุด ได้แก่ การกักขัง บังคับ และทุบตี รองลงมาเป็นคดีทางเพศ ได้แก่ การข่มขืน กระทำชำเรา ล่วงละเมิดทางเพศ

แล้วใครล่ะเป็นผู้ก่อความรุนแรงนี้? ในรายงานเรื่อง Perpetrators of Sexual Violence: Statistics ของ Rape, Abuse & Incest National Network หรือ RAINN ซึ่งเป็นองค์กรต่อต้านการใช้ความรุนแรงทางเพศของสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า ร้อยละ 70 ของการใช้ความรุนแรงทางเพศกระทำโดยบุคคลที่เหยื่อรู้จัก

นั่นทำให้อนุมานได้ว่า ทำไมเหยื่อหลายคนจึง ’ต้อง’ หรือ ‘ยอม’ ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า และการช่วยเหลือเยียวยาก็เป็นเรื่องยาก ไม่น้อยไปกว่าการรณรงค์ยุติความรุนแรงที่ได้ผล

มายาคติ 1 : ระวังคนแปลกหน้า

เด็กๆ มักถูกสอนให้ระวังตัวจากคนแปลกหน้าเสมอ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ผู้ชายแปลกหน้าคือภยันตรายลำดับต้นๆ แต่น่าเสียดายที่พวกเขาไม่ได้ถูกเตือนให้ระแวดระวังคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น พ่อ พี่ชาย ลุง ครู หรือแม้แต่...พระ

ความไว้ใจทั้งจากคนในครอบครัวและตัวเด็กเองคือ ‘โอกาส’ ของผู้กระทำ มณี ขุนภักดี เอ็นจีโอที่ทำงานในองค์กรยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงมาเกือบ 17 ปี เล่าถึงชะตากรรมของเด็กในครอบครัวหนึ่ง ระหว่างการเสวนาในหัวข้อ “คนใกล้ชิด ไม่ใช่ใบอนุญาตให้ใช้ความรุนแรง” ที่จัดโดยกลุ่มสตรี@ธรรมศาสตร์ และกลุ่มโรงน้ำชา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล เมื่อ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า

“ครอบครัวของเด็กศรัทธาพระรูปหนึ่งมาก เมื่อพระมาบอกว่าชาติที่แล้วเคยเป็นพ่อลูกกับเด็กๆ ของบ้านนี้ อยากให้ส่งลูกมาอยู่ที่วัดจะเลี้ยงดูส่งเสียให้เรียนหนังสือสูงๆ พ่อแม่ก็เลยส่งลูกชายไปอยู่ที่วัด ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ เด็กผู้ชายคนนั้นถูกพระล่วงละเมิด แค่นั้นยังไม่พอ ปีหนึ่งผ่านไป พระก็ออกอุบายอีกว่าลูกสาวกำลังมีเคราะห์ต้องไปทำพิธี พ่อแม่ด้วยความไว้วางใจ ก็ให้ลูกสาวไปทำพิธีในกุฏิ ซึ่งก่อนหน้านั้นพระก็ออกอุบายให้พ่อแม่ซื้อยานอนหลับให้ บอกว่านอนไม่หลับ แต่แล้วยานอนหลับนั้น มันคือยาที่ลูกสาวได้กินแล้วสุดท้ายก็ถูกพระล่วงละเมิด”

มณี บอกว่าที่ยกตัวอย่างนี้ขึ้นมาก็เพราะอยากให้เห็นว่า คนใกล้ชิดอาจไม่ใช่แค่คนในครอบครัว แต่หมายถึงคนที่ใกล้ชิดในทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังได้รับการกล่าวถึงน้อย ทั้งที่มีกรณีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

“นิยามของคนใกล้ชิด มีทั้งที่เป็นสายเลือดเดียวกัน บุคคลในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้อง หรือว่าญาติห่างๆ กับคนใกล้ชิดอีกแบบหนึ่งที่อยากให้พูดถึง ก็คือคนใกล้ชิดที่อยู่ในสถานภาพความสัมพันธ์ทางสังคม เช่นในสถานศึกษา ความใกล้ชิดแบบครูอาจารย์กับลูกศิษย์ หรือในสถานที่ทำงาน ความใกล้ชิดแบบนายจ้างกับลูกจ้าง เราก็จะได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ โดยนายจ้าง โดยหัวหน้างาน เจ้านาย-ลูกน้อง หรือแม้กระทั่งรุ่นพี่-รุ่นน้อง อยากให้มองความรุนแรงตรงนี้ด้วย”

มายาคติ 2 : โพรไฟล์ดีไม่มีรุนแรง

“เรามีภาพของผู้กระทำความรุนแรงอย่างไรกันบ้าง ต้องเป็นคนไกลตัวหรือเปล่า หรือดูเป็นคนร้าย เป็นคนขี้เมาขี้เหล้า กลับบ้านมาขอตังค์ ไม่ให้เหรอ...ตบแม่งเลย ภาพมันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าในภาพจำเดิมๆ” โชติรส นาคสุทธิ์ คอลัมนิสต์หญิงที่เคยถูกกระทำความรุนแรงจากคนรัก ตั้งคำถาม ก่อนจะแชร์ประสบการณ์ของตนเอง

“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องเกิดกับคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี การศึกษาที่ไม่สูง หรือว่าออกจากความสัมพันธ์นั้นไม่ได้เพราะต้องพึ่งสามี หรือว่าสามีต้องดูขี้เหล้าเมายา...

สำหรับเราตอนนั้นย้อนกลับไป 3 ปีก่อน เราเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ตามประสาวัยรุ่นอายุ 20 ต้นๆ ก็มีความรัก ช่วงนั้นเล่นเฟซบุ๊คแล้วไปเจอบทความนึงเรื่องเขาพระวิหาร มีคนแชร์มาซึ่งคนเขียนดูมีความรู้เยอะมาก เราแอดเฟรนด์ไป หลังจากนั้นก็ตกหลุมรักซึ่งกันและกัน...

หลังจากคบกันได้ 7- 8 เดือนเราทะเลาะกันทางโทรศัพท์ด้วยเรื่องเล็กน้อยมากๆ ปรากฏว่าเขากลับมาที่ห้องแล้วก็กระชากเราลงไปที่เตียง กดเราลงไป เอาหัวเราทุบกับเตียงซ้ำๆ เราก็ตะโกนพูดอะไรที่แน่นอนว่าเขาไม่ชอบ เขาบอกให้เราหยุด เราไม่หยุด เขาก็เลยเอามือบีบปากเราเพื่อไม่ให้เราพูดได้ แต่เราก็ยังพยายามตะโกนอยู่ พอเราไม่หยุด เขาเลยเอามือบีบคอเรา แล้วก็บีบหนักขึ้นเรื่อยๆ จนเราต้องบอกว่า หยุดเถอะเราไม่ไหวแล้ว เขาก็บอกว่า จะตายก็เรื่องของมึง ในที่สุดเราร้องตะโกนเรียกญาติเขาที่อยู่ข้างห้องให้เข้ามาช่วย”

แม้จะรอดจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมาได้ แต่เธอก็ยังคบกับเขาต่อและเจอกับเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันอีกหลายครั้งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่คบกัน และเมื่อเธอตัดสินใจเล่าให้เพื่อนฟัง คำตอบที่ได้ก็คือ “ผู้ชายคนนี้เป็นคนดีมากนะ แกต้องไปทำอะไรให้เขาโมโหมากใช่มั้ย เขาถึงทำแบบนี้”

“สุดท้ายเราตัดสินใจเดินออกมา ไม่ใช่เพราะเราโดนกระทำอะไรเพิ่ม หรือรุนแรงกว่าทุกครั้ง แต่แค่คิดว่าเราก็รักเขา เขาก็รักเรา แต่ถ้าเกิดรักแล้วเขาทำร้ายเราอย่างนี้ เราก็ควรรักตัวเองมากกว่านี้ ก็เลยเลิกกัน

แต่เราคิดว่าอยากพูดเรื่องนี้ เราควรออกมาพูดเรื่องนี้ พอผ่านมาได้สัก 3-4 เดือนหลังจากเลิกกัน คิดว่าเราไม่ได้โกรธอีกแล้ว ก็ตัดสินใจออกมาพูดผ่านเพจมนุษย์กรุงเทพ มีคนมาไลค์เป็นแสน แต่ตอนนั้นก็คิดอยู่แล้วว่าผลออกมาต้องโดนด่า อาจจะโดนด่าจากคนที่เห็นว่าเขาเป็นคนน่ารัก เป็นคนที่ดี แล้วก็น่าจะโดนด่าในแง่ที่ว่าทำไมทน ทำไมโง่ ทำไมขี้ขลาด ทำไมไม่ออกมา แล้วก็โดนจริงๆ ตามนั้นเลย”

เธอว่า การที่คนย้อนถามว่า “ทำไมทน” มันไม่ใช่คำถามแต่มันเป็นการ‘ตีตรา’ไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ถ้าขอได้อยากขอให้สังคมอย่าตีตราผู้หญิงที่ถูกกระทำ เพราะว่าปัญหานี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน อยากให้ผู้หญิงออกมาบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง เพื่อให้สังคมตระหนักว่ามันยังมีปัญหาอย่างนี้อยู่ และไม่ได้เกิดกับคนที่สถานภาพทางเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีการศึกษา หรือขี้เหล้าเมายาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกิดได้กับทุกคนทุกสถานภาพ

มายาคติ 3 : ลิ้นกับฟัน อย่าให้บานปลาย

หลังจากโดนกระทำย่ำยีทั้งทางร่างกายและจิตใจแล้ว หากเหยื่อลุกขึ้นประกาศว่า “ฉันจะไม่ทน” การพึ่งกระบวนการทางกฎหมายที่ควรจะเป็นทางออก กลับไม่ใช่ทางเลือกที่ราบรื่น เพราะนอกจากจะต้องเผชิญกับอคติทำนองว่า...ก็คุณไปกับเขาเอง มีใจให้เขาหรือเปล่า พอเขาไม่รักคุณแล้วก็มาแบล็คเมล์ ฯลฯ หากเป็นคู่สามีภรรยา ความไม่ปกติที่เกิดขึ้นเป็นปกติก็คือ ตำรวจมักไม่รับแจ้งความ เนื่องจากเป็นเรื่องภายในครอบครัว

“ตลอด 3 ปี เราบอกเจ้าหน้าที่รัฐไป 2 ครั้ง ครั้งแรกคือให้ไปสงบสติอารมณ์ที่โรงพัก แล้วเราขอลงบันทึกประจำวัน เขาก็บอกว่าให้กลับบ้านพร้อมกัน อีกครั้งหนึ่งไปต่างจังหวัดด้วยกัน แล้วทะเลาะกันเสียงดังมาก จนคนที่อยู่ข้างห้องเขาแจ้งตำรวจ ตำรวจก็ทำเหมือนเดิมคือเกลี้ยกล่อม มีอะไรค่อยๆ คุยกัน แล้วหลังจากที่ต่างคนต่างเงียบ ตำรวจก็กลับไป” โชติรส บอก ซึ่งตรงกับประสบการณ์ของมณีที่เคยคนทำงานช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว

“เราพบบ่อยว่าตำรวจไม่รับแจ้ง เพราะเป็นเรื่องของผัวเมีย ลิ้นกับฟันให้ไปคุยกัน ไกล่เกลี่ยกัน หรือถ้าเป็นเรื่องของความรุนแรงทางเพศ การข่มขืน การคุกคามทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ ตำรวจมักให้ยอมความ ให้ไกล่เกลี่ยกันก่อน ยังไม่ต้องดำเนินคดี ซึ่งอันนี้ก็เป็นปัญหาในชั้นของกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น”

เท่านั้นยังไม่พอ ต่อให้มีการรับเรื่องไว้ สิ่งที่หลายคนยังไม่รู้ ก็คือข้อแตกต่างระหว่าง ‘บันทึกประจำวัน’ กับ ‘บันทึกลงเลขคดี’ 

“ความรู้แบบนี้เราก็ไม่มี บางครั้งเวลาที่เราไปหาตำรวจ มันจะเป็นแค่บันทึกประจำวันเท่านั้น ยังไม่มีการลงเลขคดี ซึ่งเราไม่สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้ได้ อันนี้มันเป็นสถานการณ์ปัญหาที่มันโยงมากับรูปธรรมของความรุนแรง”

ถึงวันนี้แม้ว่ากรณีความรุนแรงในครอบครัวจะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ซึ่งผู้หญิงสามารถไปร้องทุกข์เพื่อให้เกิดการคุ้มครองทั้งแบบฉุกเฉินและชั่วคราว แต่ปัญหาคือเมื่อผู้หญิงไปร้องทุกข์ การคุ้มครองนั้นจะอยู่ในดุลยพินิจของศาล ซึ่งหลายครั้งพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะใช้กลไกดังกล่าว เพราะในทางปฏิบัติสิ่งที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดคือ ‘ทัศนคติ’

"มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ผู้หญิงคนนึงที่ถูกข่มขืน หรือผู้หญิงคนนึงที่ถูกสามีทุบตีมาเป็นระยะเวลานาน จะออกมาพูดได้ เพราะเวลาที่เขาออกมาพูด คนที่ฟังมักไม่เข้าใจในเสียงที่เขาพยายามบอกว่าเขาต้องการอะไร เขาต้องการไกล่เกลี่ยหรือดำเนินคดี แต่คนที่ฟังมีคำตอบอยู่แล้วว่าเรื่องราวเหล่านั้นมันต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร”

มายาคติ 4 : อาบน้ำชำระรอยบาป

วิธีคิดและทัศนคติของผู้เกี่ยวข้องว่าหนักหนาสาหัสแล้ว เงื่อนปมอีกอย่างที่ทำให้การดำเนินคดีในลักษณะนี้เป็นเรื่องยาก ถูกผูกไว้บน ‘ความไม่รู้’

“เมื่อไม่นานมานี้มูลนิธิฯ ได้ทำรายงานการศึกษาขึ้นมาชิ้นหนึ่ง เรื่องเสียงสะท้อนจากผู้เสียหายต่อกลไกกระบวนการยุติธรรมต้นทาง เป็นผู้เสียหายในกรณีความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว อาทิ ผู้เสียหายจากคดีรุมโทรม คดีข่มขืน คดีผู้ล่อลวงค้าประเวณี คดีถูกสามีทำร้าย คดีพยายามฆ่า ซึ่งผู้ที่มาร่วมส่งเสียงสะท้อนบอกว่าเขาเจอสถานการณ์ที่ให้ความสำคัญกับหลักฐานมากเลย ตำรวจจะถามว่ามีพยานในที่เกิดเหตุมั้ย การข่มขืนเกิดขึ้นระหว่างคนสองคน จะหาพยานบุคคลได้มั้ยคะ มีหลักฐานอะไรอีกนอกจากทิชชู่ที่เช็ดอสุจิไว้ ซึ่งอันนี้มันทำให้ผู้เสียหายต้องไปหาหลักฐานเอง”

นอกจากความยากลำบากที่ต้องไปหาหลักฐานมายืนยันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ มณีพบว่ามายาคติและความไม่รู้ทำให้ผู้เสียหายกลายเป็นผู้ทำลายหลักฐานเสียเอง และตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการสู้คดี

หลายคนอาจไม่เคยรู้เลยว่า หลังจากที่เราถูกล่วงละเมิดทางเพศแล้วระหว่างไปแจ้งความกับไปอาบน้ำ ควรทำอะไรก่อน บางคนอาบน้ำก่อน เพราะมันมีภาพจำว่า ร่างกายเรามันสกปรก ใครไม่รู้มาทำอะไรกับเรา ต้องชำระล้างให้หมด นั่นแหละค่ะคือความรู้ที่มันหายไป ผู้หญิงไม่รู้เลยว่าต้องไปตรวจร่างกาย เพราะเนื้อตัวเรานี่แหละคือหลักฐานสำคัญ“

แต่มากไปกว่านั้นยังมีหลักฐานอีกประเภทหนึ่งที่มักถูกตีความด้วยอคติของคนในกระบวนการยุติธรรมที่ย้อนมาใช้ลดทอนความผิดให้กับผู้กระทำความรุนแรง

“สถานการณ์หลายอย่างมันจะถูกตีซ้ำด้วยมายาคติมาที่ผู้ถูกกระทำอีกรอบหนึ่ง อย่างเช่น การตั้งคำถามว่า ไปกับเขาทำไม ก็ภาพในวงจรปิดมันเห็นว่าเดินตามเขาไป ขึ้นรถไปกับเขา อันนี้มันทำให้ผู้ถูกกระทำถูกมองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเองเสี่ยง อยู่ในสถานการณ์นั้นจนเกิดความรุนแรง ความคิดแบบนี้มันถูกใช้เป็นข้ออ้างของผู้กระทำด้วย เขาก็จะอ้างว่า วันนั้นเขาไปกับผมเอง วันนั้นเขาขึ้นรถไปเอง เขาเป็นคนเปิดห้องจ่ายค่าโรงแรม” มณี ยกตัวอย่างและว่า กลไกที่มีอยู่เหมือนจะดี แต่กลับไม่สามารถใช้ได้จริง “มันไม่เหมาะสมกับผู้เสียหาย”

ทางเล็กๆ ที่เหลืออยู่ซึ่งฟังดูเหมือนการย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นในการยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ นั่นคือการเปิดพื้นที่ให้ผู้ถูกกระทำหรือผู้เสียหายได้มีโอกาสสะท้อนความทุกข์และประสบการณ์ของตัวเองต่อสังคมให้มากขึ้น และสังคมก็ควรเปิดใจรับฟังเสียงที่แปลกแปล่งนั้นด้วยหัวใจที่ปราศจากอคติให้มากยิ่งขึ้นด้วย