วิวาทะ 'ผู้บริหาร-ผู้รับเหมา' ใครต้นเหตุ 'มหาลัยตึกร้าง'?

วิวาทะ 'ผู้บริหาร-ผู้รับเหมา' ใครต้นเหตุ 'มหาลัยตึกร้าง'?

เจาะประเด็นฉาว! วิวาทะ "ผู้บริหาร -ผู้รับเหมา" ใครเป็นต้นเหตุ "มหาลัยตึกร้าง" ?

“ล่าความจริง” ได้เปิดประเด็นปัญหาการก่อสร้างอาคารเรียนของ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ซึ่งสร้างมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่เสร็จเสียที เรียกว่านักศึกษาเข้าเรียนจนจบกันไปหลายรุ่น ก็ยังไม่มีโอกาสได้ใช้อาคารหลังนี้

ขณะที่ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา ได้เห็นตึกที่ยังสร้างไม่เสร็จจนชินตา จนกลายมาเป็นข้อความเช็คอินทางเฟซบุ๊คว่า “มหาวิทยาลัยชื่อดังย่านสี่แยกบ้านแขกที่มีตึกร้างอยู่หน้ามอ” สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ไม่น้อย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้พึงพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่

“ล่าความจริง” ย้อนดูประวัติการก่อสร้างอาคารหลังนี้ พบว่าตามแผนงานโครงการ ต้องการสร้างเป็นอาคารศูนย์ปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และอาคารเรียนรวม มีความสูง 15 ชั้น พร้อมชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ทำสัญญาจ้างก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.2550 แต่จนถึงขณะนี้ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ทั้งๆ ที่ผ่านมากว่า 10 ปี

มหาวิทยาลัยทำสัญญาว่าจ้างครั้งแรกกับ “กิจการร่วมค้า เอส แอนด์ พี คอนสตรัคชั่น” ระยะเวลาก่อสร้าง 775 วัน โดยต้องสร้างเสร็จในวันที่ 9 พ.ย.2552 วงเงินงบประมาณกว่า 162 ล้านบาท แต่ กิจการร่วมค้า เอส แอนด์ พี คอนสตรัคชั่น ก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา ทางมหาวิทยาลัยจึงบอกเลิกสัญญาเมื่อปี 2554

ภายหลังมีการประกวดราคาใหม่ กระทั่งได้ทำสัญญาว่าจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ศมานุกรก่อสร้าง เข้ามาดำเนินการแทนเมื่อเดือน มี.ค.2558 ระยะเวลา 570 วัน ต้องสร้างเสร็จภายในเดือน ต.ค.2559 วงเงินงบประมาณ 86 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดสัญญา ก็สร้างไม่เสร็จ ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้ปรับผู้รับเหมาตามสัญญา วันละ 86,000 บาท ล่าสุดค่าปรับพุ่งไปกว่า 34 ล้านบาทแล้ว

อาจารย์เอกรัตน์ สุขะสุคนธ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี อธิบายกับทีมล่าความจริงว่า อาคารแห่งนี้ถูกทิ้งร้างมานานหลายปี เปลี่ยนผู้บริหารของมหาวิทยาลัยไปแล้ว 3 รุ่น กระทั่งปี 2556 ตนได้เข้ามารับหน้าที่ดูแลการก่อสร้าง จึงได้ทำหนังสือสอบถามบริษัทผู้ออกแบบว่า อาคารแห่งนี้สามารถสร้างต่อได้หรือไม่ จนกระทั่งได้ หจก.ศมานุกร ก่อสร้าง เข้ามารับช่วงต่อ ซึ่งช่วงแรกการก่อสร้างเป็นไปด้วยดี แต่พอถึงช่วงที่จะต้องตกแต่งภายใน บริษัทผู้รับเหมากลับประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนงานหยุดชะงัก

“ทางมหาวิทยาลัยได้ถามบริษัทว่าจะทำต่อไหม ถ้าจะทำงานต่อ ก็ทำแผนมาเสนอใหม่ ซึ่งการพิจารณาเรื่องนี้เราพิจารณาถึงผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ และก็มีการเรียกประชุมกับบริษัท เพื่อดูว่าจะมีทางให้บริษัททำงานได้ต่อได้หรือไม่ ซึ่งก็มีอยู่ 2 ทางเลือกคือ ให้บริษัททิ้งงาน โดยทางมหาวิทยาลัยจะต้องพิจารณาเปอร์เซ็นต์งานก่อสร้างที่เหลือ เพื่อเปิดประมูลหาบริษัทก่อสร้างรายใหม่เข้ามาทำงานต่อ แต่จะใช้เวลาหลายเดือน แต่อีกทางก็คือ ให้ผู้รับเหมาพิจารณาตัวเองว่าสามารถทำงานได้ต่อหรือไม่”

“เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางบริษัทได้ทำหนังสือการขอลดค่าปรับลงมา แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ” อ.เอกรัตน์ ระบุ

ยังมีข้อมูลอีกด้านจาก ณัฐพงศ์ เกตุอินทร์ ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง หจก.ศมานุกรฯ ที่อธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้บริษัทต้องตกอยู่ในสภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องมาจากการพิจารณาเอกสารและตรวจรับงานของมหาวิทยาลัยล่าช้า เพื่อให้บริษัทส่งงานไม่ได้ตามกำหนด รวมถึงไม่อนุมัติเม็ดเงินที่บริษัทขอเบิกเพื่อทำการก่อสร้างต่อด้วย

“เราสร้างไปแล้วมากกว่า 70% หากคิดเป็นเม็ดเงินก็ประมาณ 66 ล้านบาท แต่เราได้รับเงินแค่ 17 ล้านเศษเท่านั้น ทำให้เงินที่บริษัทลงทุนไป 25 ล้านต้องหมดไป และเบิกค่างวดงานไม่ได้ ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่อง” ณัฐพงศ์ ระบุ และว่า ที่ผ่านมาได้พยายามหาทางออกเรื่องนี้มาตลอด ทั้งการส่งหนังสือขอให้กรมบัญชีกลางเข้ามาร่วมตรวจสอบ รวมถึงขอให้มหาวิทยาลัยช่วยลดค่าปรับหรือขยายเวลาการก่อสร้างออกไป เพื่อที่นักศึกษาจะได้มีอาคารเรียนเสียที แม้บริษัทจะต้องขาดทุนก็ยอม

ปัญหา “มหากาพย์ตึกร้าง 10 ปี” ดูเหมือนจะยังไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นคำตอบชัดเจนก็คือ นักศึกษาจะยังไม่มีอาคารเรียนใหม่ และต้องเฝ้ารอต่อไป