ไทยผนึก‘มิชลิน’ชูเมืองหลวงอาหารเอเชีย

ไทยผนึก‘มิชลิน’ชูเมืองหลวงอาหารเอเชีย

ไทยปูพรมกิจกรรมหนุนสร้างแบรนด์ “เมืองหลวงอาหารแห่งเอเชีย” ดันรายได้อาหารจากนักท่องเที่ยวแตะ 7.57 แสนล้านบาท กระตุ้นสัดส่วนจ่ายชิมอาหารไทย 25% เทียบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ผนึก“มิชลิน”เปิดตัวโครงการปีแรก 6 ธ.ค.นี้

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 144 ล้านบาทเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำโครงการมิชลิน ไกด์ ไทยแลนด์ 5 ปี เพื่อผลิตคู่มือแนะนำร้านอาหารที่ได้มาตรฐานตามที่มิชลินกำหนดนั้น ททท.ได้ร่วมมือกับมิชลินต่อเนื่อง  พร้อมเปิดตัวโครงการในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการยกระดับรายได้ด้านท่องเที่ยวจากการรับประทานอาหาร ที่อยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการ ททท. กล่าวว่าในรอบ 5 ปีต่อไปนี้ มีแผนการยกระดับภาพลักษณ์และแบรนด์ของประเทศไทยเป็น “เมืองหลวงอาหารแห่งเอเชีย” ด้วยการจัดกิจกรรมในหลายด้าน โดยมีความร่วมมือกับมิชลิน เป็นไฮไลท์หลัก เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่มีอิทธิพลและชื่อเสียงติดตลาดสำหรับคนทั่วโลกที่สนใจในการรับประทานอาหารนิยมยึดเป็นคู่มือต้นแบบเดินทางตามรอย โดยหลังจากเปิดตัวไทยเป็นประเทศที่ 29 ในโลกที่ร่วมมือกับมิชลินไปในช่วงต้นปี เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ ญี่ปุ่น, ฮ่องกง จีน สนใจสอบถามโครงการดังกล่าว

จากผลการศึกษาความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยว่ามีถึง 86% ที่ระบุว่าต้องการรับประทานอาหารไทย แต่ทั้งนี้ การหวังผลต่อเนื่องคือ การเข้ามาสำรวจร้านแบบปกปิดตัวตนเพื่อรวบรวมร้านที่ได้มาตรฐานนั้น จะส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารไทยเกิดความตื่นตัวในการปรับปรุงคุณภาพอาหารและบริการของตัวเองในวงกว้าง 

หลังจากปีแรกเปิดตัวการสำรวจในกรุงเทพฯ แล้ว ในอีก 4 ปีจะกระจายไปยังทำเลต่างจังหวัด เพื่อให้ตอบรับกับนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการเติบโตของรายได้ท้องถิ่น คาดว่าห่วงโซ่ของระบบธุรกิจอาหารทั้งหมดจะยกระดับมาตรฐาน เช่น เกษตรกร ที่ผลิตวัตถุดิบมีคุณภาพ ก็จะมียอดขายส่งต่อให้กับร้านอาหารเพิ่มขึ้น

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท.กล่าวว่า ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านการอาหารของนักท่องเที่ยวต่อคนอยู่ที่ 20% เท่ากับค่าใช้จ่ายด้านการชอปปิง หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของค่าใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวทั้งหมด โดยในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ส่วนนี้อยู่ที่ 5.4 แสนล้านบาท จากรายได้ทั้งหมด 2.7 ล้านล้านบาท 

แต่หลังจากดำเนินโครงการมิชลิน ร่วมกับแผนกิจกรรมกระตุ้นอาหารรายได้อื่นๆ ที่กำลังทยอยตามมาแล้ว จะต้องเพิ่มสัดส่วนรายได้อาหารของนักท่องเที่ยวทั้งหมดเป็น 25% หรือราว 1 ใน 4 หรือคิดเป็นเม็ดเงินรวม 7.57 แสนล้านบาท

“การทำงานร่วมกับมิชลิน เป็นความร่วมมือในเชิงการสร้างแบรนด์ร่วมกัน ตอกย้ำชื่อเสียงและความจริงจังในการบุกเรื่องอาหารเป็นหลัก เพื่อกรุยทางสู้เป้าหมายการเป็นเมืองหลวงอาหารแห่งเอเชีย ซึ่งหลายประเทศกำลังแข่งขันเพื่อช่วงชิงตำแหน่งนี้" 

ปัจจุบันหลายประเทศวางกลยุทธ์เปิดตลาดเรื่องอาหารมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น ที่เริ่มความร่วมมือกับมิชลินไปก่อน และมีร้านอาหารที่ได้รับดาวมากที่สุด  หากไทยไม่เริ่มร่วมมือกับมิชลิน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ก็กำลังเล็งนำโครงการนี้ไปโปรโมทอยู่เช่นกัน 

ทั้งนี้ สิ่งที่ไทยคาดหวังอีกเรื่องคือ การสร้างความแตกต่างของเอกลักษณ์อาหารไทยที่มีอยู่ เช่น สตรีทฟู้ด ที่ได้รับการจัดอันดับความนิยมติด 1 ใน 3 ของโลก ก็หวังว่าจะมีโอกาสผลักดันและยกระดับให้ติดดาวมิชลินได้ในย่านสำคัญ เช่น เยาวราช หรือประตูน้ำ เป็นต้น

ด้านการยกระดับมาตรฐานของร้านอาหาร คาดว่าจะทำให้มีการปรับปรุงใน 5 เรื่อง ที่เป็นเกณฑ์การพิจารณาของมิชลิน ได้แก่ คุณภาพอาหาร, รสชาติอาหาร, เอกลักษณ์, ความคุ้มค่า และความเสมอต้นเสมอปลาย โดยเฉพาะเรื่องสุดท้าย ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาระยะยาว เพราะมิชลิน จะกลับมาประเมินร้านที่ได้ดาวไปแล้วทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่ายังคงมาตรฐานต่อไปได้ 

โดยคาดว่าใน 5 ปีต่อไปนี้ จะเห็นผลของภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งและสู้กับเอเชียได้ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ 6 ในเอเชียที่ร่วมมือกับมิชลิน และยังมีอีกหลายประเทศที่น่าจะทยอยร่วมมือ เช่น ไต้หวัน ที่ตามหลังไทยมาเป็นประเทศที่ 30 ของโลก และเกาหลีใต้ที่ดำเนินการไปในปีก่อนหน้า