เปิดมุมมองใหม่อินเดีย มั่งคั่งหลัง “ม่านส่าหรี”

เปิดมุมมองใหม่อินเดีย มั่งคั่งหลัง “ม่านส่าหรี”

พลิกทัศนคติใหม่แดนภารตะอินเดียมีมากกว่าแค่ “เหม็น สกปรก โกง จน” เหรียญอีกด้านที่ทุกคนเบือนหน้าหนีเป็นดินแดนแห่งโอกาสประชากรกว่า 1,300 ล้านคน คนรวยมีมากถึง 400 ล้านคน หมุดหมายใหม่เศรษฐกิจพุ่งแรง

เมื่อเชิญชวนคนไทยไปทำการค้านอกบ้าน แดนภารตะประเทศอินเดีย น่าจะเป็นหนึ่งในเมืองอันดับแรกๆ ที่นักธุรกิจไทยปฏิเสธค้าขาย เพราะทัศนคติแรกของคนไทยที่มีต่อแขก เป็นศูนย์รวมของสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์ ขี้โกง เมืองเหม็น สกปรก และศูนย์รวมคนจนหลายร้อยล้านคน ในงานสัมมนามองอินเดียใหม่..ความท้าทายและโอกาสที่คาดไม่ถึง” ที่จัดโดยกรมการค้าต่างประเทศ เปิดมุมมองใหม่ให้กับธุรกิจไทยทั้งที่อยากไปและไม่อยากไปในอินเดีย

อดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อดีตทูตพาณิชย์ เมืองมุมไบ อินดีย เล่าถึงทัศนคติคนไทยที่มีต่อแขก เช่นเดียวกันกับตัวเขาที่เมื่อถูกมอบหมายไปประจำการเป็นทูตพาณิชย์ที่แดนภารตะ ตั้งแต่ปี 2554 เป็นวันที่จำฝังใจ ถึงประสบการณ์การสัมผัสกลิ่นเมืองแขกครั้งแรกได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อได้ใช้ชีวิตในสังคมแขก ทัศนคติของทูตพาณิชย์ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากไม่ชอบใจ กลายเป็นหลงรัก

เพราะอินเดียเป็นดินแดนแหล่งอารยธรรมและสั่งสมภูมิปัญญา หลังม่านของความไม่รื่นรมย์ กลับเต็มไปด้วยโอกาสมหาศาล ถึงขั้นเป็นดาวดวงใหม่ทางเศรษฐกิจของแผนที่โลกเลยก็ว่าได้ เมื่อนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เข้ามาบริหารประเทศ ก็วางเป้าหมายจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจอินเดียให้กลับมายิ่งใหญ่ และมีเสถียรภาพ

บนนโยบาย “Act East Policy” หันกลับไปเชื่อมฝั่งตะวันออก ให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียน โดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง ตอกย้ำโอกาสที่ไทยจะเกาะเกี่ยวใช้ประโยชน์และโอกาสทางธุรกิจแบบเต็มๆ

“จากนโยบายการค้าที่อินเดียเคยปกป้องอุตสาหกรรมภายในและปิดมาโดยตลอด เปลี่ยนมาเปิดและยกระดับความสัมพันธ์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างอาเซียนเริ่มเข้มข้นขึ้น ผ่านรัฐมณีปุระ รัฐนาคาแลนด์ และรัฐอัสสัม เป็นประตูเชื่อมเมียนมา ลงมาในไทย และกระจายผ่านประเทศในอาเซียน” เขาเล่า

ศักยภาพของแดนภารตะที่ก้าวสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจนั้นมีสูง จึงต้องรีบน่าเข้าไปทำการค้า เพราะประชากรกว่า1,300ล้านคน เป็นกลุ่มคนมีฐานะร่ำรวยมหาเศรษฐีมากถึง300-400 ล้านคน ประชากรอายุเฉลี่ยระดับต่ำที่ 27 ปี นั่นหมายถึงคนส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว หรือวัยทำงานจำนวนมาก ที่พร้อมเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โชติช่วง

นโยบายของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่บริหารประเทศได้เพียง 3 ปี (รับตำแหน่งปี 2557)ส่งผลทำให้อินเดียก้าวขึ้นมาเติบโตอย่างพรุ่งพรวดจนเป็นประเทศที่น่าจับตาเป็น “ดาวรุ่งดวงใหม่” ทางเศรษฐกิจ เพราะการเติบโตเฉลี่ยปีละ7.5% ถือว่ามีความร้อนแรงกว่าจีน สหรัฐ และยุโรป ที่เศรษฐกิจเริ่มอิ่มตัวและการเติบโตนิ่งๆ 

สวนทางกับรัฐบาลของโมดีที่มีนโยบายส่งเสริมการผลิตในอินเดีย (Make in India) ส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตสินค้า จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษานักลงทุนต่างชาติ  ผลักดันการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม เช่น ก่อสร้าง การรถไฟ การผลิตอุปกรณ์การแพทย์ และการผลิตเพื่อป้องกันประเทศ หลายปรากฎการณ์ รวมถึงการลดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน

อินเดียจึงถูกจัดอันดับความง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of doing Business) จากเคยอยู่อันดับที่189ขึ้นมาอยู่ที่142 ดีขึ้นมากกว่า40อันดับ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการพลิกโฉมหน้าประเทศ

ที่สำคัญเป็นแหล่งทรัพยากร และการผลิตสินค้าเกษตรจำนวนมากจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จึงเป็นโอกาสทำให้ธุรกิจไทยหาจุดแข็งของกลุ่มธุรกิจไปเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมใน25กลุ่มประเภท เช่น ยานยนต์ เคมี สุขภาพ เภสัชกรรม สิ่งทอ ท่าเรือ การบิน เครื่องหนัง ท่องเที่ยวและบริการ โดยใช้อินเดียเป็นฐานแล้วผลิตเพื่อป้อนตลาดอินเดียที่มีประชากรมหาศาล และยังผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศข้างเคียง ทั้งบังคลาเทศ และปากีสถาน ได้รับสิทธิพิเศษยกเว้นภาษีนำเข้า 0%

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า ธุรกิจไทยที่จะไปที่นั่น ต้องเลือกสิ่งที่คนไทยถนัดและเป็นจุดแข็ง อาทิ แปรรูปผลไม้ ซึ่งอินเดียยังขาดศักยภาพการผลิตแปรรูปผลไม้ กว่า50%จึงต้องเหลือทิ้งเพราะการขนส่งไม่สะดวกและไม่แปรรูปไม่เป็น  อัญมณีและเครื่องประดับที่ไทยเก่ง ด้านดีไซน์แบบทันสมัย ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

อุตสาหกรรมสุขภาพ อินเดีย เด่นเรื่องสุขภาพเพราะมีภูมิปัญญาเก่า และเป็นผู้ผลิตยากที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงมีจุดขายท่องเที่ยวสุขภาพเช่นเดียวกันกับไทย จึงเชื่อมต่อกันได้ และเช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมไอที ประชากรที่มีทักษะด้านไอทีจำนวนมาก เป็นแหล่งส่งออกซอฟต์แวร์ทำเงินเข้าประเทศอย่างมาก รัฐบาลยังวางเป้าหมายสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) 100 เมืองใน 10 ปี เป็นโอกาสสำคัญ ไปเชื่อมต่อกันได้ ตามเป้าหมายที่ไทยใกล้เคียงกันกับไทย เพราะอินเดียเป็นแหล่งเอาท์ซอร์สอุปกรณ์ไอทีที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

“อินเดียเป็นแหล่งทรัพยากรจำนวนมากผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดเป็นอันดับ1ของโลก มีพื้นที่เพาะปลูก 60% ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกทั่วโลกมีค่าเฉลี่ยเพียง 11%สิ่งที่ไทยเข้าไปเติมเต็มส่วนที่อินเดียขาดได้คือการแปรรูปเพิ่มมูลค่า”

ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองถึงโอกาสของการเชื่อมถนนจากอินเดียผ่านเมียนมา ที่จะทำให้ขนส่งไทยไปเชื่อมต่อ หากถนนถูกก่อสร้างสำเร็จ หมายถึงการพลิกโฉมด้านโลจิสติกส์ ผลักดันการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้น

โดยการค้าไทยอินเดียในช่วงที่ผ่านมาไม่เติบโตนัก ยอดรวมทั้ง 2 ประเทศค้าขายระหว่างกัน 7.7พันล้านดอลลาร์ โดยไทยเกินดุลการค้า 5 พันล้านดอลลาร์ นี่คือโอกาสที่ไทยต้องเร่งเชื่อมอินเดีย 

ราเกส ซิงห์ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนากลยุทธ์และปฏิบัติการองค์กร บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ มือบริหารคนไทยเชื้อสายอินเดีย แนะให้มองอินเดียใหม่ เพราะหลังจาก 3 ปีของการเปลี่ยนแปลงผู้นำ มีนโยบายให้แต่ละรัฐแข่งขันดึงดูดการลงทุน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสทองของธุรกิจไทยต้องรีบไปปักหมุด

“ในช่วงที่ผ่านมามีคณะรัฐบาลจากแต่ละเมืองของอินเดียเข้ามาเจรจาในไทยมากขึ้นไม่ต่ำกว่าเดือนละครั้ง” ราเกส ชี้ให้เห็นถึงความตื่นตัวของรัฐบาลอินเดียอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

“กลุ่มคนรายได้ปานกลางเริ่มเพิ่มขึ้น ทำให้คนอินเดียเริ่มมีกำลังซื้อ ขายได้แต่เรียกราคาไม่ค่อยได้ เพราะนับวันลูกค้าจะรู้ราคามากขึ้น แต่ศรีไทยฯเป็นที่รู้จักอยู่แล้วในกลุ่มพรีเมียม หรือสินค้าที่ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่นรับแขก เหมาะกับทานอาหารที่ใช้มือได้ตามวัฒนธรรมการกินของคนอินเดีย" เขาเล่า

สิ่งสำคัญคือศรีไทย ทำให้ทีมขายรักและเข้าใจสินค้าจากไทย ให้โบนัสแม่บ้านที่ทำยอดทะลุเป้าเป็นตั๋วเครื่องบินมาพักผ่อนในเมืองไทย ที่บริษัทดูแลพวกเขาอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้ทำให้แม่บ้านอินเดียอยู่กับบริษัทมาอย่างยาวนาน

---------------------------------------------------

กลยุทธ์บุกแดนภารตะ

 -ปรับทัศนคติ“กล้า”มากกว่า“กลัว”

 -ศึกษากฎหมายเลือกรัฐที่เปิดรับการลงทุน

 -เลือกเมืองที่ใช่ และตรงกับสินค้าที่ถนัด

 -ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ผลิตสินค้าขายคนมีกำลังซื้อ

 -ให้ทีมเซลล์คนอินเดียบุกตลาดให้