ไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อ 'แอนแทรกซ์'

ไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อ 'แอนแทรกซ์'

ผลตรวจยืนยันผู้ป่วยที่แม่สอด ติดเชื้อแอนแทรกซ์ 1 ราย หลังมีประวัติชำแหละแพะตายผิดปกติมากิน

จากกรณีที่กรณีชาวบ้านแม่โกนเกน หมู่ที่ 9 ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก ได้บริโภคเนื้อแพะ ก่อนมีอาการป่วยและเข้ารับการรักษาที่รพ.แม่สอด และเกิดสงสัยว่าเป็นโรคแอนแทรกซ์ จึงได้มีการส่งตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถึงผลการตรวจสอบหาเชื้อของ 2 ผู้ต้องสงสัยติดเชื้อแอนแทรกซ์หลังมีการชำแหละแพะที่ลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผู้ป่วยเป็นชาวต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้งนี้ ผลพบว่า 1 รายมีผลเป็นบวกติดเชื้อแอนแทรกซ์ ส่วนอีก 1 รายผลการตรวจรอบแรกไม่พบเชื้อ แต่จำเป็นต้องขอตรวจยืนยันอีกครั้ง ขณะนี้ยังรอผล

นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า รพ.แม่สอด จ.ตาก พบผู้ป่วยจำนวน 2 รายมีแผลพุพองและจุดดำที่กลางแผล จึงสงสัยว่าติดเชื้อแอนแทรกซ์ จึงส่งเลือดและเก็บตัวอย่างแผลส่งตรวจวิเคราะห์หาเชื้อที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งขณะนี้ทราบผลแล้วชัดเจนว่า 1 ราย ติดเชื้อแอนแทรกซ์แน่นอน ส่วนอีก 1 ราย ให้ผลเป็นผล แต่เนื่องจากมีลักษณะอาการและแผลเหมือนกัน จึงคาดว่าติดเชื้อเช่นกัน แต่เนื่องจากมีการให้ยาปฏิวีชวนะไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงอาจทำให้ไม่พบเชื้อหรือเชื้อบริเวณแผลที่เก็บมาส่งตรวจตายแล้ว จึงสรุปว่ามีการติดเชื้อแอนแทรกซ์ทั้ง 2 คน สำหรับที่มาของการติดเชื้อแอนแทรกซ์คือ การนำแพะที่ตายแล้วจากประเทศเพื่อนบ้านมาชำแหละ แล้วมือคลุกเคล้าตอนทำอาหาร จากนั้นจึงเกิดแผลดังกล่าวขึ้นมา

ภาพรวมของการติดเชื้อแอนแทรกซ์นั้นคือ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีการติดต่อได้ 3 ทาง คือ 1.ผิวหนัง เช่น 2 รายนี้ คือเชื้อโรคเข้าทางแผลที่ผิวหนัง จากนั้นไปที่ต่อมน้ำเหลือง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต และอาจติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิต 20% 2.ทางเดินหายใจ คือเข้าทางปอด ทำให้มีอาการหายใจลำบาก มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน โอกาสเสียชีวิตสูงขึ้นเป็น 50% และ 3.ทางเดินอาหาร คือ เกิดจากการกินเนื้อสัตว์สุกๆ ดิบ และได้รับเชื้อเข้าไป การรับเชื้อทางนี้ถือว่าอันตรายที่สุด มีโอกาสเสียชีวิตถึง 80% แต่ทั้งหมดหากรีบรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ สำหรับวัคซีนป้องกันเชื้อแอนแทรกซ์นั้นมี แต่ประเทศไทยไม่ได้มีวัคซีนชนิดนี้ เนื่องจากไม่ได้เป็นแหล่งระบาด และประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อแอนแทรกซ์ครั้งสุดท้ายคือเมื่อ 17 ปีก่อนและไม่พบอีกเลย

"อาการของผู้ป่วยทั้ง 2 รายถือว่าดีขึ้นแล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้นอาจมีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน ปวดต่อมน้ำเหลืองบ้าง แต่ขณะนี้ไม่น่ามีปัญหาแล้ว ซึ่งจากการให้ยาปฏิชีวนะก็สามารถหายขาดได้ โดยต้องให้ยาเป็นเวลา 60 วัน ซึ่งจริงๆ เชื้ออาจจะตายก่อนครบ 60 วัน แต่ที่ต้องให้ยาจนครบ 60 วัน เนื่องจากอายุของสปอร์เชื้อค่อนข้างยาว ส่วนการสอบสวนโรคได้มีการส่งทีมเคลื่อนที่เร็วลงไปในพื้นที่ พบผู้เกี่ยวข้องประมาณ 247 ราย จึงได้ให้ยาปฏิชีวนะป้องกันเป็นเวลา 60 วันเช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีการกักตัว เพราะไม่ใช่โรคที่มีการติดต่อจากคนสู่คนเหมือนไข้หวัดใหญ่ ยกเว้นการไปสัมผัสแผลหรือสารคัดหลั้งแล้วตนเองมีแผล จึงอาจทำให้ติดเชื้อได้" นพ.เจษฎา กล่าว

นพ.เจษฎา กล่าวด้วยว่า การป้องกันเชื้อแอนแทรกซ์ที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงสัตว์ที่ป่วยตายผิดธรรมชาติ ซึ่งเชื้อแอนแทรกซส่วนใหญ่มักพบในแพะ แกะ วัว และควาย ซึ่งหากพบสัตว์เหล่านี้ตายผิดธรรมชาติให้รีบแจ้งปศุสัตว์ วิธีทำลายที่ดีที่สุดคือการเผา ซึ่งเชื้อจะตายจากการเผาที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 30 นาที ไม่ควรฝังลงพื้นดิน เพราะเชื้อสปอร์สามารถอยู่ได้เป็นสิบๆ ปี และไม่ควรนำเนื้อสัตว์เหล่านี้มากินเด็ดขาด แม้จะทำให้สุกก็ตาม ทั้งนี้ ถือว่ายังไม่มีการระบาดของเชื้อแอนแทรกซ์ เพราะหากสัตว์เป็นแล้วอย่างมากก็คือป่วยแล้วตาย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านน่าจะมีเชื้อแอนแทรกซ์บ้าง โดยสัตว์อาจติดเชื้อมาจากหญ้าหรือสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีการระบาดใหญ่เช่นกัน