นำร่องโครงการสาธิตการปลูกข้าวหอมมะลิ

นำร่องโครงการสาธิตการปลูกข้าวหอมมะลิ

ชลประทานเชียงใหม่ นำร่องโครงการสาธิตการปลูกข้าวหอมมะลิ หวังเพิ่มผลผลิตและคุณภาพพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ประเภทข้าว โดยน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงร.9 มาปรับใช้ เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ดร.วสันต์ บุญเกิด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิประจำสถาบันพัฒนาการชลประทาน เป็นประธานเปิดงานวันเกี่ยวข้าวโครงการการสาธิตการปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพในเขตพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ประเภทข้าว ที่ พื้นที่แปลงเกษตรกรผู้ใช้น้ำอ่าวเก็บน้ำแม่โก๋น หมู่ที่ 7 บ้านสันทราย ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสาธิตการให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของข้าวหอมมะลิ ตลอดจนเผยแพร่องค์ความรู้ในการดำเนินการสู่พื้นที่รับผิดชอบเกษตรแปลงใหญ่ต้นแบบประเภทข้าวของจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมส่งเสริม และผลักดันให้เป็นโครงการนำร่องในการทำการเกษตรไปสู่เกษตรแบบปลอดภัยในการช่วยการบริหารจัดการน้ำ และก่อให้เกิดการลดต้นทุนและการเพิ่มผลผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ด้านนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ INWEPF Thai บริษัทสยามคูโบต้า จำกัด ได้ดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกข้าวแบบวิธีเปียกสลับแห้ง จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจในเรื่องของการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ประหยัดการใช้น้ำ ซึ่งผลการศึกษาวิจัยพบว่า สามารถประหยัดน้ำได้ 25 เปอร์เซ็นต์ จากวิธีปกติดั้งเดิมที่เคยใช้น้ำ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ลดเหลือ 800 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่

นอกจากนี้ ยังได้ทดลองศึกษาวิธีการให้น้ำและการใช้น้ำของข้าวเหนียวฤดูนาปรังในพื้นที่สถานีทดลองการใช้น้ำแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ผลยืนยันการประหยัดน้ำ เฉลี่ยอยู่ที่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ จนกระทั่งนำมาสู่การขยายผลโครงการจัดทำแปลงสาธิตการปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อผลผลิตและคุณภาพในเขตพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ประเภทข้าว ในพื้นที่ของเกษตรกรตัวอย่าง ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ชลประทานที่ได้รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่โก๋น

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการสาธิตดังกล่าว จัดทำในแปลงเกษตรของ นายสุพรรณ์ นาคเปราะ โดยเริ่มดำเนินการปักดำกล้าพันธุ์ข้าวหอมมะลิ เมื่อวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา จนมาถึงวันที่ต้นข้าวเจริญเติบโตอย่างงดงาม และครบกำหนดระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว รวมระยะเวลาตั้งแต่เพราะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว อายุข้าว 128 วัน ซึ่งกิจกรรมภายในงานยังมีนิทรรศการการนำร่องการทำนาแบบเปียกสลับแห้งในเขตพื้นที่ชลประทาน ร่วมเกี่ยวข้าวในแปลงนาสาธิต เพื่อสร้างองค์ความรู้ และเป็นข้อมูลทางเลือกให้แก่เกษตรกลุ่มผู้ใช้ในการเลือกวิธีการปลูกข้าวที่เหมาะสมต่อไป