มังคลาภรณ์นฤมิต...ดีไซน์จากกระดูกไก่เป็นไปได้ไง!

มังคลาภรณ์นฤมิต...ดีไซน์จากกระดูกไก่เป็นไปได้ไง!

เช้านี้มีลุ้นอยากเพิ่มความมั่นใจในการลงทุน หยิบเข็มกลัด หรือ สร้อยคอ สัญลักษณ์สื่อความหมายของการเป็นเศรษฐีในชั่วข้ามคืนมาประดับ จะสมหวังดังปรารถนาหรือไม่เป็นเรื่องของความพยายาม ส่วนความงามในเชิงแฟชั่น กล่าวได้ว่าเก๋จนเกิดคาดว่ามาจากกระดูกไก่

เพราะอยากชวนนักวิจัยด้านมนุษยศาสตร์เดินออกจากมุมที่คุ้นเคย ออกมาร่วมมือกับนักออกแบบ เติมแง่มุมทางศิลปะลงไป นอกเหนือจากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นตำราวิชาการแล้ว ความรู้ที่ได้มายังนำไปสร้างสรรค์เป็น “ชิ้นงาน”ที่จับต้องและใช้ได้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย

พลวัฒ ประพัฒน์ทอง อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์และหัวหน้าโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เจ้าของผลงานเครื่องประดับแบรนด์ ไก่ตัวดี ถล่าวถึงผลงานออกแบบที่จะนำไปจัดแสดงในงานเชียงใหม่ดีไซน์วีค ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

“ผลงานนี้มาจากงานวิจัยโครงการพหุสัมพันธ์อันหลากหลายระหว่างมนุษย์กับไก่ ของเจ้าชายอะกิชิโนะ ประเทศญี่ปุ่น ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี วิจัยเรื่องไก่ป่ามาเป็นไก่บ้านได้อย่างไร

ในส่วนที่ผมรับผิดชอบพบว่ามีตำราการทำนายกระดูกไก่ ได้ตำรามาจากกลุ่มชาติพันธุ์ 3 ที่จากกลุ่มชาติพันธุ์ปลัง เรานำตำรา 3 เล่มมาเปรียบเทียบพบว่าไม่เหมือนกันเลย แต่มีความใกล้เคียงกันบ้าง ผมเลือกที่มีความหมายใกล้เคียงกันและมีความหมายดีๆมาออกแบบเป็นเครื่องประดับ”

อาจารย์พลวัฒ อธิบายถึงการทำนายโชค ลาภ ด้วยกระดูกสัตว์ว่ามีมานานแล้ว โดยยกตัวอย่างตามที่มีการจดบันทึกว่า ปี ค.ศ.1899 ปีกวงสูที่25 ขุนนางชื่อ หวังอี้หรง ป่วยเป็นมาลาเรีย

ให้คนใช้ออกไปซื้อยา

 หนึ่งในยาที่ซื้อมามี หลงกู่ หรือ กระดูกมังกร 

กระดูกมังกร คือ กระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กลายเป็นหิน เอามาทำยา

หวังอี้หรง พบว่าบนกระดูกมังกรมีลายขีดเขียนเหมือนตัวอักษร จึงให้คนรับใช้ไปกว้านซื้อกระดูกมังกรตามร้านขายยามาเท่าที่หามาได้ แล้ววิเคราะห์ตัวอักษรบนกระดูกสัตว์ และเป็นคนแรกที่ถอดความอักษรบนกระดูกมังกร

ตัวอักษรที่อยู่บนกระดูกเรียกว่า เจี๋ยกู่เหวิน พบบนกระดูกและกระดองเต่าผู้จารึกคือ อูหรือ สี

คนทรงเจ้าหรือพ่อมดแม่มดหมอผีในสมัยก่อน มีตำแหน่งราชการ เป็นโหรหลวง

คนทรงหญิงหรือแม่มดเรียกว่า อู คนทรงชายหรือพ่อมดเรียกว่า สี อูหรือสีนำกระดูกหรือกระดองไปเผาไฟจนมีรอยแตก แล้วตีความรอยแตกนั้น จารึกอักษรลงบนนั้น

“ในส่วนของงานวิจัย ผมนำตำราทำนายกระดูกไก่ที่พบจาก 3 ชาติพันธุ์ นำแปล แล้วเปรีนยบเทียบ พบว่ามีคำทำนายทั้งที่ดีและไม่ดีจึงได้นำรูปแบบตัวทายที่มีคำทำนายที่ดี มาออกแบบใหม่ให้เหมาะสม

โดยนำแนวคิดจากการวิจัยที่พบว่าเมื่อสังคมพัฒนาได้นับถือศาสนาพุทธ การฆ่าสัตว์เป็นสิ่งที่พึงละเว้นดังนั้นการฆ่าไก่เพื่อนำกระดูกไก่มาทำนายจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีเสี่ยงทายจากกระดูกไก่ที่เคยใช้ทำนายแล้ว มาทำพิธี

คิดว่าถ้าเรานำตัวทายที่ดีมาเป็นเครื่องประดับ เปลี่ยนการเสี่ยงทายมาเป็นการเลือก

ใช้เครื่องประดับที่มีความหมายดี เป็นมงคล จึงได้ให้ชื่อชุดการออกแบบนี้ว่า มังคลาภรณ์นฤมิต

สำหรับรูปแบบของกระดูกไก่ที่เลือกมามีด้วยกัน 6 แบบ แต่ละแบบมีความหมายที่น่าสนใจ ได้แก่

จะได้เป็นเศรษฐีในช่วยข้ามคืน ,คนเจ็บป่วยก็จะหาย,ถุงเงินถุงทอง , เจริญก้าวหน้าในอาชีพ,สร้างบ้านใหม่แล้วดี ,มีอำนาจวาสนา เป็นต้น

“ในตำรากระดูกไก่จะมีรูปตัวทายต่างๆเราก็ปรับรูปทรงเหล่านั้นมาเป็นงานดีไซน์

ผมมาคิดว่า บุคคลเหล่านี้เวลาทำนายกระดูกไก่เมื่อเสร็จงานแล้วเขาก็โยนทิ้งไป พอเราศึกษาไปเรื่อยๆเราพบว่ากลุ่มคนไทยก็มีการทำนายกระดูกไก่ แต่เขาบอกว่าเมื่อนับถือศาสนาพุทธแล้วไม่อยากฆ่าไก่ เขาเลยเก็บกระดูกไว้ใช้สำหรับการเสี่ยงทาย

ผมจึงคิดว่าไม่ยากอะไรถ้าวันนี้เราจะเลือกอะไร เลือกสิ่งที่มีความหมายดีงามมาประดับกาย เป็นสิ่งพัฒนาจากเดิมที่ต้องฆ่าไก่เอากระดูกมาดูความหมาย กลายเป็นว่าเก็บกระดูกไก่มาทายความหมายได้ แล้ว

เราก็เอาเครื่องประดับเสี่ยงทายอีกทอดหนึ่ง”

ผลงานวิจัยที่แตกยอดการทำนายกระดูกไก่ออกมาเป็นเครื่องประดับ เริ่มต้นด้วย เข็มกลัด สร้อยคอ และกำลังอยู่ในระหว่างนำไปใช้เป็นลายผ้า และคาดว่าจะมีอีกหลายสิ่งตามมา

“งานวิจัยทางมนุษย์ศาสตร์ ส่วนใหญ่คิดว่าจัดพิมพ์เป็นหนังสือถือว่าสุดยอดแล้ว สำหรับงานวิจัยสมัยนี้มันต้องมีของ ผมเลยทำเป็นตัวอย่างว่าถ้าเราคิดอีกหน่อย ร่วมมือกับนักออกแบบดูสิว่า ถ้าจะมาเป็นงานออกแบบจะเป็นอย่างไรบ้าง อยากให้อาจารย์ที่ทำวิจัยด้านมนุษย์ศาสตร์ออกมาจากมุมบ้าง ไปทำงานร่วมกับคนอื่น งานนี้เป็นตัวอย่างว่าการได้ร่วมงานกับสาขาอื่นนั้นดีมาก”

ใครอยากชมผลงานตามไปชมได้ที่เทศกาลเชียงใหม่ดีไซน์วีค หรือขอชมที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยได้เลย