'ห้องเรียนที่โรงงาน' ปิดโอกาสระราน 'นักเรียน-นักเลง'

'ห้องเรียนที่โรงงาน' ปิดโอกาสระราน 'นักเรียน-นักเลง'

แก้ปัญหาเด็กยกพวดตีกัน! ผุด "ห้องเรียนที่โรงงาน" ปิดโอกาสระราน "นักเรียน-นักเลง"

ความเชื่อจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องที่ส่งต่อความรักความศรัทธาในศักดิ์ศรีของสถาบัน แม้หลายคนจะมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่เรื่องราวเหล่านี้ได้กลายเป็นแรงกระตุ้นให้กลุ่มนักเรียนนักเลงไล่ทำร้าย จนถึงขั้นเข่นฆ่านักเรียนนักศึกษาของสถาบันคู่อริ ทั้งๆ ที่หลายกรณีไม่ได้มีความขัดแย้งส่วนตัวกันมาก่อน

ภาพความสูญเสีย หรือแม้แต่ประชาชนที่ถูกลูกหลงแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว และเสียงร่ำไห้ของผู้เป็นพ่อแม่ ถูกฉายซ้ำวนเวียนคล้ายกับว่า ปัญหานี้ไม่มีทางแก้ไขได้ แม้ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จะเคยผลักดันให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติก็ตาม

แต่ความพยายามในการหาทางออกเพื่อหยุดปัญหานักเรียนนักเลงยังไม่หมดไป โดยเมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจัดงานเสวนาหัวข้อ “มิติใหม่การศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนวิศวกรปฏิบัติการ” ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน หรือที่รู้จักกันในนาม “ช่างกลปทุมวัน” กับสถานประกอบการและโรงงานทั่วประเทศมากกว่า 600 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและวิศวกรระดับปฏิบัติ และที่สำคัญคือการลดปัญหาการยกพวกตีกันของเหล่านักเรียนเลือดร้อน

รศ.ดร.เสถียร ธัญญศรีรัตน์ รักษาราชการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เปิดเผยว่า กำลังเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ โดยทางสถาบันจะมอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนในระดับชั้น ม.6 ปวช. และปวส.จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ระหว่างการเรียนการสอน จะส่งพวกเขาไปเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจริงจากสถานประกอบการตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ถือเป็นการเรียนภาคปฏิบัติ และจะเข้ามาเรียนภาคทฤษฎีแค่วันอาทิตย์เพียงวันเดียว

โครงการนี้จะสามารถผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมออกมา เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานและวิศวกรระดับปฏิบัติการ ซึ่งกำลังเป็นวิกฤติของการพัฒนาประเทศ และที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาการยกพวกตีกันของนักเรียนได้อีกด้วย

“การที่เราเอาเด็กนักเรียนเข้ามาเรียนและทำงานควบคู่กัน ถือเป็นการฝึกวินัยให้กับตัวเด็กเอง ซึ่งเมื่อเขาได้ไปเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานและได้รับค่าจ้าง ก็จะทำให้มีความรับผิดชอบตามมา วันจันทร์ถึงศุกร์เขาจะเรียนรู้งานจากสถานที่จริง มาเรียนภาคทฤษฎีแค่วันอาทิตย์ นั่นก็จะทำให้เวลาว่างของเด็กลดลง ไม่สามารถไปก่อปัญหาและลดภาระให้กับพ่อแม่ด้วย ซึ่งปัญหาการยกพวกตีกันก็จะไม่มีแล้ว” รศ.ดร.เสถียร ระบุ

โครงการนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อลดโอกาสการตีกัน หรือทะเลาะวิวาทกันของนักเรียนช่างกลเท่านั้น แต่ยังต้องการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีประสบการณ์และคุณภาพตรงตามที่ตลาดแรงงานต้องการด้วย โดย นายสุจิ คอประเสริฐศักดิ์ นายกสมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการซึ่งมีเครือข่ายกว่า 600 โรงงานทั่วประเทศ ให้ข้อมูลว่า สถานประกอบการต้องการเด็กที่จบออกมาแล้วสามารถทำงานได้เลย ต้องยอมรับว่าสถาบันการศึกษาในปัจจุบันสร้างเด็กขึ้นมาในอีกวิสัยทัศน์หนึ่ง คือเก่งในภาคทฤษฎี แต่ความต้องการของตลาดแรงงาน เราต้องการอีกแบบหนึ่ง ที่ผ่านมาสถานประกอบการไม่สามารถสื่อสารความต้องการนี้ไปยังสถาบันการศึกษาได้เลย ว่านายจ้างต้องการอะไร

“โครงการนี้ทำให้สถานประกอบการสามารถบอกกับสถาบันการศึกษาได้ตรงๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี และสิ่งที่เด็กเหล่านี้จะได้รับเพิ่มเติมก็คือประสบการณ์การทำงานจริง ซึ่งทางสถานประกอบการก็พร้อมจะรับไปทำงานอยู่แล้ว เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ถึงตัวงานที่เขาจะต้องทำในอีก 20-30 ปีข้างหน้า แต่ถ้าตัวเด็กเกิดไม่ชอบสายงานนี้ ก็จะได้รู้ตัวว่าตัวเองต้องการทำงานอะไรต่อไป” นายสุจิ ระบุ

การปลูกฝังเรื่องอาชีพ ควบคู่กับระเบียบวินัย และความรับผิดชอบต่อสังคมให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ น่าจะช่วยกระตุกความคิดของบรรดานักเรียนนักศึกษาเลือดร้อนได้ เพราะเมื่อพวกเขาได้เรียนรู้หน้าที่ และมีความรับผิดชอบต่อตนเองแล้ว ก็คงไม่ยากที่จะก้าวข้ามทัศนคติแบบผิดๆ ที่เป่าหูกันรุ่นต่อรุ่นเหมือนที่ผ่านมา