ขอนแก่นสไตล์ โมเดลสมาร์ทซิตี้

ขอนแก่นสไตล์ โมเดลสมาร์ทซิตี้

ข้อจำกัดด้านงบประมาณจากรัฐได้จุดประกายแนวคิดให้เกิดรวมตัวของกลุ่มธุรกิจ “ขอนแก่นพัฒนาเมือง ”ระดมทุนเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาเมืองอย่างเป็นรูปธรรม

ข้อจำกัดด้านงบประมาณจากรัฐได้จุดประกายแนวคิดให้เกิดรวมตัวของกลุ่มธุรกิจ “ขอนแก่นพัฒนาเมือง ” (เคเคทีที) ระดมทุนเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาเมืองอย่างเป็นรูปธรรม นำร่อง “สมาร์ทบัส” รถไฟฟ้ารางเบามาใช้ในระบบขนส่งสาธารณะ รองรับการเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน


สองแถวสู่รถไฟฟ้ารางเบา


9 ปีที่ผ่านมา “ขอนแก่นพัฒนาเมือง” เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมและกลายเป็นเครือข่ายการพัฒนาเมืองขอนแก่น ภายใต้แนวคิดการสร้างความยั่งยืนบนพื้นฐานของ Triple Bottom Line ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่าง 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ซึ่งประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ ได้แก่ สมาร์ทโมบิลิตี้ สมาร์ทเอเนอร์ยี สมาร์ทบิวล์ดิง สมาร์ทเอนไวโรเมนต์ สมาร์ทอิโคโนมี สมาร์ทคอมมูนิตี สมาร์ทกอฟเวอร์แนนซ์และสมาร์ทอินโนเวชัน


นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง กล่าวว่า หลังจากศึกษาดูงานในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ได้นำมาประยุกต์ใช้กับขอนแก่น เริ่มจากMobility Drives City ระดมทุน 200 ล้านบาท ล่าสุดร่วมมือกับ 5 เทศบาลจัดตั้งบริษัทขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (เคเคทีเอส) ซึ่งได้รับการอนุมัติ จากกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้แนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนให้ผสมผสานระหว่างศูนย์พานิชยกรรม ร้านค้า ที่พักอาศัย แหล่งงาน เพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสารและการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนที่สะดวกสบาย


“เริ่มต้นจากรถบัสโดยสาร ที่ผ่านมาขาดทุนเดือนละ 1.35 แสนบาท แต่จากปีหน้าจะเริ่มมีกำไร หากที่ผ่านมาไม่ทำก็จะไม่เกิด เนื่องจากขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการขยายตัวรวดเร็ว จึงมีปัญหาการกระจายตัวของชุมชน การเสื่อมโทรมของ เมืองเก่า มีการใช้รถส่วนตัวมากขึ้นส่งผลต่อปัญหาจราจร สิ่งแวดล้อมและด้านอื่นๆ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้ารางเบา ( LRT ) สมาร์ทบัส ทดแทนจากเดิมที่ใช้บริการรถสองแถวและรถตู้”


จากแก้ปัญหาด้วยการคิดนอกกรอบ กลายเป็นแผนพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ ที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากภาครัฐ เอกชนและต่างประเทศ หลังจากที่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้การเดินทางสะดวกสบาย ส่งผลให้เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวดีขึ้น เพราะวัตถุประสงค์ของโมเดลธุรกิจการพัฒนาเมือง ไม่ใช่กำไร แต่เป็นการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานในสิ่งที่เมืองจำเป็นต้องมี 
ผลประโยชน์ทางจากการพัฒนาเมือง จะทำให้การค้าดีขึ้น ได้รับความสนใจจากนักลงทุน ราคาที่ดิน อสังหาขยับเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจให้เกิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์คนท้องถิ่นด้วยตนเอง แทนที่จะรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ส่งผลให้เมืองน่าอยู่ขึ้นทั้งด้านสุขภาพ สังคม การศึกษา รวมถึงการท่องเที่ยว และการเป็นเมดิคัลฮับ


“ดิสรัปชัน” เคลื่อนประเทศ


อย่างไรก็ตาม หนึ่งในแผนการระดมทุนในอนาคตคือ การนำเคเคทีเอสเข้าตลาดหลักทรัพย์ใน 7-8 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีมูลค่า 7 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างความเข้มแข็งในภาคการเงินท้องถิ่น ให้สามารถเดินต่อไปได้เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น อเมริกา เยอรมนี เมื่อทุนท้องถิ่นเข้มแข็งจะช่วยเศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้น ด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด (จีพีพี) ใกล้เคียงประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 12 ปีและ เพิ่มจีพีเอช (Gross Personal Happiness) ของจังหวัดให้ได้เท่ากับเมืองน่าอยู่โดยเทียบจากเมืองอันดับ 1 ใน 5 ของโลก 
นายสุรเดช กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ให้เกิดความสร้างสรรค์ ทำให้เกิด ขอนแก่นโมเดล ซึ่งมาจาก ทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรม เน้นความเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรมเกิดขึ้นจากการแพร่กระจายของสิ่งใหม่จากสังคมหนึ่งไปยังอีกสังคมหนึ่งและสังคมนั้นรับเข้าไปใช้ โดยสิ่งใหม่นี้ คือ นวัตกรรมซึ่งเป็นทั้งความรู้ ความคิด เทคนิควิธีการและเทคโนโลยีใหม่


“สิ่งที่พวกเราทำเป็นอินโนเวชันของประเทศ ขยับมาจาก Innovators มาอยู่ในขั้น Early Adopters ต้องพยายามข้ามหุบเหวแห่งความล้มเหลว เพื่อก้าวมาสู่ Majority จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยบริษัทพัฒนาเมืองข้ามหุบเหวนี้ให้ได้ ตอนนี้แค่เห็นฝั่งแต่ยังไม่ก้าวข้ามไปไม่ได้”