ระเบิดพลัง สำนักข่าวบ้านเรา

ระเบิดพลัง สำนักข่าวบ้านเรา

อุบัติเหตุ หมาหาย เตือนภัย ร้านไหนอร่อยฯ คุยกับใครก็ไม่ถูกใจเท่าคนบ้านเดียวกัน พลังโซเชียลของท้องถิ่นจึงถูกยกระดับชนิดสื่อกระแสหลักยังต้องจับตา

นอกเหนือไปจากเพจจำพวก ‘เจอด่านบอกด้วย’ ที่ดูจะฮิตเหลือเกินตามท้องที่ต่างๆ วันนี้ ถ้าใครลองพิมพ์คำว่า “ข่าว” ในช่องค้นหาบนเฟซบุ๊ค ถัดจากเพจสื่อหลักมากมายที่คุณจะเจอแล้ว ที่มาแรงอย่างน่าจับตาก็คือ เพจข่าว รวมถึงการตั้งกลุ่มบนเฟซบุ๊คของคนในท้องถิ่นที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น และมาแรงชนิดที่ว่า พื้นที่ไหนไม่มี..ถือว่าเอาท์!

ด้วยฐานสมาชิกจำนวนมาก ไล่ตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน สิ่งที่ตามมาก็คือ การไหลบ่าของข่าวสารจากไม่ว่าจะเรื่องดี เรื่องร้าย จะร้องเรียนอะไร นักข่าวกิตติมศักดิ์พร้อมแล้วที่จะรายงาน

  • มีข่าว บอกด้วย

วัตถุประสงค์หลักของทุกเพจหรือกลุ่มข่าวท้องถิ่นต่างๆ แน่นอนว่า เรื่องแรกคือการเป็นพื้นที่กระจายข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ อย่างเช่นกลุ่ม “ข่าวจาวเจียงฮาย News V.2” (สมาชิก 82,679 ราย) รวมถึงเพจ “ฮักแม่สาย” เพจระดับอำเภอที่มีแฟนติดตามกว่า 58,000 ราย พ่วงด้วยกลุ่ม ชุมชนคนแม่สายร้านอร่อย@แม่สาย และ งานแม่สาย บนเฟซบุ๊ค 

ทั้งหมดมี ณรงค์ ใจตารักษ์ หรือ ‘อ้ายรงค์’ เป็นหนึ่งในทีมงานแอดมิน

อ้ายรงค์เล่าว่า เพจฮักแม่สายเกิดขึ้นก็เพราะต้องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร แหล่งท่องเที่ยว การขอความช่วยเหลือ ร้องเรียนหน่วยงานรัฐ ประกาศติดตามคนหาย สัตว์เลี้ยงหาย ฯลฯ ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในอำเภอแม่สายสามารถพูดคุยกันได้ที่เพจนี้โดยไม่มีการรับโฆษณาใดๆ ทั้งสิ้น

“ในส่วนข่าวสาร เราก็จะแชร์จากสำนักข่าวหลักที่เขามีนักข่าวรายงานจากในพื้นที่อยู่แล้ว แต่จะคัดกรองด้วยอีกหนึ่งชั้น เพราะบางข่าว ผู้ที่ถูกพาดพิงซึ่งเป็นคนในพื้นที่อาจได้รับความเสียหายทั้งๆ ที่ยังไม่มีใครรู้ความจริง เราก็จะไม่เอามาแชร์ นอกจากนี้ เราก็ยังทำหน้าที่อัพเดทข่าวที่สื่อหลักรายงานแล้วไม่ได้อัพเดทต่อด้วย” อ้ายรงค์อธิบาย

ความแตกต่างของข่าวสารระหว่างบนเพจกับในกลุ่ม อ้ายรงค์บอกว่า หลักๆ ไม่ต่างกัน ยกเว้นการแจ้งเรื่องร้องเรียน

ถ้าเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงหรือเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล ผู้ร้องจะไม่อยากเปิดเผยตัวตน และเลือกวิธีหลังไมค์มาที่เพจเพื่อแจ้งเบาะแส แต่ถ้าเป็นข่าวสารหรือการร้องเรียนทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่จะเข้าไปเขียนในกลุ่ม เพราะสมาชิกโพสต์ขึ้นได้เลย ไม่ต้องรอให้คนมาอนุมัติ

นอกจากเฟซบุ๊คแล้ว ไลน์กรุ๊ปก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ชาวเจียงฮายใช้กันเยอะ โดยเฉพาะสว.ทั้งหลาย ที่จะถนัดเล่นไลน์มากกว่าเฟซบุ๊ค

“คนเชียงรายเล่นไลน์เยอะมาก โดยเฉพาะคนแก่ เราก็เลยเปิดกรุ๊ปไลน์ด้วย ตอนนี้มีอยู่ 7 กลุ่ม เพราะไลน์เขาจำกัดจำนวนสมาชิกกลุ่มหนึ่งห้ามเกิน 500 คน ก็เลยต้องเปิดหลายกลุ่ม” โดยนอกจากข่าวสารแล้ว ที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับกรุ๊ปไลน์ก็คือ ข้อความสารพัดสวัสดีที่สมาชิกส่งกันไม่มีเว้น

ถามถึงนโยบายการคัดเลือกคอนเทนต์ นอกจากจะไม่ให้กระทบหรือเสื่อมเสียกับบุคคลอื่นแล้ว เพจทั้งหมดที่เขาดูแล จะไม่ยุ่งเรื่องการเมือง ไม่รายงานเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง แวดวงยาเสพติดฯ เพื่อความปลอดภัยของทีมงานทุกคนซึ่งทำด้วยใจกันทั้งนั้น

  • ยกระดับข่าวชาวบ้าน

เมื่อถามแอดมินเพจ “คนข่าวบางปะกง” ที่ขอไม่เปิดเผยชื่อด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย เขาเล่าให้จุดประกายฟังว่า ทำเพจนี้ด้วยใจล้วนๆ แม้จะมีรับโฆษณาข่าวประชาสัมพันธ์บ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมาย โดยเฉพาะไม่ได้คุ้มอะไรกับการเสี่ยงตายจนโดนลูกหลงเป็นกระสุนเลยก็ยังมี

“ล่าสุดนี่เพิ่งโดนฟ้องเลยครับ ผมไปไลฟ์สดที่บ้านหลังหนึ่ง เขาเสียหายจากผู้รับเหมาที่ไม่ได้คุณภาพ เราก็ไปรายงานอย่างที่เห็น ไม่ได้เอ่ยชื่อผู้รับเหมาด้วยซ้ำ ปรากฏว่า เขามาฟ้องผม” เจ้าตัวเล่าถึงงานที่ทำ ที่นอกจากจะไม่รวยแล้ว ยังมีแต่เรื่องที่เข้ามา

เดิมที แอดมินฯ เคยเป็นกู้ภัยมา 20 ปีก่อนจะเปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักข่าวสายบู๊ประจำพื้นที่ฉะเชิงเทราให้กับสำนักข่าวหลักรายใหญ่ของเมืองไทย ทั้งสองเหตุผลประกอบกันทำให้เขาสามารถเข้าถึงที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็วกว่าคนอื่น

จากที่เคยเป็นลูกเพจ ตามเพจอื่นๆ ในพื้นที่ เขาก็เริ่มคิดกับภรรยาว่า อยากจะทำเพจรายงานข้อมูลข่าวสารของบางปะกงบ้านเกิดด้วยตัวเองบ้าง

“จุดเริ่มต้นที่เจอกับตัวก็คือ คนรู้จักประสบอุบัติเหตุ แต่ตามหาตัวไม่เจอ จึงต้องประกาศตามหา และคิดว่า ถ้ามีศูนย์กลางการกระจายข่าวที่ทุกคนเข้าถึงได้ก็คงจะดี”

หลังเปิดเพจเมื่อต้นปี 59 มาถึงวันนี้ เขายอมรับว่า มาไกลกว่าที่คิด โดยปัจจุบันมีคนกดติดตามทะลุ 190,000 รายเรียบร้อยแล้ว

“จุดที่เริ่มให้คนมาตามเพจเยอะ คือตอนที่ผมรายงานเรื่องแก๊งใบกล้วยรุมทำร้ายเด็กวัยรุ่นเสียชีวิตในวันสงกรานต์ จากข่าวนั้นข่าวเดียว คนกดติดตามเพิ่มขึ้นเป็นหมื่น แล้วต่อมาผมก็รายงานข่าวงูเหลือมโผล่จากโถส้วมกัดเจ้าโลก ก็มีสื่อหลักๆ เอาข่าวไปใช้เยอะมาก คนก็มาตามเพจผมเพิ่มขึ้นอีก” เขาเล่าถึงความโดดเด่นของข่าวในเพจคนข่าวบางปะกง ที่อย่างแรก คือ เป็นข่าวที่เขาทำเอง ไม่ได้นั่งเทียนหรือลอกชาวบ้านมา

“จุดขายเรื่องข่าวแปลกๆ ด้วยนะครับ อย่างข่าวงูในโถส้วมนี่คนอ่านเยอะมาก แล้วผมก็จะเอาข่าวแปลกๆ จากต่างประเทศมาลงด้วย” เขาอธิบายถึงสไตล์ข่าวของเพจที่ตนเองดูแล

ยิ่งเมื่อมีฐานแฟนๆ ติดตามเยอะมากขึ้น แน่นอนว่า การแจ้งเบาะแส รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประโยชน์ก็เป็นเหมือนสปริงบอร์ดให้เพจยกระดับจากการรายงานข่าวมาสู่การเป็นชุมชนการเตือนภัย แจ้งเบาะแส รับเรื่องร้องเรียนของชาวบ้าน โดยเฉพาะช่วยกระทุ้งหนักๆ ไปยังเจ้าหน้าที่รัฐได้อีกด้วย

“ก็มีตั้งแต่การถามหากล้องวงจรปิดเพื่อไปเป็นหลักฐานต่างๆ รับแจ้งเบาะแสจากพลเมืองดี จนถึงการกระทุ้งให้เจ้าหน้าที่ตื่นตัวในการทำงานด้วย ตอนหลังนี่ ตำรวจในพื้นที่ติดตามเพจผมหมดละครับ เพราะเขาก็ต้องรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง” เขาเล่า

แม้จะบอกว่าทำด้วยใจ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธหากจะมีรายได้ เพียงแต่สิ่งที่ตั้งใจไว้ อย่างไรแฟนเพจต้องมาก่อน

  • สื่อใหม่ บทบาทเดิม

แม้จะถูกจัดหมวดให้อยู่ในโลกออนไลน์ แต่สถานะ “สื่อ” ที่เพจเหล่านี้ได้รับและถูกคาดหวังโดยแฟนเพจเรือนหมื่นเรือนแสน แน่นอนว่า “ความรับผิดชอบ” ก็ต้องมาพร้อมกัน

สำหรับ ทนายโจ-อัครพล เถื่อนผึ้ง หนึ่งในทีมแอดมิน กลุ่มข่าวคนโคราชบ้านเอ็ง ที่มีสมาชิกกว่า 450,000 ราย ให้ข้อมูลกับจุดประกายว่า เดิมทีพวกเขาก็ติดตามข่าวคราวของโคราชในกลุ่มข่าวที่บริหารโดยสื่อมวลชนสำนักหนึ่ง แต่ตอนหลังเจอปัญหามีเรื่องพาดพิงไปยังลูกค้าของสำนักข่าวนั้นจนทำให้เสียงเรียกร้องของชาวบ้านถูกไล่ลบ ถูกบล็อกโพสต์ไปก็มี 

กลุ่มข่าวคนโคราชบ้านเอ็ง จึงถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับจุดยืนที่ว่า จะไม่มีการรับโฆษณาโดยเด็ดขาด เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการรับเรื่องร้องเรียนได้อย่างโปร่งใส

“เราอยากเป็นสื่อกลางของข่าวสาร และสร้างชุมชนที่ช่วยเหลือกัน อย่างมีคนรถเสียกลางเขา พอโพสต์ขอความช่วยเหลือมาในกลุ่ม ก็มีคนเข้าไปให้การช่วยเหลือ ซึ่งแรกๆ กลุ่มข่าวเราก็เน้นการลงข่าวประชาสัมพันธ์หน่วยงานราชการ รายงานอุบัติเหตุ หรือกู้ภัยที่เป็นสมาชิก พอเขาลงพื้นที่ไปทำงานก็โพสต์ภาพรายงานเข้ามา แต่ตอนหลังเริ่มมีส่วนร่วมกันมากขึ้น มีการพูดคุยกัน อะไรที่ไม่เหมาะสมสมาชิกก็จะแจ้งเตือนกันเอง”

แม้จะเป็นชุมชนที่เปิดให้สมาชิกโพสต์ข้อความด้วยตัวเองได้ แต่พวกเขาก็มีกฎเหล็ก ข้อห้ามเด็ดขาด เช่น ห้ามโพสต์ขายของ ห้ามเปิดรับบริจาคโดยไม่ได้รับการตรวจสอบจากแอดมิน ห้ามโพสต์หาคู่ ฯลฯ ซึ่งในหมู่สมาชิกจะร่วมด้วยช่วยกันตรวจสอบ ถ้าเจออะไรที่ผิดกฎก็จะรีพอร์ตให้แอดมินตรวจสอบ และช่วยกันดูแล จากกลุ่มข่าวจึงยกระดับสู่การเป็นชุมชนออนไลน์ที่ให้ความช่วยเหลือกัน

“เมื่อก่อนเราเคยคัดกรองคอนเทนต์ก่อนจะปล่อยขึ้นในกลุ่ม ซึ่งมันก็ดีในแง่ของความถูกต้องของข้อมูล แต่สำหรับในกรณีขอความช่วยเหลือ มันไม่ทันการณ์ ตอนหลังเราเลยต้องปล่อยให้โพสต์ขึ้นได้เลย เพราะอย่างไรชีวิตคนก็รอไม่ได้ จึงต้องอาศัยแอดมินที่มีอยู่สิบกว่าคนช่วยกันสอดส่องความเหมาะสมของข้อความ เพราะคน 4 แสนคน ปัญหามันเกิดทุกวัน ใครอยากโพสต์อะไรก็โพสต์ มันก็เป็นดาบสองคม

มีคดีฟ้องหมิ่นประมาทจากข้อความที่โพสต์กันในกลุ่มนี่มีเป็นร้อยคดีเลยนะครับ เพราะบางคนเขาฉวยโอกาสที่คนเห็นเยอะ อยากจะด่าใครก็มาเขียนด่าในนี้ ซึ่งผู้เสียหายก็ไปฟ้องร้องกัน อีกเรื่องที่เป็นดาบสองคม คือ บางคนก็ไปส่องรูปสมาชิกคนอื่นๆ เห็นว่า สวย บางทีก็ส่งข้อความไปคุกคามทางเพศ อันนี้ก็น่าเป็นห่วง และเราพยายามจัดการปัญหาให้เร็วที่สุด”

ความเข้มแข็ง และเสียงที่ดังมากขึ้นของชุมชนออนไลน์แห่งนี้ ส่งผลให้แม้แต่ภาครัฐก็ยังต้องคอยติดตาม จนหลังๆ เมื่อเกิดเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทำงาน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็จะรีบจัดการแก้ไขอย่างรวดเร็วมากขึ้น

“บางคนมาโพสต์บ่นหอนาฬิกาทำไมสกปรก วันรุ่งขึ้นก็มีเจ้าหน้าที่มาทำความสะอาดเลย”

หรือแม้แต่ข่าวที่เคยดังระดับประเทศ สื่อทุกสำนักต่างก็เกาะติดอย่างข่าวครูปาแก้วใส่เด็กนักเรียนหญิงนั้น ก็คือหนึ่งในแรงกระเพื่อมที่เกิดจากกลุ่มข่าวนี้ด้วยเช่นกัน

ขึ้นชื่อว่า “สื่อ” แม้จะอยู่ออนไลน์หรือออฟไลน์ ภาระหน้าที่อย่างไรก็ไม่ต่างกัน สื่อชุมชนในโลกใหม่อย่างพวกเขาจึงยินดีไม่น้อยที่ได้เป็นเฟืองหนึ่งในการสร้างสังคมให้น่าอยู่มากขึ้น