ปลดล็อคปัญหาสังคม ‘โซเชียล อินโนเวชั่น’

ปลดล็อคปัญหาสังคม ‘โซเชียล อินโนเวชั่น’

ไอเดียธุรกิจเกิดใหม่ที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนเป็นอีกคลื่นใหม่ที่น่าจับตามอง ไม่เพียงการทำธุรกิจเพื่อหวังกำไรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีอีกกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองว่า “สังคม” และ “ธุรกิจ” เดินไปด้วยกันได้

“ปัญหา” ในสังคมแก้ได้ด้วย “ไอเดีย+นวัตกรรม”

สะท้อนแนวคิดและการทำงานของคนรุ่นใหม่จากเวทีโครงการประกวดผลงานนวัตกรรม “Thailand Social Innovation Platform” ที่จัดโดยสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) โดยทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้การสนับสนุน เป็นอีกหนึ่งโครงการประกวดที่เปิดกว้างให้นวัตกรไทยได้นำเสนอผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม อีกทั้งร่วมผลักดันให้เกิดการสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและสตาร์ทอัพไทย

จาก 60 ทีมที่เข้าร่วมนำเสนอแผนงานมี 6 ทีมที่มีผลงานโดดเด่นและสามารถต่อยอดนวัตกรรมสู่การสร้างธุรกิจได้ ภายใต้รางวัล “Social Enterprise New Gen Awards” โดย ทรู อินโนเวชั่น และทรู อินคิวบ์ มอบรับเงินสนับสนุนทีมละ 200,000 บาท พร้อมโอกาสได้เข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะ ได้แก่ 1. ทีม Yala Icon นวัตกรรมเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจของเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

2. ทีม M-Pow การนำ AR Code มาใช้เพื่อเล่าเรื่องราวและที่มาของผลิตภัณฑ์ฝีมือชาวเขาสู่ผู้บริโภค

3. ทีม Grow แพลตฟอร์มช่วยวิเคราะห์ทางการเงินเพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถบริหารจัดการการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ทีม Blind Theater การใช้การแสดงเพื่อดึงพรสวรรค์และช่วยส่งเสริมการสื่อสารของผู้พิการทางสายตา

5. ทีม Open Curriculum แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีการสอนของครู เพื่อพัฒนาการศึกษา

และ 6. ทีม Handican นวัตกรรมเพื่อช่วยผู้พิการหางานที่เหมาะสม

ทีม Handican เป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขา Design, Business & Technology Management คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ร่วมกันคิดโครงงานจากวิชาในห้องเรียนแล้วต่อยอดมาเป็นโปรเจ็ค

ทีมนี้ประกอบด้วย นันทัชพร พิธุพันธ์ , รชต กฐินทอง , ภากร แสงชัยลาภวัฒนา ,อริศรา วงษ์มีมา, ณัฐชยา เมฆเมือง , ภูเบศ วังตาล , ชญาณ์นันท์ อานนท์ไพฑูรย์ , ณัฐวรี บุญชะลักษี , อารดา ทองแถม ณ อยุธยา , ภาณุพล เกียรติตั้ง และ ณัฐชลัยย์ ลีลาประภากร

Handican แพลตฟอร์มกลางทำหน้าที่แมทชิ่งงานระหว่าง “แหล่งพัฒนาทักษะผู้พิการ” กับ “หน่วยงานที่ว่างจ้าง”

ไอเดียเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ในวันที่อาจารย์ชาวต่างชาติเดินมาถามว่า หากต้องการจ้างผู้พิการมาทำงานต้องติดต่อใคร และที่ไหน

“ซึ่งในตอนนี้ แม้ว่าเราเป็นคนไทยแต่ก็ให้คำตอบไม่ได้” นันทัชพร พิธุพันธ์ หนึ่งในทีม Handican กล่าว

จากนั้นก็เริ่มสนใจและได้ทำการศึกษาก็พบว่า ในไทยมีคนพิการอยู่ที่ 1.8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นวัยทำงาน 800,000 คน แต่มีการจ้างงานจริงๆ แค่เพียง 30% เท่านั้น

จากการศึกษาทำให้พบว่ามี 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ Ability , Accessibility และ Attitude

Ability ทำอย่างไรที่จะให้คนกลุ่มนี้มีทักษะการทำงานที่เพิ่มขึ้น จากนั้นเป็นเรื่องของการเข้าถึงแหล่งงานได้มากขึ้น และทัศนคติ

โซลูชั่นที่ทางทีมมองไว้คือ การพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นแพลตฟอร์มกลางในการทำงานร่วมระหว่างแหล่งงานกับแหล่งพัฒนาทักษะผู้พิการ

ถึงตอนนี้ แม้จะมีศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการที่สถาบันต่างๆ ดำเนินการและอยู่กระจายไปในแต่ละจังหวัด แต่เมื่อเทรนนิ่งจบแล้วก็ไม่รู้จะไปตรงไหนต่อ ทางทีมเลยมีแนวคิดพัฒนาเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อเป็นเว็บกลางสำหรับแหล่งงานและแหล่งเทรนนิ่ง

โดยเป้าหมายของเราคือการให้กลุ่มที่มีทักษะแล้ว ได้งานทำ แล้วไปสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้พิการกลุ่มอื่นๆ

“เงินสนับสนุนที่ได้รับจากทรูจะนำไปใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์ โดยอยากจะให้แพลตฟอร์มนี้มีส่วนช่วยให้ชีวิตคนพิการดีขึ้น”

Yala Icon เป็นอีกทีมที่มองปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นว่าสามารถแก้ได้หากใช้นวัตกรรมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ

ทีมนี้ประกอบด้วย เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ ,ร้อยตำรวจเอกณัฐไชยเฉลิม วงศ์ใหญ่ ผู้ร่วมทีม, อาลิซ่า สาเมาะ , พัดลี โตะเดร์ และ สุไลมาน เจะอุบง ที่ต่างก็มองว่าสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นได้หากใช้เครื่องมือและแนวทางที่เหมาะสม

“เราอยากเห็นการสร้างนวตักรรมเพื่อเปลี่ยนเมือง เพื่อให้เกิดสันติภาพด้วยนวัตกรรมจากความร่วมมือของคนในชุมชน” สุไลมาน เจะอุบง ตัวแทนจากทีม Yala Icon กล่าว

ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ที่สั่งสมมาเป็นเวลานานส่งผลโดยตรงต่อภาวะจิตใจของ เด็กที่มีอาการซึมเศร้าและสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวจากการขาดผู้นำอันเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรง

“แม่ของเด็ก เมื่อสูญเสียหัวหน้าครอบครัวก็ไม่มีรายได้ ปัญหาต่างๆ ก็ตามมา ลูกไม่ได้เรียน ไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิต ดังนั้นมองเรื่องการสร้างอาชีพและการดึงเอาศิลปะมาเป็นเครื่องมือในการสร้างสังคมสันติภาพและรายได้ให้กับชุมชน

ศิลปะจะเป็นตัวเชื่อมให้คนในสังคมเกิดการสื่อสาร โดยที่ศิลปะนี้ ไม่ใช่แค่ศิลปะบนกระดาษเท่านั้น แต่เป็นพัฒนาเป็นโปรดักท์ และดีไซน์ที่สามารถสร้างรายได้”

Yala Icon เป็นแบรนด์ และสัญลักษณ์ของการทำงาน สุไลมาน บอก ต้องเริ่มจากยะลาเป็นโมเดลนำร่อง หาสำเร็จจะพัฒนาต่อไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะจังหวัดภาคใต้เท่านั้น เพราะทุกจังหวัดในประเทศไทยล้วนมีปัญหา เพียงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างกัน

ในกระบวนการทำงานจะมีการดึงคนรุ่นใหม่ในพื้นที่มาร่วมทำการอบรมและพัฒนางานศิลปะ บางชิ้นงานต่อยอดเป็นโปรดักท์ ขาย และสร้างเงิน โดยมีกลุ่มแม่บ้านมากฝีมือด้านศิลปะคอยทำหน้าที่ผลิต

บางชิ้นงานของน้องๆ แม้จะไม่ได้พัฒนาต่อเป็นโปรดักท์แต่ผลบวกทางอ้อมเกิดขึ้นแล้วจากงานศิลปะที่ได้ลงมือนั้นได้ส่งผลต่อการพัฒนาทางอารมณ์ และมุมมองชีวิตที่เปลี่ยนไป

ในตอนนี้เครือข่ายการตลาด และ ดีไซน์ สำหรับ Yala Icon เรียกว่าพร้อมและสามารถผลิตจำหน่ายได้จริง สร้างรายได้กลับสู่ชุมชน ขณะที่ทุนที่ได้รับจากโครงการนี้จะนำไปใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์ สร้างช่องทางการขายในยุคดิจิทัลให้กับสินค้า