Human Flow สารคดีผู้ลี้ภัยพลัดถิ่นใน23ประเทศทั่วโลก

Human Flow สารคดีผู้ลี้ภัยพลัดถิ่นใน23ประเทศทั่วโลก

ภาพยนตร์เรื่อง Human Flow สารคดีชิ้นเยี่ยมถ่ายทอดชีวิตผู้ลี้ภัยพลัดถิ่นใน 23 ประเทศทั่วโลก สะท้อนมุมมองมนุษย์ที่มีต่อมนุษย์ และเข้ากับสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน ผลงานการสร้างสรรค์ของ "อ้าย เว่ย เว่ย" ผู้กำกับภาพยนตร์ ศิลปิน และนักรณรงค์ผู้โด่งดัง

บทสัมภาษณ์พิเศษในโอกาสที่ภาพยนตร์เรื่อง Human Flow สารคดีชิ้นเยี่ยมถ่ายทอดชีวิตอันน่าเหลือเชื่อของผู้ลี้ภัยพลัดถิ่นใน 23 ประเทศทั่วโลก สะท้อนมุมมองมนุษย์ที่มีต่อมนุษย์ และเข้ากับสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน ผลงานการสร้างสรรค์ของ "อ้าย เว่ย เว่ย" ผู้กำกับภาพยนตร์ ศิลปิน และนักรณรงค์ผู้โด่งดัง ได้รับเลือกเป็นภาพยนตร์ที่ฉายเปิดเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 7 หรือ The 7th Refugee Film Festival ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 7- 10 ธันวาคม 2017 ณ โรงภาพยนตร์ พารากอน ซีนีเพล็กซ์

โดยมีผู้ให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ ได้แก่ อวิกา เตชะรัตนประเสริฐ รองประธานกรรมการ สายงานการตลาด บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้นำเข้าภาพยนตร์เรื่อง Human Flow อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย

UNHCR คืออะไร
อรุณี: UNHCR เราเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ ซึ่งสหประชาชาติมีหน่วยงานประมาณ 30 หน่วยงาน โดยแต่ละหน่วยงานจะดูแลกลุ่มคนที่ยากลำบากแตกต่างกันออกไป ซึ่ง UNHCR จะดูแลในส่วนของผู้ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยคือเขาถูกบังคับให้ออกจากประเทศตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจาก สงครามความขัดแย้ง โดนไล่ฆ่า โดนทรมานต่างๆนาน ซึ่งเขาไม่ได้อยากจะมา

ทำไมถึงต้องจัดเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 7 หรือ The 7th Refugee Film Festival
อรุณี: เรื่องของผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องคนไทยมักจะบอกว่าไกลตัว แต่ถ้าถามคนที่ทำงาน UNHCR ที่ใกล้ตัวมากเพราะเราได้สัมผัสเขา เราได้เห็นความเป็นคนที่มีอยู่ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้คนได้ใกล้ชิด คือภาพยนตร์ เราเชื่อในพลังของภาพยนตร์ เรื่องผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องที่ไม่สามารถบอกกันได้ผ่านสื่อง่ายๆหรือการอ่านเพียงแค่ไม่กี่ประโยค แต่พอเวลาเป็นหนังเราเหมือนพาคนได้เข้าไปอยู่ในชีวิตและประสบการณ์ของผู้ลี้ภัยจริงๆเลย ในปีทีเราต้องขอบคุณทางสหมงคลฟิล์มที่สนับสนุนหนังด้วยกัน 2 เรื่องคือ Human Flow ซึ่งเป็นหนังไฮไลท์ของเทศกาลเลย ซึ่งตรงกับคอนเซ็ปของเทศกาลในปีนี้ เพราะจริงๆแล้วสิ่งที่เราอยากจะบอกคือผู้ลี้ภัยไม่ใช่ตัวเลขผู้ลี้ภัยมีเลือดเนื้อและจิตใจเหมือนกับเราทุกคน ซึ่ง Human flow พยายามจะสื่อในมุมนี้ และอีกเรื่องคือ The Zookeeper's Wife

ทำไมต้องเป็น Human flow ทำไมถึงตัดสินใจเลือกภาพยนตร์เข้ามาฉายในประเทศไทย
อวิกา: ภาพยนตร์เรื่อง Human flow จริงๆแล้วตัวภาพยนตร์ประเด็นของหนังพูดถึงเรื่องของผู้ลี้ภัย ซึ่งมองว่าประเด็นผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นที่วิกฤตและเป็นสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยอยู่ 65 ล้านคน จริงๆอย่างพวกเราเองปัญหานี้อาจจะเห็นข่าวบ่อยๆแต่อาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆแล้ว อย่าง Human flow พูดเรื่องของผู้ลี้ภัยมันคือเรื่องของมนุษย์กับมนุษย์ มันพูดถึงเรื่องของมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน ซึ่งจริงๆทุกๆคนควรจะทำความรู้จักและทำความเข้าใจ เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาของมันได้ มันอาจจะทำให้เกิดแอคชั่นบางอย่างที่เราในฐานะมนุษย์ด้วยกันจะช่วยเหลือ หรือ ทำให้สถานการณ์หรือเหตุการณ์นี้คลี่คลายได้ดีขึ้น และภาพยนตร์เรื่อง Human flow มีความน่าสนใจ คือผู้กำกับซึ่งก็คือ คุณอ้าย เว่ย เว่ย ซึ่งเขาเป็นศิลปินชาวจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก และเป็นเหมือนกับผู้ทรงอิทธิพลกับคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่แล้วผ่านความคิดและมุมมองของศิลปินอย่างคุณอ้าย เว่ย เว่ย เนี่ย มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เป็นการเอาประเด็นที่ค่อนข้างซีเรียสและอาจจะไกลตัวทำให้ดูใกล้ตัวขึ้น และสื่อสารในเชิงของศิลปะที่ทำให้ดูง่ายขึ้น

ความยากลำบากของ อ้าย เว่ย เว่ย ในการถ่ายทำ
อวิกา: ในภาพยนตร์เรื่อง Human flow ในเชิงของการทำงาน คุณอ้าย เว่ย เว่ย เขาใช้เวลาในการทำงานกับโปรเจคนี้ประมาณ 2 ปี เก็บข้อมูลประมาณ 1 ปี และเดินทางสำรวจชีวิตโดยเดินทางเข้าไปหากลุ่มผู้ลี้ภัย ใน 23 ประเทศ ทั้งหมดประมาณ 40 กว่าแคมป์ผู้ลี้ภัย และอ้าย เว่ย เว่ย เขาได้สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยจริงๆประมาณ 600 คน และถ่ายฟุตเทจมาความยาวประมาณ 900 ชั่วโมง คัดลงมาเป็นหนังความยาวประมาณ 2 ชม.ครึ่ง ทั้งหมดจะทำให้เราได้เห็นการสำรวจชีวิตจริงๆและเราจะได้เห็นภาพที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เขาได้เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถเก็บภาพมาได้และนำเสนอผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ จริงๆเรื่องนี้จุดที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือการถ่ายภาพ เนื่องจากได้ตากล้องที่มีชื่อเสียง 12 คน หนึ่งในนั้น คือ คริสโตเฟอร์ ดอยส์ ซึ่งเป็นช่างภาพที่คนไทยคุ้นเคย เพราะทำงานกับ หว่อง กาไวมาหลายๆเรื่อง เป็นหนังที่ผสมศิลปะเข้าไปในการนำเสนอ สอดแทรกประเด็นที่เชื่อว่าทุกคนดูแล้วต้องเกิดความคิดที่อยากจะทำอะไรสักอย่างนึง

อรุณี: อย่างหนึ่งที่อ้าย เว่ย เว่ยต้องการจะสื่อในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ วิกฤติตอนนี้เป็นวิกฤติในช่วงเวลาของเราทุกคน แต่เขาอยากจะให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเห็นวิกฤติตรงนี้และในช่วงต่อๆไปเขาจะเป็นคนที่ลงมือทำอะไรเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ลี้ภัย เดี๋ยวเราจะมีงานเปิดซึ่งภาพยตร์เรื่องนี้จะเป็นหนังฉายเปิดเทศกาล ในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 นอกเหนือจาก Human Flow ทางสหมงคลฯก็ให้ความกรุณากับเราในเรื่อง The Zookeeper's Wife ด้วยซึ่งเรื่องนี้ จะพาเราไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2


อยากให้เล่าถึงภาพยนตร์เรื่อง The Zookeeper's Wife
อวิกา: The Zookeeper's Wife เป็นเรื่องของผู้หญิงคนนึงที่เสียสละ เรื่องนี้จะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเขาเสียสละโดยการยกบ้านของตัวเองซึ่งเป็นสวนสัตว์ ให้เป็นที่พักพิงให้กับผู้ลี้ภัยในสงครามในช่วงนั้น น่าจะเป็นเรื่องราวที่สะท้อนปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยที่มันเกิดมาต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัย

อรุณี: The Zookeeper's Wife ยังสะท้อนเหมือนย้อนกลับไปทำให้เราได้เห็นถึงมุมมองของพวกเราว่าสมัยเมื่อ 60-70 ปีที่ผ่านมา โลกเป็นแบบนั้นแล้วทำไมตอนนี้ยังมีวิกฤตของผู้ลี้ภัยอยู่ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้พิเศษเลย โดยเฉพาะเรื่อง Human flow จริงๆภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในเมืองไทย 21 ธันวาคม แต่เราได้มาฉายในเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 7 ก่อนเลยในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ และในเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัยนี้หนังที่ฉายในเทศกาลทั้งหมดมี 6 เรื่อง คือ Human flow, The Zookeeper's Wife, Return to horms, Cast from the strom, After Spring และ refugee the eritrean exodus

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยซีเรีย สิ่งที่เป็นความประทับใจที่เราได้เห็นคือ UNHCR เปลี่ยนทะเลทรายและวางผังเมืองให้กับผู้ลี้ภัยในช่วงเวลาที่เขาจำเป็นจะต้องมาอยู่ที่นั่น เราจะวางเลยว่า โรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์ที่ให้เด็กหรือเยาวชนมาทำกิจกรรมด้วยกันจะต้องอยู่ที่ไหน เพราะเวลาที่คนๆหนึงตกอยู่ในสถานะที่เป็นผู้ลี้ภัย เขาไม่ได้หมดความเป็นคน เขายังต้องใช้ชีวิต ต้องไปเรียน เจ็บป่วยยังยังต้องไปโรงพยาบาลและเราเองจะไม่หยุดที่จะสร้างชีวิตของตัวเองขึ้นมา เขาก็อยากจะเรียนเพิ่ม อยากจะทำงาน ในที่ซาเทรีจะเห็นทุกอย่าง UNHCR เราทำงานเป็น 3 ขั้นตอน คือ emergency คือคนกำลังออกมา ช่วงที่ 2 คือช่วงฟื้นฟูชีวิตตรงนี้ใช้เวลายาวนานประมาณ 20 ปี และช่วงที่ 3 คือการหาทางออกที่ฐาวรให้เขาคือการที่เขาได้ไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3 ภาพยนตร์ทั้ง 6 เรื่องจะทำให้เราได้เห็นแบบครบรส ต้นตอ การใช้ชีวิต และพาไปดูว่าคนที่ออกมาจากสถานญะผู้ลี้ภัยแล้วจะต้องทำยังไงต่อไป

ภาพยนตร์เรื่อง Human Flow ฉายเปิดเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 7 ในวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2560 ที่ลานอินฟินิ ซิตี้ฮอลล์ โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ เวลาประมาณ 18.30 น. และเปิดฉายในรอบ Public วันที่ 9 ธันวาคม เวลา 17.00 น. ที่โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีแพล็กซ์ เข้าฉายจริงในประเทศไทยวันที่ 21 ธันวาคม 2017