‘อีคอมเมิร์ซไทย’บูมหวั่นต่างชาติผูกขาด

‘อีคอมเมิร์ซไทย’บูมหวั่นต่างชาติผูกขาด

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยบูม รัฐ-เอกชน เล็งประสานแบงก์ชาติ-สรรพากร ออกกฎหมายคุม “ทุนต่างชาติ” รุกไทยหนัก หวั่นผูกขาดตลาด ระบุ 3 ปี มูลค่าพุ่งแตะ 5.6 ล้านล้าน 

ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ (อีคอมเมิร์ซ) ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นและเป็นช่องทางเพิ่มโอกาสเติบโตของธุรกิจที่สามารถสร้างยอดขายก้าวกระโดด อย่างไรก็ตามภายใต้การเติบโตอย่างก้าวกระโดด รัฐบาลในฐานะผู้สนับสนุนและกำกับดูแลจำเป็นต้องเข้ามาวางกรอบกติกาดูแลไปพร้อมๆ กัน 

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า มูลค่าการซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี โดยกลุ่มตลาดที่ซื้อขายแบบธุรกิจต่อผู้บริโภค (บีทูซี) ของไทยยังสูงเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน ที่มูลค่า 7 แสนล้านบาท  คาดว่าภายในสิ้นปี 2560 นี้  อีคอมเมิร์ซจะมีมูลค่าสูงถึง 2.8 ล้านล้านบาท

“ปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปี 2561 รัฐบาลมีแผนปฏิบัติการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในระยะ 5 ปี (2560-2564)  จะเน้นการบูรณาการทำงานร่วมกับทุกกระทรวง เป็นไปตามกลไกประชารัฐร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนและภาคประชาชน และแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ระยะ 5 ปีเช่นเดียวกัน”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำควบคู่กันไปถือ การให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนต่อการนำเทคโนโลยีที่รัฐบาลลงทุนไว้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต โดยได้มีการจัดงาน "ไทยแลนด์ อี-คอมเมิร์ซ วีค 2017 สร้างโอกาสออนไลน์ให้คนไทยทั้งประเทศ”  ระหว่างวันที่ 24-26 พ.ย.ในคอนเซปต์  Online! Shall We Go ... วิ่งให้ทันโอกาสเพราะตลาดอี-คอมเมิร์ซไม่รอใคร  ถือเป็นเวทีแห่งการสร้างอนาคตของอุตสาหกรรมทุกระดับที่ต้องการเปลี่ยนตัวเองสู่เจ้าของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือจากเจ้าของธุรกิจธรรมดาก้าวไปสู่ตลาดอา

เซียนและตลาดโลกต่อไป

 มูลค่าอีคอมเมิร์ซพุ่ง

จากตัวเลขของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ระบุว่า ภาพรวมของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2559 มีมูลค่าสูง 2.5 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปี 2558 ถึง 14.03%   ส่วนใหญ่เป็นอีคอมเมิร์ซประเภทธุรกิจต่อธุรกิจ (บีทูบี) ประมาณ 154 ล้านล้านบาท คิดเป็น 60.24% ตามด้วยประเภทธุรกิจต่อผู้บริโภค (บีทูซี) 7.03 แสนล้านบาท หรือ 27.47% ส่วนที่เหลือราว 3.14 แสนล้านบาท หรือ 12.29% เป็นมูลค่าประเภทธุรกิจต่อภาครัฐ (บีทูจี) ส่วนมูลค่าแบบบีทูซีของประเทศไทย ในปี 2559 มีมูลค่า 7.03 แสนล้านบาท ถือเป็นมูลค่าสูงสุดในอาเซียน และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต

คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ปี 2560 จะมีมูลค่ารวม 2.8 ล้านล้านบาท เติบโต 9.86% จากปี 2559 และใน 3 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2563 มูลค่าจะเพิ่มขึ้น “เท่าตัว” คิดเป็น 5.6 ล้านล้านบาท

สำหรับมูลค่าขายส่วนใหญ่ยังเป็นอีคอมเมิร์ซประเภทบีทูบี  1.67 ล้านล้านบาท (59.56%) เพิ่มขึ้น 8.63%  ประเภทบีทูซี  8.12 แสนล้านบาท (37.91%) เพิ่มขึ้น 15.54% และประเภทบีทูจี  3.24 แสนล้านบาท  (11.55%) เพิ่มขึ้น 3.24%  

“ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยมีแนวโน้มและศักยภาพในการเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมากในอนาคต เพราะพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงและมีการใช้งานเพิ่มขึ้น”

เร่งสร้างแพลตฟอร์มหลังบ้าน

นางสุรางคนา วายุภาพ ผู้อำนวย สพธอ. กล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบอีคอมเมิร์ซไทย ทั้งที่เป็นนิติบุคคล หรือผู้ประกอบการรายย่อย คือ การพัฒนาศักยภาพด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ ความเชื่อมั่นให้กับประชาชนไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย รองรับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอีคอมเมิร์ซของประเทศ รวมถึงเพื่อดำเนินการผลักดันภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซให้มีความมั่นคงและแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต

“เราต้องให้ความสำคัญกับการทำอีคอมเมิร์ซคนไทยอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทางด้านอีคอมเมิร์ซที่จะช่วยบริหารจัดการระบบหลังบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงรูปแบบหน้าตาที่ทันสมัย ผู้ให้บริการรับชำระเงินที่จะทำให้การรับชำระเงินทำได้สะดวกสบายและง่ายมากยิ่งขึ้น ผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าที่มีบริการตอบสนองความต้องการในการจัดส่งหลายหลากรูปแบบ”

เตือนทุนต่างชาติผูกขาด

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า โอกาสของอีคอมเมิร์ซในไทยมองได้หลายมิติ  ในระยะสั้น และระยะกลาง การที่ไทยมีผู้ประกอบการจากต่างชาติเข้ามาลงทุนทำตลาดหลายราย  ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะช่วยสร้างบรรยากาศให้ไปในทิศทางเดียวกัน เกิดการแข่งขันด้านราคา การบริการ สุดท้ายผลประโยชน์จะตกไปยังผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่ดีจะสร้างตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตได้

แต่ในระยะยาว 5-10 ปีข้างหน้า  ผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาย่อมต้องการผลกำไรกลับประเทศ ดังนั้น การโหมเข้ามาลงทุนของต่างชาติในช่วง 1-2 ปีแรกจะสร้างประโยชน์ให้แก่ตลาดไทย แต่ในระยะยาวต้องพิจารณาว่า ไทยมีกฎหมายที่ทันสมัยเพียงพอในการเก็บภาษีผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต่างชาติ หรือมีกฎหมายเฉพาะข้อใดบ้างที่ไม่ทำให้เกิดการผูกขาดตลาดในอนาคต เหมือนในสหรัฐเกิดการผูกขาดจากอะเมซอน และหลายประเทศในอาเซียนกำลังถูกอาลีบาบาเข้ามาครองตลาดเพียงรายเดียว

“ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซของไทย ซึ่งอาจจะเป็นเอสเอ็มอี หรือที่เรียกว่า โลคัล มาร์เก็ต เพลส กำลังถูกท้าทายจากทุนต่างชาติอย่างหนัก แม้ว่าตอนนี้จะได้แรงบวกเข้ามากระตุ้นตลาด สร้างความน่าเชื่อให้ผู้บริโภค แต่ในอนาคตยังไม่มีใครตอบได้ว่า ผู้ประกอบการไทยจะอยู่รอดได้หรือไม่”

สิ่งที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยต้องเร่งพัฒนา คือ  การสร้างแพลตฟอร์มรูปแบบการขาย รู้จักลูกค้าของตัวเอง เข้าใจถึงความต้องการเฉพาะทาง และความหลากหลายของผู้บริโภค ผู้ซื้อที่เป็นคนไทย สินค้าที่นำมาขายผ่านช่องทางดิจิทัลต้องมีลักษณะเฉพาะตัวเพื่อสร้างความแตกต่าง

หนุนเอสเอ็มอีไทยเข้าระบบ

นางแพตริเชีย มงคลวนิช รองอธิบดี กรมสรรพากร กล่าวว่า ปัญหาด้านโครงสร้างการเสียภาษีของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ทุนต่างชาติเข้ามาและช่วงชิงความได้เปรียบจากผู้ค้าในประเทศไทย ถือเป็นปัญหาทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย 

“ปัญหาสำคัญของไทย ยังขาดข้อกฎหมายรองรับ กรมสรรพากรพยายามผลักดันหรือดึงทุกคนให้เข้าสู่ระบบเพื่อสร้างบรรทัดฐานเดียวกัน ผู้เล่นทุกรายต้องอยู่บนกติกาเดียว (Fair Game) ให้ได้ จึงขอให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยเข้าสู่ระบบโครงสร้างภาษี เพราะหากยังเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเมื่อคำนวณรายได้แต่ละปีอาจไม่ต้องเสียภาษี หากจะต้องเสียก็นำรายได้มาลดหย่อนภาษีได้อีก”

ในอนาคตหากธุรกิจของผู้ประกอบสามารถขยายสู่ตลาดต่างประเทศได้ ความโปร่งใสด้านภาษีจะเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำธุรกิจต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้หากมีการจัดโครงสร้างและทำรายงานการเสียภาษีรายรับ-รายจ่ายที่ดี ถือเป็นการการันตีบริษัทได้ระดับหนึ่งในการสร้างความน่าเชื่อถือในการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศนั้นๆ 

เติบโตควบคู่ออฟไลน์ 

นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มไทยเบฟต้องการเติบโตไปพร้อมกับคู่ค้ารายย่อยที่อยู่ทั่วประเทศ ซึ่งการนำดิจิทัลมาใช้ประโยชน์จำเป็นต้องเน้นการเข้าถึงคู่ค้าและลูกค้าที่เป็นอีคอมเมิร์ซด้วย 

นางสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเสริม ในประเด็นการชำระเงินออนไลน์ (ดิจิทัล เพย์เมนท์) ว่า หลังจากที่ธปท.ได้สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้พร้อมเพย์ แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซในทิศทางเดียวกัน ที่ผ่านมา ธปท.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อสร้างความปลอดภัยในการใช้ข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่