‘สเปซแชริ่ง’ อนาคตโจทย์อสังหาฯ

‘สเปซแชริ่ง’ อนาคตโจทย์อสังหาฯ

“เอพี” ร่วมโหมกระแสเศรษฐกิจแบ่งปันหรือแชริ่ง อิโคโนมี ผ่านโครงการ “สเปซ สคอลาร์ชิพ” หวังใช้เป็นพื้นที่ทดลองโมเดลโค-ลีฟวิง สเปซ

ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ “เอพี” ร่วมโหมกระแสเศรษฐกิจแบ่งปันหรือแชริ่ง อิโคโนมี ผ่านโครงการ “สเปซ สคอลาร์ชิพ” ทุนการศึกษาในรูปแบบที่พักอาศัยในคอนโดมิเนียม 2 แห่งให้นักศึกษา 7 คนจาก 7 จังหวัดได้มาใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นเวลา 1 ปี หวังใช้เป็นพื้นที่ทดลองโมเดลโค-ลีฟวิง สเปซ เตรียมพร้อมสำหรับรูปแบบการอยู่อาศัยในอนาคต

7 นักศึกษานี้แบ่งเป็นนักศึกษาชาย 4 คนอยู่ร่วมกันในห้องขนาด 45 ตารางเมตรและนักศึกษาหญิง 3 คนในห้องขนาด 30 ตารางเมตร ที่ออกแบบเป็นพิเศษให้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าในทุกตารางเมตร ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตลอดเวลา อีกทั้งให้ความรู้สึกสบายและอบอุ่น เกิดมิตรภาพใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็ให้ความเป็นส่วนตัวด้วย

รองรับเศรษฐกิจแบบแชริ่ง


ห้องพักทั้งสองนี้เป็นเสมือนห้องทดลองความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเอพีดีไซน์แล็บ (AP Design Lab) และแฟบริก้า (Fabrica) ดีไซน์สตูดิโอชื่อดังจากอิตาลี สำหรับต่อยอดองค์ความรู้สู่การออกแบบที่พักอาศัยในอนาคต ซึ่งจะเกิดการแบ่งปันที่อยู่อาศัยกับคนแปลกหน้าเช่นเดียวกับคาร์แชริ่งในปัจจุบัน หรือ Airbnb ธุรกิจแบ่งปันห้องพัก ซึ่งเจ้าของนำห้องพักของตัวเองเปิดให้คนอื่นมาเช่าพัก
คอนเซ็ปต์การออกแบบ space scholarship เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด SUM (Some of Small Parts) ที่ต้องการสร้างพื้นที่แห่งการแบ่งปันไปพร้อมๆ กับการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัย โดยอาศัยวิธีจัดวางพื้นที่สำหรับการอยู่ร่วมกัน ช่วยส่งเสริมการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ เพื่อให้เป็นมากกว่าที่พักอาศัย แต่เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้สร้างสรรค์
นายภัทรภูริต รุ่งจตุรภัทร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานคอร์ปอเรทมาร์เก็ตติ้ง บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) กล่าวว่า โครงการทุนที่พักอาศัยดังกล่าวเป็นทุนการศึกษารูปแบบใหม่ สำหรับนักเรียนต่างจังหวัดที่มีผลการเรียนและความประพฤติดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์โดยเฉพาะเรื่องที่พักอาศัย และเพิ่งย้ายเข้ามาศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก โดยมุ่งหวังที่จะช่วยรองรับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของนักศึกษาใหม่ แบ่งเบาค่าใช้จ่ายหลักเรื่องที่พัก เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตระหว่างเรียนได้อย่างราบรื่น ไม่มีเรื่องใดๆ ต้องกังวลใจ
นักศึกษาที่ร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์จากการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นและเติบโตในมิติของการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่จะมอบประสบการณ์ในการแบ่งปัน รู้จักการให้ การส่งต่อ และนำความรู้ความสามารถไปใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป
"หลังจากที่พักอาศัยแล้วจะมีการประเมินผลว่า ทั้ง 7 คนชอบหรือไม่ชอบอะไร จุดไหนที่ชอบก็จะทำให้ดีขึ้นไปอีก จุดไหนที่ไม่ชอบก็จะปรับเปลี่ยน และในอนาคตถ้าจะทำคอนเซปต์ลักษณะนี้อีกจะมีวิธีการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง”

ตอบโจทย์ขนาดพื้นที่เล็กลง


นายภัทรภูริต กล่าวต่อว่า แนวโน้มที่ดินในเมืองจะแพงขึ้น ส่งผลให้ขนาดห้องเล็กลงตามไปด้วย ยกตัวอย่างพื้นที่ห้องคอนโดกลางใจเมืองเริ่มต้นที่ 24 ตารางเมตร จึงต้องอาศัยนวัตกรรมการออกแบบที่ทำให้พื้นที่เล็กๆ ดูเหมือนใหญ่ขึ้น อยู่อาศัยได้สบายขึ้นและมีความเป็นส่วนตัวได้ด้วย
“การวิเคราะห์และตัดสินใจจากตัวเลขตารางเมตร ไม่ว่าจะ 24 หรือ 30 ตารางเมตรอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย บริษัทเชื่อว่า การดีไซน์จะเข้ามาช่วยทำให้พื้นที่ไซส์เล็กสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่คิด จึงพยายามที่จะสื่อให้เห็นว่า คอนโด 30 ตารางเมตรสำหรับ 1-2 คนนั้นสามารถเพิ่มจำนวนผู้พักอาศัยให้เข้ามาแชร์พื้นที่ได้อีกโดยไม่มีปัญหาการใช้พื้นที่ส่วนตัว ทั้งยังพยายามดีไซน์พื้นที่ให้สามารถตอบไลฟ์สไตล์ของผู้ที่อยู่อาศัยรวมกัน 2-3 เจเนอเรชัน”
นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการแบบรับภาระค่าเช่าคอนโดหรืออพาร์ตเมนต์ในราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และยังต้องลงทุนซื้อเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งด้วยตัวเอง จึงเปลี่ยนมาพักอาศัยแบบโค-ลีฟวิง ซึ่งมีการจัดตกแต่งพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการทำงานร่วมกัน
ดังนั้น การแชร์พื้นที่ใช้สอยในรูปแบบต่างๆ หรือโค-ลีฟวิง สเปซ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคตเหมือนกับสิงคโปร์ และเป็นแนวโน้มที่กำลังได้รับความสนใจในตลาดอสังหาริมทรัพย์ คือ การนำผู้เช่าบ้านที่มีความสนใจในสิ่งคล้ายๆ กันมาอยู่ในบ้านหลังเดียวกันหรือคอนโดเดียวกัน ที่ออกแบบพื้นที่ใช้สอยพิเศษเพื่อรองรับการใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าในทุกตารางเมตร
“ด้วยความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์สเปซสำหรับการอยู่อาศัยของเอพี ที่นอกจากสามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ในทุกๆ ด้าน สิ่งที่เราโดดเด่นจากตลาดก็คือความกล้าที่จะคิดต่างเชิงสร้างสรรค์เพื่อใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าในทุกตารางเมตร” นายภัทรภูริต กล่าว