ส่องวิถีโต FTE ธุรกิจรับเหมาติดตั้ง 'ตัวชูโรง'

ส่องวิถีโต FTE ธุรกิจรับเหมาติดตั้ง 'ตัวชูโรง'

ขยายตลาดโรงงานอุตสาหกรรม เกาะติดโครงการเมกะโปรเจคดึงดีมานด์ฟื้น 'ทักษิณ ตันติไพจิตร' หุ้นใหญ่ 'ไฟร์เทรดเอ็นจิเนียริ่ง' ส่งแผนเรียกเรตติ้งนักชอป หลังหุ้นไม่วิ่ง หันซบงานรับเหมาติดตั้งระบบดับเพลิง

เข้ามาเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้เพียง 5 เดือนกว่า แต่ 'ตัวเลขมูลค่าตามราคาตลาด' หรือ market cap ของ บมจ.ไฟร์เทรดเอ็นจิเนียริ่ง หรือ FTE กลับไม่ขยับตัวจากวันแรกที่เข้าซื้อขาย (27 ก.ค.2560) อยู่ที่ 2,100 ล้านบาท แม้ราคาหุ้นเคลื่อนไหวในแดนบวกจากราคาไอพีโอ 2.95 บาท เป็นเฉลี่ย 3.55 บาท โดยราคาสูงสุด 3.94 บาท (27 ก.ค.60) ราคาต่ำสุด 3.26 บาท (29 ก.ค.60) ขณะที่อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น หรือ ค่า P/E ปรับตัวลงจาก 21.41 เท่า เหลือ 16.31 เท่า

'ทักษิณ ตันติไพจิตร' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไฟร์เทรดเอ็นจิเนียริ่ง หรือ FTE อธิบายจุดเด่นขององค์แห่งนี้ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง แต่ในแง่ของยอดขายกิจการนำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดับเพลิงแบบครบวงจร จากต่างประเทศไม่ค่อยได้รับผลกระทบ นั่นอาจเป็นเพราะสินค้าเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะทางที่จำเป็นต้องใช้ในทุกอาคาร

ที่ผ่านมาธุรกิจขยายตัวตามอุตสาหกรรมรับเหมา-ก่อสร้าง โดยเฉพาะ 'ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์' ยิ่งเฉพาะ อาคารสูง, ห้างสรรพสินค้า ,โรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งหากมีการลงทุนมากขึ้น ยิ่งส่งผลให้ความต้องการ (ดีมานด์) ใช้อุปกรณ์ดับเพลิงยิ่งมากขึ้น เรียกว่า ธุรกิจของบริษัทจะขยายตัวตามความต้องการของกลุ่มรับเหมา-ก่อสร้าง

ทว่า ในปี 2560 เอกชนมีการลงทุนไม่มากนัก อาจจะสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว จากปัญหาดังกล่าว ทำให้องค์กรแห่งนี้ 'ปรับกลยุทธ์ใหม่' มาเน้นรับ 'งานออกแบบรับเหมาติดตั้งระบบดับเพลิง' เพราะว่างานรับเหมาติดตั้งมีอัตราขยายตัวระดับสูง สะท้อนผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในการอนุมัติงานโครงสร้างพื้นฐาน ฉะนั้น เป็นโอกาสในการเข้ารับงานดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทสามารถเติบโตได้อีกมาก...!!

ปี 2561 ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้งานออกแบบรับเหมาติดตั้งระบบดับเพลิงเพิ่ม 'เป็น 35%' เดิม 31% และงานจำหน่ายสินค้า (เทรดดดิ้ง) 65% เนื่องจากงานประเภทดังกล่าวบริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีกว่างานจำหน่ายสินค้าทั่วไป ทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น  

สะท้อนผ่านผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 40.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 21.46 ล้านบาท ปัจจุบันมูลค่าอุตสาหกรรมอัคคีภัยอยู่ที่ 4,800 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมียอดขาย 829 ล้านบาท และครองส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) อันดับ 1 ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนราว 18% ฉะนั้น มองว่าบริษัทยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ตามทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมอัคคีภัยที่ปกติเติบโตเฉลี่ย 5-7% ทุกปี 

เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่อง การบวกกับบริษัทได้เงินจากการระดมทุน ทำให้จากนี้พร้อมเดินเครื่องเต็มกำลังในการขยายกิจการ เริ่มต้นด้วยการตั้งเป้ารายได้เติบโตปีละ 10-20% ขึ้นไปปัจจุบัน FTE ดำเนินธุรกิจ 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ดับเพลิงแบบครบวงจร (Fire Protection) ได้แก่ อุปกรณ์ดับเพลิงและอุปกรณ์ประกอบของระบบดับเพลิง เป็นต้น

2.กลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบดับเพลิงอัตโนมัติชนิดต่างๆ (Fire Suppression System) ได้แก่ ระบบดับเพลิงด้วยน้ำ ระบบดับเพลิงด้วยโฟมดับเพลิง ระบบดับเพลิงด้วยก๊าซ และระบบดับเพลิงด้วยสารสะอาดดับเพลิง เป็นต้น และ 3.กลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm System) ได้แก่ ระบบสัญญาณควัน ระบบสัญญาณความร้อน ระบบสัญญาณเตือนภัยและแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เป็นต้น

กรรมการผู้จัดการ เล่าแผนธุรกิจในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าว่า บริษัทกำลัง 'โฟกัส' เข้าไปใน 'โรงงานอุตสาหกรรม' หลังจากปี 2552 มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน ทำให้อาคารโรงงานที่ก่อสร้างใหม่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงการตรวจสอบอาคารเก่าที่ยังไม่ได้มีการติดตั้ง จึงมีความจำเป็นต้องติดระบบดับเพลิงย้อนหลัง

สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมมีมูลตลาดราว 'พันล้านบาท' ซึ่งตอนนี้บริษัทมีมาร์เก็ตแชร์เพียง 5% เท่านั้น ฉะนั้น โอกาสเติบโตยังมีอีกมาก โดยตั้งเป้าภายใน 2 ปี (2561-2562) มีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นเป็น 20% จากปัจจุบัน  

โดยมี 'กลุ่มลูกค้า' เป้าหมายหลัก คือ โครงการก่อสร้างอาคาร หรือ โรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องมีการติดตั้งระบบดับเพลิงเพื่อความปลอดภัยตามกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อการป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงานตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม 

'เราต้องการเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ให้มากขึ้น และมุ่งเน้นในผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะบริษัทเหล่านั้นมีงบประมาณปรับปรุงไว้'

อีกงานที่บริษัทให้ความสนใจ นั่นคือ 'งานโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล' อาทิ โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินส่วนต่อขยาย โครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เฟสสอง งานอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งบริษัทจะรับงานต่อจากผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่ชนะประมูลโครงการมา อาทิ บมจ. ช.การช่าง หรือ CK ,บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ,บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น หรือ STEC เป็นต้น 

ที่ผ่านมาบริษัทเคยรับงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีแดง และงานสถานีไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คิดเป็นมูลค่างานที่บริษัทได้รับปีละ 50 ล้านบาท ซึ่งในอนาคตยังมีงานลักษณะดังกล่าวทยอยออกมาคาดว่าจะมีงานออกมาในตลาดต่อเนื่องไปอีก 5-10 ปีข้างหน้า 

เขา บอกต่อว่า ปัจจุบันมีงานที่อยู่ระหว่างประมูล อาทิ งานสถานีไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. มูลค่างานประมาณ 200 ล้านบาท คาดว่าจะรู้ผลภายในปีนี้ ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายได้งานไม่ต่ำกว่า 130 ล้านบาท และอยู่ระหว่างยื่นประมูลงานระบบดับเพลิงในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 มูลค่า 200 ล้านบาท คาดว่าจะรู้ผลปลายปี 2561 

อีกทั้งบริษัทอยู่ระหว่างการขยายสาขาไปยังหัวเมืองใหญ่ เช่น ระยอง , เชียงใหม่ และ ภูเก็ต เพื่อเป็นการให้บริการลูกค้าที่รวดเร็ว และเป็นอีกช่องทางในการเพิ่มยอดขาย โดยจังหวัดระยอง คาดว่าจะเปิดภายในปีนี้ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดบริการภายในไตรมาส 2 ปี 2561 และ จังหวัดภูเก็ต คาดว่าจะเปิดบริการภายในไตรมาส 4 ปี 2561 ซึ่งแต่ละสาขาจะเพิ่มรายได้ให้บริษัทราว 20 ล้านบาทต่อสาขา แต่ละสาขาใช้เงินลงทุน 1-2 ล้านบาท

รวมทั้งการเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาตลาด แต่ปัจจุบันจะติดในเรื่องของกฎหมายเขายังไม่บังคับเรื่องความปลอดภัยระบบดับเพลิง ฉะนั้น ในเรื่องของความต้องการสินค้ายังไม่เยอะ ตอนนี้ก็พยายามศึกษาตลาดไปก่อน และมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายขายผ่ายผู้รับเหมาจากประเทศไทยที่เข้าไปลงทุน แต่ว่าเป้าหมายการเติบโตยังมองว่ายังไม่มีการเติบโตแบบมีนัยสำคัญต่อภาพรวมธุรกิจ 

สำหรับ 'จุดแข็ง' ของ FTE คือ 1.ตราสินค้าที่อยู่ยาวนาน 80-90 ปี 2.บริษัทมีสินค้าที่ครบวงจร และมีสินค้ามากกว่าผู้จำหน่ายสินค้ารายอื่นๆ ถึง 30% 3.บริษัทมียอดขายเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทยมายาวนานกว่า 20 ปี 4.ต้นทุนการขายที่ต่ำกว่าคู่แข่งในตลาด 5.มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ที่ 18% จากมูลค่าตลาดรวม 4,800 ล้านบาท 6.ตราสินค้าส่วนใหญ่จะมอบหมายให้มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศเพียง 1-2 ราย ทำให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามายังตลาดนี้ยาก และสุดท้าย 7.อุตสาหกรรมนี้ไม่มีขาลง 

เมื่อถามถึงทิศทางผลประกอบการในปี 2560 'ทักษิณ' ตอบว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 994 ล้านบาท เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% และทำสถิติกำไรสูงสุดในรอบ 18 ปี เนื่องจากบริษัทมีมูลค่างานในมือ(Backlog) ประมาณ 480 ล้านบาท รับรู้ปีนี้ 60-70% และส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้รายได้จนถึงปี 2561–2562 

สำหรับแนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2560 ยังขยายตัวได้ดีจากความต้องการใช้งานอุปกรณ์ดับเพลิง และการติดตั้งระบบดับเพลิงของโครงการรูปแบบต่างๆ ซึ่งบริษัทมีแผนจะเข้าประมูลโครงการภาครัฐ-เอกชนอย่างต่อเนื่อง      

'หุ้นใหญ่' ทิ้งท้ายว่า ตั้งแต่ทำธุรกิจมายังไม่เคยเห็นขาลง สะท้อนจากบริษัทไม่เคยขาดทุน ซึ่งธุรกิจมีการเติบโตทุกปี เพราะว่าที่ผ่านมาธุรกิจถังดับเพลิงเข้าในในทุกอุตสาหกรรมที่มีการก่อสร้าง ฉะนั้น เราก็เปรียบตัวเองเหมือนยุงที่หากินในทุกพื้นที

รีเทิร์นปีละ5%สุดแฮปปี้

'ทักษิณ ตันติไพจิตร' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไฟร์เทรดเอ็นจิเนียริ่ง หรือ FTE บอกว่า ตนเองเริ่มรู้จักการลงทุนเมื่อราว 10 ปีก่อน ช่วงนั้นพอมีเงินเหลือเก็บแต่ฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยน้อย ทำให้มองหา 'ผลตอบแทน' ที่สูงกว่าฝากแบงก์ ก็มองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นน่าสนใจ ตอนนั้น เข้ามาแบบไม่มีความรู้ไม่มีประสบการณ์ ทำให้ผลงานที่ผ่านมาถือว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก...! 

'ในพอร์ตมีหุ้นหลายตัว แต่คิดรวมแล้วส่วนใหญ่ยังขาดทุน แต่ผมยึดคติไม่ขายไม่ขาดทุน แต่ถือว่าเป็นการลงทุนที่ไม่ดี เพราะว่าไม่รู้จัก cut loss'

ถามว่ามีหุ้นในพอร์ตกี่ตัว 'นักลงทุนสมัครเล่น' ตอบว่า ก็ประมาณ 30 ตัว มูลค่าพอร์ต 40-50 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีสร้างผลตอบแทน 'ราว5%' ถือว่าพอใจแล้ว เพราะว่ามากกว่าดอกเบี้ยแบงก์อีก ซึ่งจะใช้เวลาหลังเลิกงานในการศึกษาหาข้อมูลผ่านทางเว็บไซด์ www.set.or.th  ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะเข้าไปดูงบการเงิน และอ่านข่าวตามทิศทางธุรกิจว่าจะเติบโตเช่นไร  

สำหรับหุ้นตัวแรกที่ซื้อ คือ หุ้น เอสโซ่ (ประเทศไทย) หรือ ESSO แม้ว่าปัจจุบันยังขาดทุนตลอด แต่ก็ได้รับเป็นเงินปันผลทุกปี ตอนนั้นมองว่าเป็นหุ้นในธุรกิจน้ำมันน่าจะมีทิศทางการเติบโตของธุรกิจที่ดี 

หุ้น เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท หรือ FN ซื้อตอนราคา 7 บาท ตอนนี้ราคาหุ้นปรับตัวลงมาตลอด ทำให้มีผลขาดทุนประมาณ 40% แต่มองว่าอาจจะเป็นเพราะว่ากำลังซื้อในประเทศชะลอตัว แต่หากเศรษฐกิจกลับมาดี ก็จะส่งผลให้ราคาหุ้นขยับตามทิศทางผลการดำเนินงานได้   

หุ้น คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ ซิสเต็มส์ โซลูชั่น หรือ CSS เลือกซื้อหุ้นตัวนี้ตอนที่มีข่าวว่าบริษัทจะไปซื้อโรงไฟฟ้า solar farm ประเทศญี่ปุ่น และหลังจากนั้นบริษัทประกาศยกเลิกการเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าดังกล่าว ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลง ส่งผลให้ขาดทุนราว 20% แต่ก็ไม่ขายก็ถือลงทุนต่อไป เพราะว่ายังมีการจ่ายเงินปันผล

'แม้ว่าในพอร์ตมีหุ้นหลายตัวแต่ก็แบ่งเป็นหุ้น 20 ตัวแรก ซื้อแล้วไม่ยุ่งปล่อยทิ้งเลย ส่วนอีก 10 ตัว จะซื้อขายเก็งกำไรบ้าง'