ดิจิทัล ดิสรัปชัน โอกาสธุรกิจเพิ่ม-ความเสี่ยงไซเบอร์พุ่ง

ดิจิทัล ดิสรัปชัน โอกาสธุรกิจเพิ่ม-ความเสี่ยงไซเบอร์พุ่ง

ทุกวันนี้กิจกรรมแทบทุกอย่างทั้งในเชิงธุรกิจและชีวิตส่วนตัวล้วนเกิดขึ้นบน “หน้าจอ” ส่งผลให้ข้อมูลต่างๆ ของ “คน” หรือ “ธุรกิจ” ถูกนำเข้าสู่เครือข่ายสื่อสารข้อมูลขนาดมหึมาด้วยปลายนิ้วของผู้เป็นเจ้าของเอง

และข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้สามารถเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญสำหรับการสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการตลาด หรือแม้แต่ความเสี่ยงจากอาชญากรไซเบอร์

"นายอัลวิน ร้อดดิเก้" หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ด้านความปลอดภัย ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า การที่ปัจจุบันโลกขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคที่ 4 ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เรียกว่า “Cyber-Physical System Analytics” ซึ่งมุ่งในเรื่องของระบบที่ใช้เว็บเป็นหลัก มีเทคโนโลยีของระบบวิเคราะห์, ไอโอที, เอไอ และความฉลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยตื่นตัวเรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น พร้อมๆ กับความกังวลต่อความเสี่ยงจากภัยคุกคาม

“ทุกวันนี้มีปริมาณข้อมูลที่เป็น Self-driving Database เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ไหลบ่าเข้ามาจากการใช้งานผ่านเว็บ หรือเทคโนโลยีของอุปกรณ์การเชื่อมโยงเครือข่าย เพราะมายด์เซ็ทของคนยุคนี้จะคิดถึงเว็บ หรือโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับแรกสุด (Web First / Mobile First Environment) ในการทำกิจกรรมต่างๆ”

ข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานต่างๆ เหล่านี้เองถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบดิจิทัล กลายเป็น “สินทรัพย์” ทางธุรกิจที่สามารถวิเคราะห์เรียนรู้ความต้องการลูกค้า รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่การทำธุรกิจดิจิทัล ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ แต่ขณะเดียวกัน ก็เติมความเสี่ยงต่อการเผชิญภัยไซเบอร์ด้วย

โอกาสธุรกิจ-แหล่งรายได้ใหม่

ผู้บริหารฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า ในการปฏิรูปองค์กรเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีที่องค์กรดำเนินธุรกิจและวิธีการที่ปฏิบัติงาน โดยมีเป้าหมายคือ องค์กรจะตอบสนองสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้อย่างไร และจะให้มากกว่าที่ลูกค้าคาดหวังได้อย่างไร

องค์กรจึงให้ความสำคัญต่อข้อมูลที่เกี่ยวกับความเห็นจากลูกค้า และจะรวบรวมข้อมูลจากอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ในเครือข่าย จัดข้อมูลอันมหาศาลดังกล่าวให้อยู่ในรูปแบบดิจิตัล ถูกจัดเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้นำไปรวมและดำเนินการแบบออโตเมทภายหลัง ข้อมูลจะถูกวิเคราะห์ เพื่อจะนำไปใช้งานได้อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ บริการใหม่ๆ ที่จะตอบสนองตรงต่อความต้องการของลูกค้า และอาจจะมากกว่าความคาดหวังของลูกค้าเสียอีก

เขายกตัวอย่างของกิจการค้าปลีกเครื่องสำอางรายใหญ่แห่งหนึ่งของไทยว่า สามารถรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าแต่ละราย ทั้งสินค้าที่ซื้อประจำ ช่วงเวลาที่ซื้อ รูปแบบการใช้จ่าย โดยสามารถนำข้อมูลเชิงลึกมาออกเป็นกิจกรรมส่งเสริมการขาย โปรโมชั่นพิเศษ ซึ่งแคมเปญลักษณะนี้จะช่วยผูกใจลูกค้าระยะยาว พร้อมเพิ่มยอดการขายใหม่ๆ

“ระวัง” ความเสี่ยงภัยไซเบอร์

อย่างไรก็ตาม เมื่อการรวบรวมข้อมูลขยายวงกว้างขึ้น แน่นอนว่าย่อมมีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการยืนยันตัวตนเข้าใช้งาน ภัยคุกคามที่อุปกรณ์เกตเวย์ที่บรรจุข้อมูลสำคัญ คลาวด์ สิ่งแวดล้อมเสมือน โดยผลการสำรวจ “2017 Global Enterprise Security Survey” ของฟอร์ติเน็ต พบว่า องค์กรส่วนใหญ่ประสบภัยคุกคามใหญ่ๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และที่น่าสนใจ คือ ภัยร้ายมุ่งคุกคามที่ข้อมูลและพบการเกิดภัยแรนซัมแวร์เป็นจำนวนสูงมากติดอันดับ 2 เกิดภัยที่มุ่งคุกคามที่ธุรกิจดิจิทัลเป็นอันดับ 5

“นั่นหมายความว่า ในแวลูเชนขององค์กรในยุคดิจิทัล ยังมีช่องโหว่อยู่ เช่น ภัยคุกคามใหม่ๆ (Unknown threats) โจมตีที่ระบบวิเคราะห์ข้อมูล ภัยคุกคามที่ทำให้การใช้งานขององค์กรและบริการของลูกค้าบนโมบายหยุดชะงัก โดยมีข้อมูลว่า 80% ของภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอยู่ในกลุ่มของ Unknown threats แนวทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพคือ ต้องมีการปิดช่องโหว่ของระบบตลอดเวลา มีความต่อเนื่องในการป้องกันภัยคุกคามขององค์กร”

เขาย้ำว่า องค์กรในยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ต้องการการทบทวนและการจัดการอยู่ตลอดเวลา ระบบความปลอดภัยมีการทำงานแบบอัตโนมัติ อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยจำเป็นต้องเห็นอุปกรณ์ทุกชื้นในเครือข่าย สามารถตั้งค่านโยบายบนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้ามาได้ สามารถตรวจสอบและป้องกันข้อมูลและทรัพยากรที่เคลื่อนไหวอยู่ในเครือข่ายจากทุกๆ อุปกรณ์ไอโอที และการเชื่อมต่อไปยังคลาวด์

"นายชาญวิทย์ อิทธิวัฒนะ" ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า ภาพรวมปี 2560 ของประเทศไทย มีตัวเลขประมาณการณ์ใช้จ่ายด้านระบบความปลอดภัย จากบริษัทวิจัย การ์ทเนอร์ ว่าอยู่ในระดับสูงกว่า 60 ล้านดอลลาร์ โดยแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของฟอร์ติเน็ต ซึ่งมีอัตราเติบโตของรายได้สูงกว่าตลาด โดยอยู่ที่มากกว่า 20% ทั้งยังโตในระดับเลข 2 หลักตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และในปี 2561 วางเป้าหมายจะขยายฐานรายได้จากผู้ใช้งานในกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทย กลุ่มที่มีความพร้อมด้านการลงทุนระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ภาคการเงินการธนาคาร เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านความรู้และบุคลากร 2. ภาครัฐบาล ซึ่งมีนโยบายผลักดันเรื่องการเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลเป็นดิจิทัลมากขึ้น และ 3.รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การบินไทย, เครือซิเมนต์ไทย และ ปตท