ติดดาบ 'กอ.รมน.' เครื่องมือกองทัพในสงครามการเมือง

ติดดาบ 'กอ.รมน.' เครื่องมือกองทัพในสงครามการเมือง

มุมมอง "ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข" ติดดาบ "กอ.รมน." เครื่องมือกองทัพในสงครามการเมือง

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแล และนำนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐไปสู่การปฏิบัติด้วยการบูรณาการ รวมทั้งตรวจสอบ แจ้งเตือน วิเคราะห์และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในประเทศ

โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้มีคำสั่งที่ 51/2560 ในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยมีประเด็นสำคัญคือ การกำหนดนิยามการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ใหม่เป็น การดำเนินการเพื่อป้องกันควบคุม แก้ไข และฟื้นฟูสถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข ทำลาย หรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ รวมถึงในกรณีที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้กลับสู่สภาวะปกติเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ

ในมุมของคสช.ให้เหตุผลว่า เป็นการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับภัยคุกคามรัฐที่ยิ่งนับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้น แต่อีกด้านก็เสียงวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งดังกล่าว ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นการ “ติดดาบ” เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับกอ.รมน.ว่า มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดทั้งที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่อยู่ในสภาวะสงคราม

ประเด็นดังกล่าวถูกตั้งคำถามจาก ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า เป็นการตอกย้ำปรากฏการณ์ในการเมืองไทยถึงการขยายบทบาทของทหาร ซึ่งการขยายบทบาทในทางทฤษฎีนั้นจะเกิดในสงครามเช่น ในยุคสงครามเย็น เพราะภารกิจทางทหารอาจจะมีส่วนทับซ้อนกับงานของฝ่ายพลเรือน อันอาจทำให้ทหารเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสังคม

แต่การขยายบทบาทของทหารไทยปัจจุบันไม่ได้มาจากเงื่อนไขสงครามแต่มาจากการมีอำนาจด้วยการรัฐประหาร จึงทำให้กองทัพสามารถขยายบทบาทได้อย่างไม่มีข้อจำกัด การขยายบทบาทเช่นนี้ไม่มีความชัดเจนว่าภารกิจด้านความมั่นคงคืออะไร ซึ่งอาจทำให้ตีความได้ว่า กองทัพขยายบทบาทเพื่อการควบคุมการเมือง และอาจจะต้องมองคู่ขนานกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และอำนาจในการตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คนบทบาทเช่นนี้จึงกลายเป็นว่า งานความมั่นคงของกอ.รมน.ในอนาคตอาจกลายเป็นเครื่องมือในการต่อต้าน ตอบโต้กับองค์กรการเมืองของฝ่ายพลเรือน

เช่น พรรคการเมืองที่กำลังจะกลับมามีบทบาทในอนาคต เพราะการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นตามโรดแมพหลังจากกฎหมายลูกถูกร่างเรียบร้อยแล้ว กอ.รมน.ในเงื่อนไขเช่นนี้อาจถูกวิจารณ์ว่าเป็นองค์กรที่จะเข้ามาเสริมบทบาททหารในทางการเมือง และในการต่อสู้ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 51/2560 นี้ พยายามลดกระแสต่อต้านด้วยการสร้างให้เกิดภาพลักษณ์ว่า กอ.รมน.จะเป็นองค์กรในการแก้ปัญหาความมั่นคงภายใน ทั้งที่ในโครงสร้างปัจจุบัน รัฐบาลสามารถใช้เครื่องมือต่างๆ ได้อยู่แล้ว เช่น การสั่งการผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แต่การเลือกเอากอ.รมน.มาใช้เช่นนี้ เป็นเพราะในความเป็นจริงแล้วกอ.รมน. คือ “กองทัพบก” ไม่ใช่เป็นองค์กรของฝ่ายพลเรือน การออกคำสั่งเช่นนี้เท่ากับส่งสัญญาณว่า งานความมั่นคงทั้งหมดในอนาคตจะอยู่ในมือของทหารแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะในมือของกองทัพบกที่มีบทบาทสำคัญในกอ.รมน.

ในอีกด้าน คำสั่งนี้เป็นความพยายามในการยกระดับให้กอ.รมน.เป็นเสมือน Homelands Security (กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ) ของสหรัฐ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กอ.รมน. เป็นองค์กรทางทหาร และไม่มีขีดความสามารถที่จะทำได้เช่นนั้นได้

ฉะนั้นภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความกังวลว่าองค์กรนี้จะถูกใช้เพื่อภารกิจทางการเมืองมากกว่าจะทำงานด้านความมั่นคงจริงๆ ดังที่เห็นได้จากปรากฏการณ์หลังรัฐประหาร 2549 และ 2557 ที่ กอ.รมน.กลายเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนบทบาทของทหารทั้งในเมืองและชนบท และเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า กอ.รมน. เป็นเครื่องมือของกองทัพในสงครามการเมืองในปัจจุบัน

ถ้าเป็นเช่นนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตที่อ่อนแอจากเงื่อนไขรัฐธรรมนูญของ คสช. จะยิ่งประสบปัญหาจากการขยายบทบาทของทหารเช่นนี้มากขึ้นไปอีก