โรคหายาก-สุขภาพกุ้ง วิจัยคว้าทุนนิวตัน 8.6 ล้าน

โรคหายาก-สุขภาพกุ้ง วิจัยคว้าทุนนิวตัน 8.6 ล้าน

กองทุนนิวตันเฟ้นผลงานวิจัยเด่นปี 2560 มอบทุน 8.6 ล้านบาทเติมศักยภาพองค์ความรู้ไทย “จุฬาฯ-ไบโอเทค” ควงคู่รับทุนจากโครงการศึกษาพัฒนากระบวนการตรวจวินิจฉัยกลุ่มโรคหายากที่พบบ่อย และโครงการมุ่งบูรณาการเทคโนโลยีและองค์ความรู้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง

กองทุนนิวตันหรือ Newton Fund เป็นโครงการที่มอบทุนวิจัยให้กับนักวิจัยของประเทศต่างๆ ที่ทำงานด้านการวิจัยและ/หรือนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาสำคัญที่ประเทศร่วมทุนของกองทุนนิวตันกำลังเผชิญอยู่ ในแต่ละปี (ตั้งแต่ปี 2560-2564) มีนักวิจัยได้รับทุนนี้ิั 5 คนใน 5 ประเทศ ในปีนี้ก็มีมาเลเซีย เวียดนามและไทย ขณะที่อินเดียได้รับ 2 รางวัล รวมมีโครงการส่งมาชิงทุนทั้งหมด 150 โครงการ

องค์ความรู้เพื่อโรคหายาก

ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้จะมีชื่อเรียกว่ากลุ่มโรคหายากแต่ก็พบบ่อยหรือเฉลี่ย 8% ของประชากรไทยหรือมากกว่า 5 ล้านคน เนื่องจากเป็นกลุ่มโรคที่มีมากกว่า 7,000 อาการ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ แพทย์ประสบการณ์น้อยทำให้ไม่สามารถตรวจวินิจฉัยได้ มีรายงานว่า บางโรคนั้นใช้เวลา 7 ปีตรวจวินิจฉัยกว่าจะระบุชนิดของโรคได้ชัดเจน

โจทย์วิจัยจึงเกิดขึ้นด้วยความต้องการเทคนิคการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วและแม่นยำ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง โดยร่วมมือกับสถาบันสุขภาพเด็ก UCL Great Ormond Street Institute of Child Health ประเทศอังกฤษที่มีความเชี่ยวชาญและความพร้อมด้านเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยสารพันธุกรรม มาพัฒนากระบวนการตรวจวินิจฉัยให้กับไทย

“อังกฤษมีกระบวนการตรวจวินิจฉัยโรคหายากที่โดดเด่น มีเครื่องวิเคราะห์ลำดับสารพันธุกรรมและเทคโนโลยีในการตรวจหาสารพันธุกรรม แต่ไม่สามารถหยิบยกมาใช้กับสารพันธุกรรมคนไทย ทีมวิจัยจึงต้องศึกษาและสร้างฐานข้อมูลสารพันธุกรรมคนไทย เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้อง”

การตรวจวินิจฉัยโดยการหาจากสารพันธุกรรมนั้น ต้องอาศัย 4 ปัจจัยหลักคือ เครื่องวิเคราะห์ลำดับสารพันธุกรรม โปรแกรมตรวจวิเคราะห์ลำดับสารพันธุกรรม ฐานข้อมูลสารพันธุกรรม และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทางอังกฤษจึงเข้ามาให้คำปรึกษาโดยใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์แนะนำวิธีการตรวจ ขณะที่ไทยจัดซื้อเครื่องมือราคาหลายสิบล้านบาท และศึกษาเก็บข้อมูลสร้างฐานข้อมูลสารพันธุกรรม พัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์ และสร้างบุคลากรเป็นทีมทำงานที่มีศักยภาพ

นอกจากนี้ โครงการวิจัยนี้ยังจะสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วไทย นำร่องที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในการส่งตัวอย่างหรือตัวผู้ป่วยมาตรวจที่ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้สามารถตรวจวินิจฉัยโรคที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ศึกษาและหาพยาธิกลไก ที่จะนำไปสู่วิธีการรักษาที่ตรงกับสาเหตุของโรค

นวัตกรรมหนุนอุตฯเลี้ยงกุ้ง

สำหรับปีนี้กองทุนนิวตันได้เพิ่มรางวัลพิเศษหรือ Charity Award ให้โครงการวิจัยของไทยคือ "เครือข่ายวิจัยเพื่อสุขภาพกุ้ง” รับรางวัล 8.6 ล้านบาทเช่นกัน

กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ หัวหน้าห้องปฏิบัติการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกุ้งและเชื้อก่อโรค ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า เครือข่ายวิจัยเพื่อสุขภาพกุ้งหรือเครือข่าย INSH (International Networks for Shrimp Health) เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทย ได้แก่ ไบโอเทค, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, กรมประมง และสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย กับ 3 หน่วยงานในสหราชอาณาจักร ได้แก่ ศูนย์สิ่งแวดล้อม ศูนย์วิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการประมง และมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์

จุดมุ่งหมายคือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมทั้งจากภาครัฐและเอกชน ร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขและการเฝ้าระวังโรคกุ้งอย่างบูรณาการ เพื่อควบคุมและป้องกันโรคอุบัติใหม่ รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ยังมุ่งการวิจัยเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพกุ้ง 4 โครงการ คือ งานวิจัยเพื่อหาพาหะหรือแหล่งสะสมเชื้อปรสิต EHP สาเหตุที่ทำให้กุ้งอ่อนแอและโตช้าอย่างรุนแรง, งานวิจัยเพื่อหาสาเหตุภาวะกุ้งขี้ขาว ซึ่งพบในหลายประเทศรวมถึงไทย, โครงการวิเคราะห์ผลกระทบจากการมีชิ้นส่วนไวรัสแทรกในจีโนมของกุ้งต่อวิธีการตรวจไวรัส IHHNV ที่ใช้ในการส่งออกกุ้งกุลาดำ และการพัฒนาชุดตรวจที่มีราคาถูก แสดงผลเร็วและเกษตรกรสามารถใช้งานได้ด้วยตนเอง