กำลังซื้ออุปโภคบริโภคไทยวูบ แนะเจาะอาเซียน-นักท่องเทียวจีน

กำลังซื้ออุปโภคบริโภคไทยวูบ แนะเจาะอาเซียน-นักท่องเทียวจีน

ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค(เอฟเอ็มซีจี) ที่จัดเก็บข้อมูลโดย “นีลเส็น” ในรอบ 12 เดือนปีก่อน มีมูลค่า 9.2 แสนล้านบาท ขณะที่ปีนี้อยู่ที่ 8.9 แสนล้านบาท ลดลงเฉลี่ย 3.27% สะท้อนถึงกำลังจับจ่ายผู้บริโภคปีนี้ที่ยังอยู่ในภาวะซบเซา

แม้ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศ(จีดีพี)ปีนี้ จะเติบโตที่ 3.5-4%  พบว่ากลไกขับเคลื่อนการเติบโตมาจากการลงทุนภาครัฐและส่งออกที่ขยายตัวสูง ขณะที่การบริโภคในประเทศเติบโต 3.2% และการลงทุนเอกชน 2.2%

นอกจากนี้หนี้ครัวเรือนยังมีอัตราสูง ไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 78.6% โดยหนี้จากการบริโภคในครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 27% ซึ่งเป็นการก่อหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ ต่างจากการก่อนหนี้ประเภทอื่นๆ ที่มีโอกาสสร้างรายได้ในอนาคต

สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) กล่าวว่าแม้ตัวเลขจีดีพี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เติบโตจากการบริโภคและภาคเอกชนลงทุน ส่งผลให้กำลังซื้อและเงินในกระเป๋าผู้บริโภคลดลง ปัจจุบันยังพบว่า“ช่องว่าง”รายได้ครัวเรือนในประเทศไทย มีสัดส่วนของกลุ่มบนและกลุ่มล่างชัดเจนขึ้น  โดยกลุ่มรายได้ปานกลาง ยังเป็นสัดส่วนใหญ่ของประเทศ แต่กลุ่มนี้มีการเปลี่ยนแปลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คือ ย้ายไปอยู่กลุ่มบนหรือกลุ่มล่าง

“ช่องว่างรายได้ครัวเรือนไทย ปีนี้ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มรายได้สูงและกลุ่มล่าง จะเห็นได้ว่าสินค้าหรูต่างๆ  ทั้งรถยนต์  คอนโด ยังมียอดขายดี เช่นเดียวกับสินค้าตลาดแมส  ขณะที่ตลาดระดับกลางซบเซา”

จากการเก็บข้อมูลของ “นีลเส็น รีเทล อินเด็กซ์” ในด้านมูลค่ายอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค อยู่ในภาวะ“ติดลบ”มาตั้งแต่เดือน มิ.ย.2559 ถึงปัจจุบัน เว้นเพียงเดือน ก.ย. 2560 ที่ตัวเลขเป็นบวก จากการเร่งกระตุ้นตลาดล่วงหน้าของผู้ผลิต ก่อนเดือน ต.ค.ที่มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

“ตัวเลขยอดขายเชิงมูลค่าของสินค้าอุปโภคบริโภคเดือน พ.ค.ปีนี้ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ติดลบ 7.6%  พบว่าในรอบ 40 ปีของนีลเส็นที่จัดเก็บข้อมูล ไม่เคยเห็นตัวเลขติดลบสูงขนาดนี้มาก่อน”

อีกปัจจัยที่สะท้อนกำลังซื้อผู้บริโภคถดถอย มาจากจำนวนการจัดแคมเปญโปรโมชั่นในใบปลิวและหนังสือพิมพ์ ของกลุ่มสินค้าอุปโภค“ลดลง”  โดยปี 2559 มีจำนวน 11,985 แคมเปญ ขณะที่ปีนี้ อยู่ที่ 10,575 แคมเปญ หรือลดลง 12%  

“ปกติเมื่อกำลังซื้อหรือเศรษฐกิจซบเซา ผู้ผลิตสินค้าจะต้องโหมจัดโปรโมชั่น กระตุ้นกำลังซื้อ แต่ตัวเลขจำนวนแคมเปญที่ลดลง 12% ในปี สะท้อนว่าการจัดโปรโมชั่นก็ไม่สามารถกระตุ้นกำลังซื้อได้ เพราะเงินในกระเป๋าลดลง ผู้ผลิตจึงเลือกเก็บเงินไม่จัดแคมเปญ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายแทน”

สมวลี กล่าวว่าช่วงครึ่งปีแรก 2560 มูลค่ายอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค ติดลบ 2.5% โดยผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งไทยและต่างประเทศ ที่มียอดขายสูงสุดติดอันดับ 1-5 ของตลาดเอฟเอ็มซีจีในไทย  ซึ่งจัดเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุด ครองส่วนแบ่งการตลาด 36%  มียอดขายลดลง 6.2%  ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ที่ติดอันดับ 6-10 ครองส่วนแบ่งตลาด 14% มียอดขายลดลง 4.9%

ขณะที่บริษัทขนาดกลาง อันดับ 11-30 ครองส่วนแบ่งตลาด 20% ยอดขาย “ทรงตัว” ส่วนบริษัทขนาดกลางที่มียอดขายอยู่ในอันดับ 31-100 ครองส่วนแบ่งตลาด 20% มียอดขาย“เพิ่มขึ้น” 1.3% และบริษัทขนาดกลางถึงเล็ก ที่อยู่อันดับต่ำกว่า 100 ครองส่วนแบ่งการตลาด 10% ยอดขายเติบโต 2.4%

สถานการณ์ดังกล่าวกำลังสะท้อนว่าบริษัทขนาดกลางและเล็กที่สามารถปรับตัวทำตลาดยืดหยุ่นตามสถานการณ์ มีนวัตกรรมสินค้าตอบโจทย์ผู้บริโภค และมีการวางตำแหน่งสินค้าที่ชัดเจนยังมีโอกาสเติบโตได้ท่ามกลางภาวะกำลังซื้อถดถอย

“จากตัวเลขรายได้ครัวเรือนไทยที่มีช่องว่างชัดเจนของกลุ่มรายได้สูงและกลุ่มล่าง ดังนั้นการวางตำแหน่งของสินค้าต้องชัดเจนเช่นกันว่าจะทำตลาดพรีเมียมหรือแมส  หากมีโพซิชั่นนิ่งชัดเจนและทำตลาดสนองกลุ่มดังกล่าว ยังมีโอกาสโตได้”

แม้กำลังซื้อตลาดไทยจะอยู่ในภาวะซบเซาปีนี้ แต่พบว่าตลาดอุปโภคบริโภคอาเซียนหลายประเทศมีแนวโน้มเติบโต  เช่น ฟิลิปปินส์ เติบโต 7% , เวียดนาม เติบโต 6% ,อินโดนีเซีย เติบโต 5%  ดังนั้นผู้ผลิตควรมองหาโอกาสขยายตลาดในกลุ่มประเทศดังกล่าว

เช่นเดียวกันกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวจีน ถือเป็นอีกตลาดกำลังซื้อสำคัญ ปีที่ผ่านมาไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 32 ล้านคน  ปีนี้คาดเพิ่มเป็น 35 ล้านคน   ส่วนนักท่องเที่ยวจีนปีก่อน อยู่ที่ 8.8 ล้านคน ปีนี้คาดเพิ่มเป็น 10 ล้านคน ทั้ง 2กลุ่ม ถือเป็นอีกกำลังซื้อสำคัญ ที่ผู้ผลิตจะต้องหันมาทำตลาด เพื่อสร้างโอกาสเติบโตให้สินค้าอุปโภคบริโภค  โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ที่ชื่นชอบสินค้าไทย