'อัยการ' ยื่นอุทธรณ์เอาผิด ทัวร์ศูนย์เหรียญ 3 ข้อหา

'อัยการ' ยื่นอุทธรณ์เอาผิด ทัวร์ศูนย์เหรียญ 3 ข้อหา

โฆษกอัยการ เผย คณะทำงานอัยการคดีศาลสูง ตรวจละเอียดสำนวนพร้อมยื่นอุทธรณ์คดี มั่นใจหลักฐานที่มีสู้ชั้นอุทธรณ์ได้ หลังศาลยกฟ้องเอกชน 13 ราย

เมื่อวันที่ 23 พ.ย.60 นายวันชาติ สันติกุญชร อธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงความคืบหน้าการอุทธรณ์คดีทัวร์ศูนย์เหรียญที่ศาลอาญา มีคำพิพากษายกฟ้องไปเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาว่า หลังจากที่ศาลอาญา มีคำพิพากษาคดีทัวร์ศูนย์เหรียญไปเมื่อวันที่ 25 ส.ค.60 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 13 รายโดยเห็นว่าพยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์นั้น คณะทำงานอัยการสำนักงานคดีศาลสูงได้พิจารณารายละเอียดในคำพิพากษาแล้ว ไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลอาญา จึงได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์แล้ว ในวันนี้ (23 พ.ย.)โดยคณะทำงานอัยการเห็นว่าพยานหลักฐานที่มีสามารถรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 13 รายกระทำความผิดตามฟ้อง

ขณะที่นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกอัยการฯ กล่าวเสริมว่า การยื่นอุทธรณ์นี้ เพราะอัยการพิจารณาแล้วไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุกประเด็น จึงได้ยื่นอุทธรณ์ทุกประเด็นเช่นกันโดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงจำเลยทั้งหมดทุกข้อหา ตามขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อจำเลยทั้งหมดได้สำเนาคำอุทธรณ์แล้วก็ต้องยื่นคำแก้อุทธรณ์ส่งต่อศาลเพื่อรวบรวมเสนอศาลอุทธรณ์ พิจารณาต่อไป ส่วนคดีมาตรการริบทรัพย์ทางแพ่งที่อัยการได้ยื่นฟ้องไว้ต่อศาลแพ่งนั้น คดีก็อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้สืบเนื่องจากบริษัททัวร์ได้นำนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเข้ามาโดยไม่มีค่าบริการ หรือที่เรียกว่า ทัวร์ศูนย์เหรียญ เมื่อปี 2559 จนมีการดำเนินคดี บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ที่ให้ใช้รถบัสรับนักท่องเที่ยวฟรี และเป็นผู้กำหนดแผนการเดินทางให้มัคคุเทศก์พานักท่องเที่ยวแวะซื้อสินค้าจากร้านในเครือเดียวกับบริษัท โอเอ ฯ เช่น บริษัท บ้านขนมทองทิพย์ จำกัด ซึ่งมีการกล่าวหาว่าสินค้าภายในร้านนั้นมีราคาแพงกว่าท้องตลาด และแสดงฉลากไม่ถูกต้องทำให้ได้มาซึ่งเงินของนักท่องเที่ยวศูนย์เหรียญชาวจีน มูลค่า 98 ล้านบาทเศษ โดยมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้บริษัททัวร์ 30-40% ให้มัคคุเทศก์ 3-5% ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของประเทศ

โดยอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 3 ได้ยื่นฟ้อง นายสมเกียรติ คงเจริญ อายุ 58 ปี กก.ผจก.บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด , นางธวัล แจ่มโชคชัย อายุ 60 ปี กก.ผจก.บจก.ฝูอัน ทราเวล, บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด, นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี อายุ 27 ปี กก.ผจก บจก.โอเอฯ , บริษัท รอยัลเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ไทยเฮิร์บ จำกัด, บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด , บริษัท รอยัลพาราไดซ์ จำกัด, นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี อายุ 62 ปี กรรมการผู้จัดการทั้งสี่บริษัท ซึ่งเป็นมารดาของนายวสุรัตน์ , นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี อายุ61 ปี สามีของนางนิสา, บริษัท บ้านขนมทองทิพย์ จำกัด, น.ส.สายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสิ อายุ 36 ปี กรรมการผู้มีอำนาจ บจก.บ้านขนมทองทิพย์ซึ่งเป็นบุตรของนายธงชัย และนายวินิจ จันทรมณี อายุ 70 ปี ผจก.บจก.ฝูอัน ทราเวล เป็นจำเลยที่ 1-13 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.59 เป็นคดีหมายเลขดำ ฟย.46/2559 ฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคแรก, พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 และร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ขณะที่จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดีมาโดยตลอด

กระทั่งมีการสืบพยานอัยการโจทก์ และจำเลย จนเสร็จสิ้น แล้วศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า พวกจำเลยประกอบธุรกิจ ให้เช่ารถบัสนำเที่ยวและจำหน่ายสินค้าแก่นักท่องเที่ยว เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวมิใช่ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจึงไม่ต้องขอจดทะเบียน ส่วนคำว่า ทัวร์ศูนย์เหรียญ เป็นการเรียบเก็บเงินนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน และมีการกำหนดโปรแกรมท่องเที่ยวเอาไว้ก่อนแล้ว ซึ่งในไทยมีการประกอบธุรกิจลักษณะเช่นนี้กว่า 300 บริษัทมีการแข่งขันค่อนข้างสูงซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ขณะที่กลุ่มพนักงานสอบสวนไม่เคยเดินทางไปตรวจสอบร้านค้าและกิจการของจำเลย โดยพวกจำเลยก็นำสืบสอดคล้องทำนองเดียวกันว่าไม่ได้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว แต่ประกอบธุรกิจให้เช่ารถบัสกว่า 2,000 คัน และมีร้านจำหน่ายสินค้าแก่นักท่องเที่ยวจำนวนมาก มีเงินทุนหมุนเวียนกันในบริษัท โดยถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม