ผุด 'ม.ต่างชาติ' แห่งแรก เน้นสาขาขาดแคลน-รับอีอีซี

ผุด 'ม.ต่างชาติ' แห่งแรก เน้นสาขาขาดแคลน-รับอีอีซี

หลังจากประกาศคำสั่งคสช.ตามอำนาจมาตรา 44 ส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ

หลังจากประกาศคำสั่งคสช.ตามอำนาจมาตรา 44 ส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและวิทยาการที่มีคุณภาพและทันสมัยเพื่อนำองค์ความรู้ มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) นั้น

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการเเถลงข่าววานนี้ (22 พ.ย.) ถึงการจัดตั้ง “มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล” ภายใต้การจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา เเละสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งในภาคการศึกษา อุตสาหกรรมเเละเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 จึงจะเป็นต้องถ่ายทอดวิทยาการและองค์ความรู้สู่ระบบการศึกษาไทยเพื่อต่อยอดเป็นเครื่องมือในการสร้างบุคลากรและพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวมากขึ้น

มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคเเอลจึงเป็นต้นเเบบการจัดการศึกษาเพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศเเละเป็นมหาวิทยาลัยเเห่งเเรกหลังรัฐบาลใช้ม.44 ให้สถาบันอุดมศึกษาเข้ามาจัดการศึกษาในไทย ถือเป็นโอกาสที่ดีของคนไทย เเละในฐานะรัฐบาลก็ยินดีที่มีส่วนทำให้เกิดโครงการนี้

ขณะเดียวกันยังมีมหาวิทยาลัยเนชั่นนอลไต้หวัน ยูนิเวอร์ซิตี้ สมัครขอคัดเลือกมาจัดการศึกษาในไทย เเต่ยังไม่อนุมัติ เพราะรายละเอียดยังไม่เรียบร้อย

ด้านนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสจล.กล่าวว่า มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เป็นการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานระดับโลก ไม่ได้เป็นการเรียนร่วมกันในบางโปรเเกรมเท่านั้น ซึ่งหลักสูตรเเละมาตรฐานการเรียนการสอนทั้งหมดเป็นของมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน เเม้บางปีการศึกษาจะเรียนที่ไทยก็จะเหมือนกับการเรียนที่สหรัฐ

ขณะที่บางปีการศึกษาจะส่งนักศึกษาไปเรียนกับคณาจารย์ที่สหรัฐ แล้วกลับมาฝึกปฏิบัติงานในบริษัทเอกชน ซึ่งจุดประสงค์หลักของการจัดตั้ง เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยทางนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ชาติโดยเน้นการเรียนรู้แบบ Problems-Based เรียนจากปัญหาสู่การค้นคว้าเเละวิจัย พร้อมนำร่องเปิดสอนในปีการศึกษา 2561 ใน 2 สาขาวิชาที่ไทยยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ในระดับปริญญาเอกและปริญญาโท เเละสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ในระดับปริญญาโท

โดยหลักสูตรจะครอบคลุมเทคโนโลยีสมัยใหม่อาทิ ด้านดาต้าและการป้องกันภัยไซเบอร์ ด้านหุ่นยนต์สมองกลและการควบคุมจักรกลอัตโนมัติและด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยเป้าหมายหลักของการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้ทำงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการของการพัฒนาประเทศได้อย่างตรงจุด
ขณะที่ นายสุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวว่าการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยจะใช้รูปแบบและมาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน โดยเปิดรับระดับปริญญาเอกจำนวน 5 คน มีระยะเวลาเรียน 5 ปี โดยเรียนในไทย 2 ปีและที่สหรัฐ 3 ปี

โดยจะเน้นคุณภาพของนักศึกษาและอาจารย์ให้เทียบเท่าระดับสากล สร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลภายใน 5-10 ปี ส่วนระดับปริญญาโทรับนักศึกษา 10 คน ระยะเวลาเรียน 2 ปี เรียนในไทย 1 ปีและสหรัฐ 1 ปี เพื่อสร้างนวัตกรรมออกสู่ตลาดโลกภายใน 2-3 ปี ส่วนอนาคตจะเปิดรับนักศึกษาเพิ่มหรือไม่ ต้องประเมินอีกครั้งโดยได้รับสมัครตั้งเเต่บัดนี้จนถึงสิ้นเดือนธ.ค.2560 เเละจะเปิดสอนในเดือนสิงหาคมปี2561 โดยในไทยจะเรียนที่ชั้น 9 สำนักอธิการบดีสจล. ก่อนจะไปเปิดวิทยาเขตในเขตอีอีซี ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาเรียนที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน