อีคอมเมิร์ซไทยโต 30% ‘ออมนิแชนแนล-โมบายเพย์เมนท์’หนุน

อีคอมเมิร์ซไทยโต 30% ‘ออมนิแชนแนล-โมบายเพย์เมนท์’หนุน

ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยโตแกร่ง เฉลี่ย 20-30% ต่อปี แรงหนุนนักช้อปออนไลน์พุ่ง-ตลาดโมบายแข็งแกร่ง เทรนด์ปี61 รูปแบบ“ซีทูซี”มาแรง จับตามาร์เก็ตเพลสแข่งเดือด

อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซประเทศไทย มีความเคลื่อนไหวให้ติดตามต่อเนื่อง โดยเฉพาะยุคที่เรียกได้ว่าเป็น“เว็บเฟิร์ส” “โมบายเฟิร์ส” ขณะเดียวกันกำลังก้าวสู่ “นิว รีเทล”หรือ ค้าปลีกยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี

ในงาน “ไพรซ์ซ่า อีคอมเมิร์ซ อวอร์ด 2017” จัดโดย“ไพรซ์ซ่า”ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา 

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด กล่าวว่าอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซประเทศไทยมีศักยภาพเติบโตได้สูงมาก ต่อปีประมาณ 20-30% ขณะเดียวกันสัดส่วนบนออนไลน์ยังน้อยมากแค่ 1% ของภาพรวมค้าปลีก

ปัจจุบันไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำราว 38 ล้านคน นักช้อปออนไลน์  12.1 ล้านคน หรือคิดเป็น 32% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต คาดว่าปี 2561 นักช้อปจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากปัจจัยบวกทั้งการสนับสนุนภาครัฐผ่านนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การพัฒนาอีเพย์เมนท์ การมาของฟินเทค ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในแวดวงโลจิสติกส์

“แนวโน้มปี 2561 แน่นอนว่าการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ จะผลักดันให้การแข่งขันสูงขึ้น แต่ทั้งนี้ตลาดไทยมีเอกลักษณ์ ดังนั้นยังคงมีช่องว่างสำหรับรายเล็ก รวมถึงแบรนด์ที่มีจุดยืนแข็งแรง”

ส่วนประเด็นการเรียกเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซโดยภาครัฐ เชื่อว่าจะส่งผลเชิงบวก หากผู้ประกอบการเข้าระบบอย่างถูกต้อง ยิ่งส่งผลดีต่อตนเอง ส่วนตัวมองว่าการออกนโยบายของรัฐต้องอิงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

ตลาดโมบายโตแกร่ง

ไพรซ์ซ่าชี้ว่ากลุ่มสินค้ายอดนิยมจำแนกโดยการคลิก อันดับต้นๆ คือ อิเล็กทรอนิกส์และแกดเจ็ท 14% แฟชั่น 14% สมาร์ทโฟน 11% เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน 8% ยานยนต์และอุปกรณ์ 8% สุขภาพและความงาม 8% คอมพิวเตอร์ 6% อุปกรณ์สำนักงาน 3% และอื่นๆ 29%

ที่น่าสนใจทราฟฟิกการเข้าชมพบว่าช่องทางโมบายเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากปี2559 สัดส่วนจากโมบาย 63% พีซี 30% แทบเล็ต 7% ปี 2560 โมบายเพิ่มขึ้นเป็น 70% พีซีลดเหลือ 25% แทบเล็ต 5%

แม้หลักๆ 70% ของผู้ใช้งานจะเข้าใช้ทางสมาร์ทโฟน แต่หากลงลึกไปถึงยอดการสั่งซื้อเชิงมูลค่าจากพีซียังคงมากกว่า โดยอยู่ที่ 2,008 บาทต่อคำสั่งซื้อ สูงกว่าสมาร์ทโฟนที่มูลค่า 1,177 บาทต่อคำสั่งซื้อ กว่า 70% แสดงให้เห็นว่าหากสินค้าราคาสูง หรือต้องการซื้อหลายๆ ชิ้นคนไทยยังมั่นใจผ่านพีซีมากกว่า

ข้อมูลโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ.ระบุว่า “บีทูซี อีคอมเมิร์ซ” ไทยปี 2559 สัดส่วน 40% มาจากช่องทางโซเชียลมีเดีย 29% อีมาร์เก็ตเพลส 27% ค้าปลีกออนไลน์และแบรนด์ดอทคอม และ 4% การค้าข้ามแดน

โดยสรุปช่องทางที่คนไทยใช้ค้นหาสินค้ามากที่สุดบนโลกออนไลน์ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย การค้นหาโดยตรงจากเว็บไซต์ของแบรนด์ อีเมล ไพรซ์ซ่า กูเกิลเสิร์ช และเฟซบุ๊ค

ตั้งเป้าปี61โตอีก50%

นายธนาวัฒน์ กล่าวว่าปี 2560 จำนวนผู้ใช้บริการไพรซ์ซ่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 50% หรือกว่า 125 ล้านการคลิกเข้าใช้งาน(เซสชั่น) ขณะที่ปี 2561 ตั้งเป้าเติบโตอีก 50% หรือเพิ่มเป็น 188 ล้านเซสชั่น ปัจจัยบวกจากโครงการพื้นฐานที่ดีขึ้น การปรับแก้กฎหมาย การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เอื้อให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาจับจ่ายสินค้าบนโลกออนไลน์มากขึ้น

บริษัทคาดด้วยว่า ปลายปี 2561 จะมีฐานผู้ใช้บริการเฉลี่ยเดือนละ 18 ล้านคน จากปัจจุบันประมาณ 12 ล้านคน หรือ 4 แสนครั้งต่อวัน รวมทุกประเทศประมาณ 15 ล้านคนต่อเดือน

ปัจจุบัน ไพรซ์ซ่าให้บริการ 6 ประเทศในอาเซียนได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีสมารชิกร่วมกว่า 1.2 ล้านบัญชี เฉพาะในไทยฐานข้อมูลสินค้ามีอยู่กว่า 28 ล้านรายการ โมเดลรายได้หลักๆ มาจากค่าโฆษณาสัดส่วนรายได้ 80% มาจากไทย ต่างประเทศ 20%

ออนไลน์โอกาสโต1000%

เวทีเสวนา “E-Commerce and The Future of Retail 2018” นายยุทธนา จิตจรุงพร รองกรรมการบริการฝ่ายธุรกิจออนไลน์ เทสโก้ โลตัส ประเมินว่าด้วยฐานตลาดที่ยังเล็ก ออนไลน์จึงมีโอกาสเติบโตได้ 100-1,000% โดยปัจจัยที่จะผลักดันให้เติบโตมาจากช่องทาง ราคา และการพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า

“ไทยยังเป็นตลาดที่ยังไม่เติบโตเต็มที่ หลายรายแม้ล้มเหลว แต่ยังเดินหน้าต่อ ผมเชื่อว่ายังสามารถไปต่อได้อีกไกล”

ส่วนการมาของผู้เล่นระดับโลก ยิ่งทำให้มีส่วนลด โปรโมชั่น มุมผู้บริโภคจะยิ่งยึดติดกับส่วนลด มองแต่สินค้าราคาถูก ซึ่งยังประเมินไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี แต่ผู้ประกอบการต้องเหนื่อยมากขึ้นแน่นอน

นอกจากนี้ “ออมนิ แชนแนล”มีมากขึ้น กลยุทธ์เทสโก้ฯ มุ่งพัฒนาประสบการณ์ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ผู้ประกอบการต้องหาวิธีการพัฒนานวัตกรรม คุยกับลูกค้าให้ดีกว่าเดิม

“เทคนิคที่จะทำให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ต้องรู้จักลูกค้า และรู้ว่าจุดแข็งของตนเองอยู่ตรงไหน”

อย่างไรก็ตาม ออฟไลน์ไม่มีทางที่จะตายหายไป ทุกวันนี้ห้างสรรพสินค้าไม่ใช่แค่สถานที่ซื้อขายสินค้า แต่เกี่ยวเนื่องกับไลฟ์สไตล์ของคน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อน ครอบครัว

โมบายเพย์เมนท์หนุน

นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปีนี้คนไทยหันมาจับจ่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์ โมบาย และโซเชียลเน็ตเวิร์คมากขึ้นชัดเจน ขณะที่แบรนด์ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงบิ๊กดาต้า เพื่อนำมาใช้ส่งเสริมความแข็งแรงด้านการตลาด

สำหรับเทรนด์อีคอมเมิร์ซปี 2561 ที่เห็นได้ชัดคือ การมาของอีคอมเมิร์ซรูปแบบ “ซีทูซี” ซื้อขายกันเองระหว่างรายย่อยๆ จากการเติบโตของโมบายเพย์เมนท์ ผู้บริโภคคุ้นเคยกับการซื้อขายบนช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น

ดังนั้นผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการมีตัวตนบนออนไลน์ ตั้งแต่การเสิร์ช โซเชียลมีเดีย รีวิว และทุกๆ ที่ที่ผู้บริโภคอยู่ อย่างน้อยพยายามดึงเข้ามาสู่ออฟไลน์สโตร์ให้ได้ ธุรกิจค้าปลีกวิวัฒนาการมีหลายมิติสำคัญคือการสร้างฐานลูกค้าของตนให้ได้

“ปีหน้าคำว่าเติบโตอาจใช้ไม่ได้ เป็นเรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมใหม่ของคน สำคัญต้องรู้จักลูกค้า ลงลึกการใช้งานดาต้าเพราะว่าต้องได้ใช้แน่ๆ ด้วยการแข่งขันเป็นเรื่องราคา ดังนั้นต้องลดต้นทุนซึ่งแนวทางคือ การนำข้อมูลมาใช้ หาวิธีการใช้เงินเท่าเดิมทว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น"

เศรษฐกิจส่งสัญญาณบวก

นายผรินทร์ สงฆ์ประชา ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร บริษัท นาสเก็ต รีเทล จำกัด กล่าวว่าผู้ประกอบการต่างเปิดรับอีคอมเมิร์ซ มองว่า“ไม่ไปไม่ได้” และต้องการขายสินค้าในทุกช่องทางที่มีอยู่ ส่วนปัญหาที่พบมากที่สุดคือเรื่อง การจัดระบบบัญชี ไอที และคลังสินค้า อีกทางหนึ่งเห็นได้ชัดเจนว่างบการทำโฆษณาบนออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดีผู้ค้ารายเล็กต้องแข่งกับตลาดเล็กด้วยกัน อยู่บนตลาดของตนเองด้วยโมเดล“โอทูโอ” ด้านรายใหญ่ชัดเจนว่างบโฆษณาจำนวนมาก ที่เหนื่อยคือระดับกลางที่ต้องมีคู่แข่งมากขึ้น ต้องหาจุดยืนของตัวเองให้ได้ ที่ต้องให้ความสำคัญคือเรื่องแฟลตฟอร์ม พันธมิตร และการโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่ถูกต้อง

“ปีหน้าเห็นสัญญาณว่ามีข่าวดีด้านเศรษฐกิจ จากตัวชีวัดที่ออกมาดีแทบทุกทาง ความกังวลน่าจะลดลง ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการจับจ่ายสินค้าผู้บริโภคดีขึ้น”

มาร์เก็ตเพลสแข่งเดือด

นายศิวกร สิริวงศ์ภาณุพงศ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ช้อปปี้ ประเทศไทย กล่าวว่ามุมของซัพพลายการมาของเจ้าใหญ่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับเอสเอ็มอี อีกทางหนึ่งการแข่งขันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น จำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ไม่น้อยกว่า 2.5 เท่า โดยเฉพาะจากผู้ค้าในท้องถิ่นที่โกออนไลน์กันมากขึ้น

ผู้ประกอบการต้องมองหาโอกาสจากมาร์เก็ตเพลสทุกราย พิจารณาว่ารายใดที่เหมาะกับตนเองที่สุด พยายามทำธุรกิจให้ยืดหยุ่น พูดตรงๆ คือต้องไปกับทุกเจ้า โดยเลือกรายที่เหมาะหรือทำได้เร็วที่สุด

การแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นของมาร์เก็ตเพลส ยิ่งสิ่งผลดีต่อการพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ในประเทศ ผู้บริโภคมั่นใจมากขึ้น มีการให้การศึกษากับตลาดมากขึ้น สุดท้ายด้วยความพยายามเข้ามาสร้างตลาดทำให้มีการพัฒนาบุคลากร และระยะยาวผลักดันให้อีคอมเมิร์ซไทยเติบโต