'รฟม.' นัดถก 'BEM' หลังทดลองถอดที่นั่งโดยสาร

'รฟม.' นัดถก 'BEM' หลังทดลองถอดที่นั่งโดยสาร

"รฟม." นัดหารือ "BEM" หลังทดลองถอดที่นั่งโดยสารบางส่วนในขบวนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หารือกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM หลังทดลองถอดที่นั่งผู้โดยสารแถวกลางในขบวนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินออก จำนวน 1 ขบวน เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างในขบวนรถไฟฟ้าและทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้มากขึ้น โดยได้เริ่มนำมาทดลองให้บริการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 เป็นวันแรก ยันเป็นการปรับปรุงห้องโดยสาร เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ดำเนินการ เพื่อลดปัญหาผู้โดยสารรอคอยรถไฟฟ้าเป็นเวลานานช่วงเร่งด่วน

นายรณชิต แย้มสอาด ที่ปรึกษา รักษาการรองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยหลังจากการประชุมหารือร่วมกับ ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เกี่ยวกับมาตรการทดลองถอดที่นั่งบางส่วนในขบวนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินออกจำนวน 1 ขบวน ว่า จากการที่จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น BEM ได้ดำเนินการจัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่ม จำนวน 35 ขบวนแล้ว โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่ง รฟม. ได้เร่งรัดให้ BEM ดำเนินการส่งรถใหม่มาให้บริการโดยเร็วที่สุด โดยรถไฟฟ้าขบวนใหม่จะส่งมาถึงในช่วงปลายปี 2561 และจะเริ่มทยอยให้บริการได้ประมาณต้นปี 2562

โดยในระหว่างที่รอรถขบวนใหม่มาเพิ่มนั้น รฟม. ได้กำชับให้ BEM ดำเนินการหาแนวทางเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมา BEM ได้มีการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยระบายผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน เช่น การเพิ่มจำนวนพนักงานให้บริการที่สถานีมากขึ้น การปรับรูปแบบการเดินรถให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด การเพิ่มมาตรการและความถี่ด้านการบำรุงรักษา การให้ความรู้และรณรงค์การโดยสารรถไฟฟ้าที่ถูกต้องรวดเร็ว ปลอดภัย การจัดแคมเปญส่งเสริมสำหรับผู้โดยสารที่ปรับเวลามาใช้บริการเช้าขึ้นก่อนเวลา 07.00 น. รวมถึงการปรับปรุงห้องโดยสารในขบวนรถไฟฟ้าโดยถอดที่นั่งบางส่วน พร้อมทั้งเพิ่มราวจับ เป็นต้น

สำหรับการปรับปรุงห้องโดยสารในขบวนรถไฟฟ้าโดยถอดที่นั่งบางส่วนและเพิ่มราวจับนั้น เป็นการทดลองดำเนินการเช่นเดียวกับในหลายประเทศที่ดำเนินการแล้ว เพื่อให้ผู้โดยสารที่รอคอยรถไฟฟ้าเป็นเวลานานในช่วงเวลาเร่งด่วนสามารถโดยสารรถไฟฟ้าได้เร็วขึ้น โดย BEM ได้ทดลองถอดที่นั่งเพียงบางส่วนของจำนวนที่นั่งทั้งหมด และยังคงเหลือที่นั่งเพียงพอสำหรับผู้โดยสารที่มีความจำเป็น เช่น ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ภิกษุสงฆ์ เป็นต้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะช่วยให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้ 10%

ทั้งนี้ ในระหว่างการทดลองถอดที่นั่งกับรถไฟฟ้าจำนวน 1 ขบวน BEM จะได้มีการศึกษาวิเคราะห์ผลที่ได้รับจากการทดลองให้บริการจริง พร้อมทั้งรับฟังความเห็นโดยรวมของผู้ใช้บริการ และจะนำผลการทดลองให้บริการมาหารือร่วมกับ รฟม. อีกครั้ง เพื่อกำหนดมาตรการดำเนินการชั่วคราวที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้โดยสารต่อไป ทั้งนี้ หากผู้โดยสารและประชาชนมีข้อเสนอแนะ สามารถส่งข้อเสนอแนะและความเห็นผ่านสื่อออนไลน์ของ BEM หรือศูนย์บริการข้อมูล โทร. 0 2624 5200 รวมทั้งสอบถามข้อมูลและติดตามข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมได้ที่ www.mrta.co.th และ เฟซบุ๊คการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือ โทร 0 2716 4044