งัดม.44 สั่งแก้กฎหมายความมั่นคงภายใน เพิ่มอำนาจจนท.

งัดม.44 สั่งแก้กฎหมายความมั่นคงภายใน เพิ่มอำนาจจนท.

"ประยุทธ์" งัดม.44 สั่งแก้กฎหมายความมั่นคงภายในฯ เพิ่มอำนาจจนท.

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕๑/๒๕๖๐ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

โดยที่ในปัจจุบันสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างรวดเร็ว มีความซับซ้อนและกระทําได้หลากหลายรูปแบบ โดยสถานการณ์อันเป็นภัยนั้น อาจเกิดขึ้นได้ทั้งภายนอกและภายในประเทศ และอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากการกระทําของบุคคลหรือภัยจากธรรมชาติอันเป็นสาธารณภัย เพื่อให้การดําเนินการของภาครัฐในการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินสถานการณ์ และอํานวยการในการรักษาความมั่นคง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที สามารถดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง จึงจําเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อให้กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีอํานาจหน้าที่ในการรองรับต่อสถานการณ์อันเป็นภัยดังกล่าว อีกทั้งเพื่อให้การปฏิบัติงานด้านความมั่นคงและป้องกันบรรเทาสาธารณภัยมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐในทุกระดับ เพื่อประโยชน์ต่อความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยในสังคมและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๖๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับ มาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคําว่า “การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
““การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” หมายความว่า การดําเนินการเพื่อป้องกันควบคุม แก้ไข และฟื้นฟูสถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข ทําลาย หรือทําความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ รวมถึงในกรณีที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้กลับสู่สภาวะปกติเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ”

ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความใน (๑) และ (๒) ของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๑) ติดตาม ตรวจสอบ ประสานงาน และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ทั้งภายในและนอกราชอาณาจักร ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดําเนินการต่อไป

(๒) อํานวยการในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในการนี้ ให้มีอํานาจหน้าที่เสนอแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานและดําเนินการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยแผนและแนวทางนั้นต้องคํานึงถึงความสอดคล้องกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งนี้ ให้สํานักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามแผนและแนวทางนั้นด้วย เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนและแนวทางตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทําแผนงานและโครงการเพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกับแผนและแนวทางดังกล่าว”

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรพ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๙ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามอํานาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ตามพระราชบัญญัตินี้ให้หน่วยงานของรัฐจัดส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติหน้าที่ใน กอ.รมน. ตามที่ผู้อํานวยการร้องขอและให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลหรือองค์กรอื่นที่มีอํานาจหน้าที่ทํานองเดียวกันของหน่วยงานของรัฐนั้นจัดให้หน่วยงานของรัฐที่จัดส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติหน้าที่ยัง กอ.รมน. มีอัตรากําลังแทนตามความจําเป็นแต่ไม่เกินจํานวนอัตรากําลังที่จัดส่งไป โดยการจัดอัตรากําลังแทนดังกล่าวอาจจัดเป็นรายอัตราหรือเป็นหน่วยก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับคําสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ใน กอ.รมน. ตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิได้รับเงินประจําตําแหน่งในอัตราที่ได้รับอยู่เดิมต่อไป สําหรับสิทธิประโยชน์อื่นให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น”

ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๐ ให้มีคณะกรรมการอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรคณะหนึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อัยการสูงสุด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อํานวยการสํานักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นกรรมการและเลขาธิการ กอ.รมน. เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้อํานวยการแต่งตั้งข้าราชการใน กอ.รมน. เป็นผู้ช่วยเลขานุการไม่เกินสองคน
ให้คณะกรรมการมีอํานาจหน้าที่กํากับ ให้คําปรึกษาและเสนอแนะต่อ กอ.รมน. ในการปฏิบัติงานในอํานาจหน้าที่ของ กอ.รมน. รวมตลอดทั้งอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) วางระเบียบเกี่ยวกับการอํานวยการและประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของ กอ.รมน. กอ.รมน.ภาค กอ.รมน. จังหวัด คณะกรรมการอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค และคณะกรรมการอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด
(๓) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการงบประมาณ การเงินการคลัง การพัสดุและการจัดการทรัพย์สินของ กอ.รมน.
(๔) แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา กอ.รมน. โดยคํานึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆอย่างน้อยให้ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหรือมีประสบการณ์ด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การแก้ไขปัญหา โดยสันติวิธี การรักษาความมั่นคงของรัฐ สื่อมวลชนและมีหน้าที่ในการเสนอแนะการแก้ไขปัญหาหรือป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้น และให้คําปรึกษาตามที่คณะกรรมการหารือ
(๕) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทํางานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย
(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น”

ข้อ ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑/๑ และมาตรา ๑๑/๒ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑
“มาตรา ๑๑/๑ ในกรณีที่มีการจัดให้มี กอ.รมน. ภาค ตามมาตรา ๑๑ ให้ กอ.รมน. ภาคแต่ละแห่งมีคณะกรรมการอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคประกอบด้วย ผอ.รมน.ภาคเป็นประธานกรรมการ อธิบดีอัยการภาคที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีอาวุโสสูงสุด แม่ทัพน้อย ผู้บัญชาการตํารวจภูธรภาคที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีอาวุโสสูงสุด และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่ อธิบดีอัยการภาคที่อยู่ในเขตพื้นที่ ผู้อํานวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตที่อยู่ในเขตพื้นที่ ผู้อํานวยการสํานักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาคที่อยู่ในเขตพื้นที่ ผู้บัญชาการตํารวจภูธรภาคที่อยู่ในเขตพื้นที่ หัวหน้าสํานักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่ หัวหน้าส่วนราชการอื่นที่อยู่ในเขตพื้นที่ซึ่ง ผอ.รมน.ภาคแต่งตั้งจํานวนไม่เกินสิบห้าคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง ผอ.รมน.ภาค แต่งตั้งจํานวนไม่เกินห้าคนเป็นกรรมการ ให้เลขาธิการกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค เป็นกรรมการและเลขานุการ
มาตรา ๑๑/๒ คณะกรรมการอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) อํานวยการ บูรณาการ และประเมินผลการดําเนินงานการรักษาความมั่นคงภายในภาค

(๒) นํานโยบายของรัฐบาล และนโยบายในการปฏิบัติงานของผู้อํานวยการไปสู่การปฏิบัติโดยกําหนดมาตรการที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่
(๓) บูรณาการ ประสานงาน และเสริมการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในเขตพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ
(๔) ให้คําแนะนํา ข้อเสนอแนะ การปฏิบัติงานของ กอ.รมน.จังหวัด ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
(๕) แต่งตั้งอนุกรรมการหรือคณะทํางานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย
(๖) มีหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย”

ข้อ ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๓/๑ และมาตรา ๑๓/๒ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑
“มาตรา ๑๓/๑ ในกรณีที่มีการตั้ง กอ.รมน. จังหวัด ตามมาตรา ๑๓ ให้ กอ.รมน.จังหวัดแต่ละแห่ง มีคณะกรรมการอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดประกอบด้วย ผอ.รมน. จังหวัด เป็นประธานกรรมการ อัยการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าที่ทําการอัยการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย รองผู้อํานวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดฝ่ายทหาร และ ผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัด เป็นรองประธานกรรมการ หัวหน้าสํานักงานจังหวัด หัวหน้าสํานักงาน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ท้องถ่ินจังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งประจําอยู่ในจังหวัด ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งประจําอยู่ในจังหวัด ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งประจําอยู่ในจังหวัด ผู้แทนกระทรวงพลังงานซึ่งประจําอยู่ในจังหวัด ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ซึ่งประจําอยู่ในจังหวัด ผู้แทนกระทรวงแรงงานซึ่งประจําอยู่ในจังหวัด ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการซึ่งประจําอยู่ในจังหวัด ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขซึ่งประจําอยู่ในจังหวัด ผู้แทนมณฑลทหารบกที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัด หัวหน้าส่วนราชการอื่นซึ่ง ผอ.รมน. จังหวัด แต่งตั้งจํานวนไม่เกินสิบห้าคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผอ.รมน. จังหวัด แต่งตั้งจํานวนไม่เกินห้าคน เป็นกรรมการให้ปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ
มาตรา ๑๓/๒ คณะกรรมการอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) อํานวยการ บูรณาการ และประเมินผลการดําเนินงานรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด
(๒) กําหนดแนวทางในการจัดทําแผนรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด และพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดและแผนงานโครงการด้านอื่น ๆ อาทิ ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย ด้านเศรษฐกิจและสังคมของทุกส่วนราชการในจังหวัดที่เชื่อมโยงกับความมั่นคงภายในจังหวัด

(๓) กําหนดแนวทางหรือมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงภายในจังหวัดเพื่อเสนอต่อผู้อํานวยการพิจารณา
(๔) พิจารณาให้ความเห็นต่อการดําเนินการตามแผนงานโครงการของทุกภาคส่วนที่มีผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในจังหวัด โดยเสนอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องรับไปประกอบการพิจารณา
(๕) ให้คําปรึกษาแนะนําหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงภายในจังหวัด
(๖) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทํางานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย
(๗) เชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใดมาให้ข้อมูลหรือจัดส่งข้อมูลพร้อมหลักฐานประกอบเพื่อประโยชน์ในการดําเนินการของคณะกรรมการ”
ข้อ ๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔/๑ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑
“มาตรา ๑๔/๑ การประชุม การปฏิบัติหน้าที่ และการพ้นจากตําแหน่งของคณะอนุกรรมการและคณะทํางานตามมาตรา ๑๑/๒ (๕) และมาตรา ๑๓/๒ (๖) ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกําหนด”
ข้อ ๘ ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้
ข้อ ๙ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๐
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ