'สามารถ' ชี้เอาที่นั่ง 'MRT' ออกเกาไม่ถูกที่

'สามารถ' ชี้เอาที่นั่ง 'MRT' ออกเกาไม่ถูกที่

“สามารถ” ชี้ เอาที่นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินออกเกาไม่ถูกที่ แนะต้องเพิ่มจำนวนตู้

เมื่อวันที่ 22 พ.ย.60 นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์” ว่า การถอดเก้าอี้รถไฟฟ้าใต้ดิน หรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยบริษัท บีอีเอ็ม ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าใต้ดิน ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 20 พ.ย.ที่ผ่ามา เป็นสิ่งที่ประชาชนสนใจอย่างมาก และน่าแปลกใจที่การกระทำดังกล่าว เป็นเรื่องที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานแก่บีอีเอ็มไม่ได้รับรายงานมาก่อน ทั้งนี้รถไฟฟ้าให้บริการมาแล้ว 13 ปี จากผู้โดยสารใช้บริการ 147,00 คนต่อวัน ในปี 2547 จนเพิ่มเป็น 300,000 คนต่อวันในปัจจุบัน แต่บีอีเอ็มก็ยังใช้รถไฟฟ้า 19 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ อยู่ตลอด

สามารถระบุต่อไปว่า จากปัญหาชั่วโมงเร่งด่วนซึ่งทางบีอีเอ็มได้แก้ปัญหาด้วยการ 1. ทดลองถอดเก้าอี้ช่วงกลางของตู้โดยสารตู้กลางออกทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งละ 1 แถว ทำให้จำนวนผู้โดยสารนั่งลดลง 14 คน (ฝั่งละ 7 คน) จากการคำนวณพบว่า การถอดเก้าอี้ช่วงกลางออกจะทำให้ได้พื้นที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 6 ตร.ม.จะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 22 คนต่อตู้ โดยคิดความหนาแน่นของผู้โดยสาร 6 คน/ตร.ม. แต่ถ้าบีอีเอ็มถอดเก้าอี้ช่วงกลางออกทุกตู้ตามที่มีข่าว ตู้ละ 2 แถว รวมทั้งหมด 6 แถว (1 ขบวน มี 3 ตู้) จะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 66 คนต่อขบวน และจากข้อมูลของ รฟม. พบว่า ในปัจจุบันรถไฟฟ้าใต้ดินมีความจุผู้โดยสาร 885 คนต่อขบวน ดังนั้น หลังจากถอดเก้าอี้ช่วงกลางออกทุกตู้ จะทำให้มีความจุผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 951 คนต่อขบวน หรือคิดเป็นจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 7.5%

2. ตนได้รับการบอกเล่าจากผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินคนหนึ่งว่า ในช่วงเวลาประมาณ 08.00 น. ของวัน 20 พ.ย.ที่ผ่านมา เขาต้องรอรถไฟฟ้าที่สถานีสวนจตุจักร (หมอชิต) เพื่อเดินทางไปสถานีเตาปูนนานผิดปกติ กล่าวคือ ต้องรอนานถึงประมาณ 15 นาที จากปกติที่รอไม่เกิน 5 นาที ซึ่งสอดคล้องกับเว็บไซต์ของบีอีเอ็มที่ระบุว่า ในชั่วโมงเร่งด่วนเวลา 06.00–09.00 น. และ 16.30-19.30 น. จะปล่อยรถไม่เกิน 5 นาทีต่อขบวน ผู้โดยสารคนดังกล่าวจึงสอบถามพนักงานประจำสถานีถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น ได้ความว่าในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า บีอีเอ็มตัดการเดินรถเหลือสิ้นสุดแค่สถานีสวนจตุจักร ไม่วิ่งต่อไปถึงสถานีเตาปูน แล้วกลับไปรับผู้โดยสารที่สถานีพหลโยธิน เพื่อขนผู้โดยสารเข้าเมือง โดยจะทำเช่นนี้ต่อเนื่องกัน 3 ขบวน พอถึงขบวนที่ 4 จึงจะวิ่งไปจนถึงสถานีเตาปูน ซึ่งการตัดช่วงการวิ่งให้บริการเช่นนี้ ทำให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าผู้โดยสารที่สถานีสวนจตุจักรต้องรอรถไฟฟ้าเป็นเวลานานประมาณ 15 นาที เป็นผลให้มีผู้โดยสารเต็มชานชาลา และผู้โดยสารที่สถานีเตาปูนที่เดินทางมากับรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็ต้องรอรถไฟฟ้าใต้ดินนานประมาณ 15 นาที

นายสามารถ ระบุต่อไปว่า จากการแก้ไขดังกล่าวทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวก และต้องเสียเวลา ตนจึงขอเสนอให้ รฟม. รีบดำเนินการดังนี้ 1. ตรวจสอบสัญญาสัมปทานระหว่าง รฟม.กับบีอีเอ็มว่า มีการกำหนดจำนวนผู้โดยสารนั่ง และผู้โดยสารยืนต่อขบวนไว้หรือไม่ อย่างไร 2. ตรวจสอบสัญญาสัมปทาน ว่ามีการกำหนดความถี่ในการปล่อยขบวนรถไฟฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ ไว้หรือไม่ อย่างไร 3. เร่งรัดให้บีอีเอ็มเพิ่มตู้หรือขบวนรถไฟฟ้า โดยในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น ควรเพิ่มจำนวนตู้จาก 3 ตู้ เป็น 4 ตู้ต่อขบวน ทั้งนี้ในขณะที่รถไฟฟ้าใต้ดินมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นเป็นประมาณ 300,000 คนต่อวัน

ในปัจจุบัน แต่บีอีเอ็มก็ยังคงใช้จำนวนขบวนรถไฟฟ้าเท่าเดิมคือ 19 ขบวน ต่างกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงซึ่งมีผู้โดยสารน้อยกว่ารถไฟฟ้าใต้ดินมาก กล่าวคือ มีประมาณ 50,000 คนต่อวัน แต่บีอีเอ็มใช้รถไฟฟ้าถึง 23 ขบวน โดยทั้งหมดนี้ หวังว่า รฟม.จะรีบสั่งการให้บีอีเอ็มเร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อทำให้ผู้โดยสารเดินทางสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัย