ผ่าแก๊งรับจ้างติดคุกแทน หากินบนความ(อ)ยุติธรรม

ผ่าแก๊งรับจ้างติดคุกแทน หากินบนความ(อ)ยุติธรรม

ผ่าแก๊งรับจ้างติดคุกแทน หากินบนความ(อ)ยุติธรรม

การดำเนินคดีกับนายสับ วาปี และพวกที่ออกมารับสมอ้างว่าเป็นผู้กระทำผิดจริงในคดี ครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ขับรถชนคนตายนั้น ถูกตำรวจมองว่าเป็น "ขบวนการรับจ้างติดคุกแทน"

งานนี้เชื่อขนมกินได้เลยว่า ต้องโดนดำเนินคดีในข้อหาหนักที่สุด เพราะถึงขนาด “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.สั่งการด้วยตนเองให้ “กู้ศักดิ์ศรีตำรวจกลับคืนมา”

ถึงนาทีนี้ ใครๆ ก็ได้ทีออกตัวว่า รู้มานานแล้วว่าแก๊ง นายสับ วาปี เป็นตัวหลอก ก็ต้องรอดูว่าสุดท้ายจะมีพยานหลักฐานเชื่อมโยงการกระทำความผิดได้แค่ไหน

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ขบวนการรับจ้างติดคุกแทนมีอยู่จริง และมีรูปแบบการทำงานแยกได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ

รูปแบบแรก หลายคนอาจจะเคยได้ยินข่าวมาบ้าง เป็นขบวนการรับจ้างติดคุกแทนในคดีที่ไม่ใหญ่โตมากนัก และคดีที่อัตราโทษไม่สูง เช่น คดีลักลอบเล่นการพนัน หรือคดีละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างขายซีดีเถื่อน ผู้ที่รับจ้างติดคุกแทน ส่วนใหญ่จะเป็นคนเร่ร่อน หรือคนไม่มีงานทำ โดยมากเป็นคดีในกรุงเทพมหานครและตามหัวเมืองใหญ่

การรับจ้างติดคุกแทนแบบนี้ ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมมักรู้เห็นด้วย หรือบางพวกก็มีส่วนร่วมอยู่ในขบวนการเลย โดยจะมีบัญชีคนเร่ร่อนของแต่ละท้องที่อยู่ในมือ เมื่อเกิดคดีขึ้น เช่น จับบ่อนการพนัน (ซึ่งมีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง) หรือจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ (ซึ่งก็มักมีการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่) แล้วคนที่ถูกจับจริงไม่อยากติดคุก ไม่อยากถูกดำเนินคดีบนศาล เจ้าหน้าที่เองหรือ “นายหน้า” ก็จะไปหาคนเร่ร่อนเหล่านี้มารับผิดแทน แลกกับเงินประมาณ 3,000-5,000 บาท

การติดคุกแทนแบบนี้ ตำรวจจะทำสำนวนฟ้องคนที่มารับจ้างติดคุกแทนให้เป็นผู้ต้องหาจริงๆ ไปเลย ทั้งชื่อ นามสกุล และตำหนิรูปพรรณ และนำคนเหล่านี้ส่งฟ้องศาลจริง ถูกลงโทษจริง และติดคุกจริง บางทีก็ไปรับงานกันบริเวณใต้ถุนศาลก็ยังมี เรียกว่าพวก “ตีนโรงตีนศาล” นี่คือรูปแบบที่หนึ่ง

ส่วนรูปแบบที่ 2 เป็นการทำในลักษณะขบวนการ โดยมากอยู่ในต่างจังหวัด คนเหล่านี้จะไปเสาะหาคดีใหญ่ๆ โดยมากเป็นคดีจราจร หรือแม้แต่คดียาเสพติด แล้วผู้ต้องหาตัวจริงถูกจับ แต่อาจมีตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ หรือมีหน้ามีตาทางสังคม ก็ไม่อยากถูกดำเนินคดี และไม่อยากติดคุก ขบวนการรับจ้างติดคุกแทนก็จะสอดแทรกเข้าไป มีนายหน้าไปติดต่อว่าสามารถช่วยเหลือเรื่องคดีความได้ จากนั้นก็จะหาช่องโหว่ในคดี เพื่อรับสมอ้างว่าเป็นผู้กระทำผิดตัวจริง และไปรับสารภาพต่อศาล

สนนราคาของการรับจ้างติดคุกแทนรูปแบบหลังนี้ จะแพงกว่าแบบแรกมาก ราคาอยู่ในหลักแสนหรือหลักล้าน และรูปแบบหลัง โดยมากเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมจะไม่ได้รู้เห็นด้วย แต่เป็นขบวนการที่ฉวยโอกาสจากช่องโหว่ในกระบวนการยุติธรรมเข้าไปหากิน

ทั้งสองรูปแบบนี้ ไม่ว่าจะรูปแบบไหน เจ้าหน้าที่รู้เห็นด้วยหรือไม่ แต่ก็ถือว่าบ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรม ใช้ความยุติธรรมเป็นเครื่องมือทำมาหากิน และทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม จนกระบวนการยุติธรรมไทยถูกมองว่า คุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น ผู้เกี่ยวข้องจึงควรรีบแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน