กสิกรไทยมอง 'บาทแข็งค่า' ถึงต้นปีหน้า

กสิกรไทยมอง 'บาทแข็งค่า' ถึงต้นปีหน้า

"กสิกรไทย" มองทิศทางเงินบาทยังแข็งค่าต่อถึงไตรมาสแรกปีหน้า ทดสอบแข็งค่าสูงสุด 32.20บาทต่อดอลลาร์ แนะผู้ประกอบส่งออกป้องกันความเสี่ยง หลังจากนั้นอ่อนค่าสิ้นปีหน้า 34 บาทต่อดอลลาร์

นายกอบสิทธิ์ ศิลปะชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทถึงสิ้นปี 2560 ยังงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อได้กรอบไว้ที่ 32.70-33.10 บาทต่อดอลลาร์ และคาดว่าในช่วงไตรมาสแรกปี 2561 จะแข็งค่าขึ้นสูงสุดไปทดสอบที่กรอบ 32.20-32.30 บาทต่อดอลลาร์ แนะนำผู้ประกอบการส่งออกในช่วงไตรมาส1ปี2561 ยังต้องป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน หลังจากนั้นเงินบาทมีโอกาสกลับมาอ่อนค่าที่ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ในสิ้นปีหน้า

เนื่องจากภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติในช่วงไตรมาส4ปีนี้คาดว่า ยังคงมีเงินทุนไหลออกประมาณ 3,000-4,000 ล้านดอลลาร์ หรือเทียบเท่ากับในช่วงเดียวกันย้อนหลัง 2-3 ปี โดยลงทุนต่างชาติที่เข้ามาเก็งกำไรตลาดบอนด์ระยะสั้นต่ำกว่า1ปี เริ่มปรับพอร์ตเทขายเพื่อทำกำไรสิ้นปี

แต่ขณะเดียวกันในปีนี้ยังรอเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก1ครั้งและแผนปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ ยังคลุมเครือจนกว่าจะชัดเจนในไตรมาส 2 ปี 2561 จึงมีปัจจัยฤดูกาลช่วงเดือนธ.ค. -ม.ค. ยังคงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติยังคงไหลกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดีหลังไตรมาส 2 ปีหน้า แผนปฏิรูปภาษีสหรัฐฯชัดเจน ทุก 1 ดอลลาร์ จะเพิ่มการจับจ่ายได้10% หนุนภาวะเงินเฟ้อสหรัฐฯปรับตัวขึ้น ทำให้เฟดมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้ามากกว่าที่ประกาศไว้ 3 ครั้งได้


ทางด้านมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจีดีพียังเติบโตได้ใกล้เคียงจีดีพีปีนี้ เติบโต 3.6-3.7% หรือเติบโตใกล้เคียงการขยายตัวเศรษฐกิจโลกปีหน้าเติบโตที่ 3.6% ปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกยังเติบโตต่อเนื่องแต่อาจเติบโตทรงตัวจากปีนี้ที่เติบโตฐานสูงที่ 6% ขณะที่การการท่องเที่ยวยังขยายตัวต่อเนื่อง และในส่วนการลงทุนภาครัฐ ภาคเอกชนและการนำเข้า น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีหน้าน่าจะปรับตัวลดลงอาจเกินดุลไม่เกิน 35,000 -40,000 ล้านดอลลาร์

ทางด้านความเสี่ยงปีหน้า ยังต้องติดตามปฏิรูปทางการเมือง หากเดินหน้าเลือกตั้งได้ ชัดเจนและยังคงมีความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ สามารถเดินหน้าแผนการลงทุนเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มองว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นและน่าจะเห็นการลงทุนภาคเอกชนตามการลงทุนภาครัฐซึ่งน่าจะมาลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

“จีดีพีไตรมาส4ปีนี้ยังเติบโตใกล้เคียงไตรมาส3ปีนี้ คาดว่าส่งออกยังปรับตัวสูงขึ้น แต่เป็นการเติบโตที่ขาดสมดุลหลังจากเพิ่งพาต่างประเทศมากเกินไป ทำให้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงแต่ปีหน้าการเกินดุลดังกล่าวเติบโตชะลอตัวลง หันมาเพิ่งพาการเติบโตภายในประเทศ หากเลือกตั้งปีหน้าชัดเจน น่าจะหนุนภาคการลงทุนเอกชนได้ แต่ต้องสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกอบการ ทั้งเพิ่มการลงทุนขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าสินค้า ด้วยการวิจัยและพัฒนา”