เปิดงบฯ '8หมื่น' รื้อคดีครูจอมทรัพย์

เปิดงบฯ '8หมื่น' รื้อคดีครูจอมทรัพย์

ทีมรื้อฟื้นคดีอาญาเร่งรวบรวมหลักฐานการเบิกจ่ายงบฯ ช่วยคดี "ครูจอมทรัพย์" สรุปค่าใช้จ่าย 8 หมื่นบาท ส่วนใหญ่เบิกค่าเดินทาง

รายงานข่าวจากกระทรวงยุติธรรมเปิดเผยว่า ภายหลังนายวิศิษฏ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม มีคำตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงการรื้อฟื้นคดีอาญาให้กับนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร หรือครูจอมทรัพย์. ทีมงานชุดรื้อฟื้นคดีอาญาได้เตรียมรวบรวมค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการช่วยเหลือและลงพื้นที่ทั้งหมดประมาณ เบื้องต้นพบการเบิกจ่ายงบประมาณจำนวน 80,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าเดินทาง โดยทีมงานพร้อมให้คณะกรรมการตรวจสอบในทุกประเด็น ส่วนคำให้การของนายสัป วาปี ข้อมูลที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบและดำเนินการไว้แต่เดิม จนทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณารับรื้อฟื้นคดี เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่ทีมงานชุดพ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม จะเข้ามารับผิดชอบ

แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า. จากนั้นเมื่อพบพิรุธในคำให้การ จึงนำตัวนายสัป และนายสุริยา นวลเจริญ หรือครูอ๋อง เข้าเครื่องจับเท็จ พบว่าบุคคลทั้ง 2 ให้การเท็จ จึงตัดชื่อนายสัปออกจากบัญชีพยาน ไม่นำขึ้นเบิกความในชั้นศาล และมุ่งเน้นใช้พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาต่อสู้คดี ส่วนคำให้การของนางทัศนีย์ หาญพยัคฆ์ และนางทองเรศ วงศ์ศรีชา ซึ่งนายอัจฉิยะ เรืองรัตนพงศ์ . ระบุว่า เซ็นคำให้การไปตามที่เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมทำเอกสารมาให้นั้น. พยานทั้ง 2 ปาก เป็นประจักษ์พยานที่พบเห็นเหตุการณ์และปรากฏในสำนวนของตำรวจแต่แรก ไม่ใช่พยานที่กระทรวงยุติธรรมค้นหามา

สำหรับข้อมูลในการยื่นขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาผ่านกระทรวงยุติธรรม พบว่า มีอยู่ 3 คดี ประกอบด้วย 1 กรณีของนายพัสกร สิงคิ หนุ่มใบ้ชาวสิงห์บุรี ผู้ต้องโทษคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่น ซึ่งถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 20 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดี และศาลฎีกายกคำร้อง, 2 คดีของนางจอมทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดี และศาลฎีกายกคำร้อง และ3 คดีของนางจารุพรรณ วุ่นสุวรรณ ตกเป็นจำเลยข้อหาจ้างวานฆ่านายจงรักษ์ วุ่นสุวรรณ หรือโกจ้ง สามี เจ้าของร้านขายเครื่องเขียนในอ.ทุ่งสง นครศรีธรรมราช ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต หลังยื่นขอรื้อฟื้นคดี ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งทั้ง 3 คดี กระทรวงยุติธรรมจะเริ่มต้นสืบสวนโดยนำพยานและจำเลยให้การผ่านเครื่องจับเท็จ เพื่อพิสูจน์ในขั้นตอนแรกว่าให้การด้วยความสัตย์จริง หรือให้การอันเป็นเท็จ หากผ่านการทดสอบด้วยเครื่องจับเท็จจึงจะนำไปสู่การขยายผลหาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ต่อไป