'วิชา' ลั่น 'ป.ป.ช.' ต้องกล้าเมื่อกม.ใหม่ให้อำนาจ!!

'วิชา' ลั่น 'ป.ป.ช.' ต้องกล้าเมื่อกม.ใหม่ให้อำนาจ!!

"อดีต ป.ป.ช." ประสานเสียง "ร่างกม.ป.ป.ช." ขีดเส้นทำคดี อยู่ในวิสัยที่ทำงานได้ "วิชา" แนะเจ้าหน้าที่ต้องกล้าในเมื่อกม.ให้อำนาจ

ที่สำนักงานป.ป.ช. นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการปฏิรูประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และอดีตประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ…. ที่มีการกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาคดีของ ป.ป.ช.นั้น ว่า การกำหนดเวลาการทำงานถือเป็นเรื่องดี เพื่อให้คดีเดินหน้าโดยไม่คั่งค้าง แต่ต้องดูรายละเอียด เพราะแต่ละคดีมีข้อมูลแตกต่างกัน มีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่างกัน ฉะนั้นหากคดีใดที่ทำไม่เสร็จภายในกรอบเวลา ก็ควรขยายเวลาการทำงานได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะปลายเปิดแบบไม่มีกำหนดเวลา

ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ…. และอดีตกรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า การกำหนดกรอบเวลาการทำงานที่ให้ป.ป.ช.ทำคดีให้เสร็จภายใน 1 ปี หากไม่เสร็จก็สามารถขยายเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ปี แต่หากเป็นคดีต่างประเทศ ก็สามารถขยายเวลาได้ตามลักษณะคดี ซึ่งถือเป็นการกำหนดกรอบที่อยู่ในวิสัยที่สามารถทำงานได้ เพราะในสมัยที่ตนเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ยังใช้เวลาเพียง 1 ปี ในการทำคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งถือเป็นคดีใหญ่ที่มีหลักฐานและพยานจำนวนมาก ซึ่งก็อยากให้ดูคดีดังกล่าวเป็นตัวอย่าง อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายใหม่นี้ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของ ป.ป.ช. ให้เอื้อในการทำคดีได้เร็วขึ้น โดยเปลี่ยนจากการใช้คณะอนุกรรมการในการไต่สวน ซึ่งต้องใช้เวลานานในการจะนัดประชุมครั้งหนึ่ง บางครั้งใช้เวลาเป็นเดือน แต่การเปลี่ยนมาเป็นให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.สามารถทำหน้าที่เป็นพนักงานไต่สวนเองได้ จะทำให้การทำงานมีความรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนคดีขนาดเล็กที่มีอยู่ใน ป.ป.ช.กว่า 60 เปอร์เซ็นต์

"เมื่อเขาให้อำนาจแล้ว เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ก็ต้องกล้า เพราะตามร่างกฎหมายใหม่เท่ากับเป็นการยกระดับเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานไต่สวนเทียบเท่าอัยการ ซึ่งมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะสามารถทำงานได้ เพราะจะต้องเป็นเนติบัณฑิตมาก่อน อีกทั้งจะต้องทำให้ประชาชนพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมให้ข้อมูล ขณะเดียวกันเห็นว่า ป.ป.ช.จะต้องปรับบทบาทการทำงานเป็นเชิงรุกไม่ใช่รอเรื่องร้องเรียนอย่างเดียว แต่จะต้องทำงานเชิงป้องปรามด้วย หรือการไต่สวนเชิงป้องปรามการทุจริต เช่น เข้าไปสุ่มตรวจการประมูลงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นได้ระมัดระวังไม่ให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้น หรือการสะกิดเตือนหน่วยงานที่ส่อเกิดการทุจริต ซึ่งเป็นการป้องกันอีกรูปแบบหนึ่ง" นายวิชา กล่าว