ทูตภูฏานเตรียมเยือนนาแห้วพัฒนาเป็นภูฏานเมืองไทย

ทูตภูฏานเตรียมเยือนนาแห้วพัฒนาเป็นภูฏานเมืองไทย

ทูตภูฎานเยือนเมืองเลย พร้อมลงนาม 4 ข้อตกลง เมืองคู่แฝด เลยภูฎานเพื่อพัฒนาด้านท่องเที่ยว

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อมด้วย ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รอง ผอ.องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. หน.ส่วนราชการให้การต้อนรับฯพณฯ นายเชวัง โชเพล ดอร์จิ เอกอัครราชทูตภูฏาน ประจำประเทศไทยและคณะ ได้เดินทางมาเยือนวัดศรีโพธิ์ชัย บ้านแสงภา อ.นาแห้ว เตรียมผลักดัน 4 ข้อตกลงร่วม ไทย-ภูฎาน ชู‘อ.นาแห้ว’ร่วมกันพัฒนาเมืองแฝด เลย-ภูฎาน ชูอัตลักษณ์เด่นเรื่องพุทธศาสนา และกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่บ้านแสงภา อ.นาแห้ว จ.เลย ของ ฯพณฯ นายเชวัง โชเพล ดอร์จิ เอกอัครราชทูตภูฏาน ประจำประเทศไทย และคณะ เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่จริงและรับฟังการบรรยายสรุปบทบาทภารกิจของ อพท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อสรุปประเด็นก่อนนำไปสู่การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน (MOU)ระหว่างประเทศไทย โดย อพท. กับสภาการท่องเที่ยวแห่งภูฏาน (Tourism Council of BhutanหรือTCB)อันจะนำไปสู่การส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรภูฏาน แนวทางความร่วมมือระหว่างสองประเทศครั้งนี้ประกอบด้วย 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1. การแลกเปลี่ยนแนวทางการบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เน้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์สังคม มุ่งสร้างความสุขให้คนในชุมชนพื้นที่พิเศษและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าพื้นที่ การวัดการกระจายรายได้ทางการท่องเที่ยวลงสู่ชุมชนอย่างแท้จริง
2. การประยุกต์การใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC)เป็นตัวชี้วัด
3.ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิดการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน โดยแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเชี่ยวชาญ ทักษะการบริหารจัดการร่วมกันและ
4.การร่วมกันใช้ศักยภาพของเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งเอเชีย (Asian Exit Network หรือ AEN) ที่ครอบคลุมประเทศสมาชิก 18 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของทั้งสองประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับ อพท. จุดแข็งคือเป็นองค์กรที่มีมีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งภูฎานให้ความสนใจในเรื่องนี้เพราะจะเป็นประโยชน์กับการท่องเที่ยวของราชอาณาจักรภูฏานที่กำลังเติบโตอย่างมาก และกำลังเผชิญความท้าทายด้านต่างๆ

ในส่วนของจังหวัดเลย มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น คล้ายคลึงกับราชอาณาจักรภูฏาน โดยเฉพาะอำเภอนาแห้ว ซึ่งอยู่ในพื้นที่พิเศษเลย ชุมชนท้องถิ่นมีความเคร่งครัดในพุทธศาสนา มีการถือศีล ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ในช่วงวันโกนและวันพระ เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไปในราชอาณาจักรภูฏานเหมือนเป็นคู่แฝด จุดแข็งนี้ อพท. ก็จะนำมาพัฒนาอำเภอนาแห้ว ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านพุทธศาสนา และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติซึ่ง อพท. ก็จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้และคำแนะนำจากภูฏานด้วยเช่นกัน

“ใน 6 พื้นที่พิเศษที่ อพท. ดูแล มีพื้นที่พิเศษเลยเพียงแห่งเดียวที่มีความคล้ายคลึงกับราชอาณาภูฎานมากที่สุดเห็นได้จากที่ทุกวันนี้ประชาชนที่อำเภอแสงภา และชาวภูฎาน ยังคงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ภูมิประเทศก็ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติ อัตลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นที่คล้ายคลึงกันเช่นนี้จะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวได้ ภายใต้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการที่มีมาตรฐานให้แก่ประชาชน ชุมชน เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน” รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าว