‘ChatStick’ แจ้งเกิดนักสร้างสรรค์สติ๊กเกอร์

‘ChatStick’   แจ้งเกิดนักสร้างสรรค์สติ๊กเกอร์

การแข่งขันกันสร้างคาแรคเตอร์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำอย่างไรให้ผลงานที่ออกมานั้น “โดน” และเรียกยอดดาวน์โหลด

“หนึ่งภาพแทนคำพูดเป็นหมื่นล้านคำ” ใช้ได้ดีกับวิถีชีวิตในยุคดิจิทัลที่การสื่อสารนอกจาก “คำพูด” ที่ส่งออกไปยังมี “สติ๊กเกอร์” เป็นตัวแทนความรู้สึกและข้อความที่ต้องการจะสื่อไปยังผู้รับ

ที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่มักจะคุ้นชินกับการส่งสติ๊กเกอร์ไลน์เพื่อส่งผ่านความรู้สึกและแทนคำพูดถึงกัน ในส่วน “ChatStick” ก็นำเสนออีกทางเลือกสำหรับการสื่อสารในลักษณะเดียวกันนี้แต่ “มากกว่า” ด้วย “แนวคิด” และ “บิสิเนส โมเดล”

ชูชัย เทียนแท้ ผู้บริหาร บริษัท แชทสติ๊ค จำกัด นำประสบการณ์การรับทำเกมส์ แอพพลิเคชั่น และโซเชียลมีเดียมาประมาณ 7 ปี ต่อยอดสู่บิสิเนส โมเดลแบบสตาร์ทอัพ ด้วยการพัฒนา ChatStick ให้เป็นตลาดกลางของนักสร้างสรรค์สติ๊กเกอร์ได้มีช่องทางการสร้างงาน-สร้างธุรกิจ

“ทุกวันนี้ แต่ละเจ้าจะจำกัดให้ใช้สติ๊กเกอร์ได้เฉพาะบนแพลตฟอร์มของตัวเองเท่านั้น ซึ่งก็ก็เรื่องยากที่นักสร้างสรรค์จะแจ้งเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักสร้างสรรค์หน้าใหม่ที่ยังไม่มีชื่อเสียงยิ่งเป็นเรื่องยาก

สิ่งที่เราคิดคือทำให้ ChatStick เป็นตลาดกลางที่ให้สติ๊กเกอร์ใช้งานโดยไม่จำกัดเฉพาะแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับนักสร้างสรรค์ที่ต้องการจะสื่อสารกับแฟนๆ ของเค้า

ตัวอย่างเช่น เดิมสติ๊กเกอร์อยู่ได้แค่ในไลน์ แต่แอพนี้สามารถส่งในเฟซบุ๊คก็ได้ รวมทั้งสามารถเอาคาแรคเตอร์มาตัดแปะได้ตามความคิดสร้างสรรค์ นี่เป็นอีกฟีเจอร์ที่พัฒนาขึ้นมาให้เป็นลูกเล่นสำหรับการใช้งาน”

บิสิเนส โมเดลของ ChatStick จะทำงานกับ 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก

หนึ่ง องค์กรธุรกิจ ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าดิจิทัลเป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสารระหว่าง “ธุรกิจ” กับ “ลูกค้า” ซึ่งการสื่อสารก็ยังแบ่งได้เป็นสองรูปแบบ

คำพูดที่เป็นแมส สื่อให้คนในวงกว้างได้เข้าใจ เช่น สุขสันต์วันเกิด สวัสดี เป็นต้น

อีกแบบสื่อสารในแบบที่ส่งตรงถึงลูกค้า เช่น “เต็มถังยัง” หรือ “สัญญาแย่โทรมาที่….” เป็นในลักษณะของการทำ Customer Support ให้กับลูกค้า

ถึงตอนนี้ แพลตฟอร์ม ChatStick มีลูกค้าองค์กรแล้วประมาณ 60 บริษัท

สอง ดารา/คนดังในโลกออนไลน์ เจ้าของเพจต่างๆ โดยดาราจะมีกลุ่มแฟนคลับติดตามเป็นจำนวนมา ในขณะที่เจ้าของเพจดังก็มีแฟน ๆ ติดตามเช่นกัน อย่างเช่น เบ๊น อาปาเช่ ,หมอแล็บ แพนด้า เป็นต้น

ปัจจุบันกลุ่มนี้มีประมาณ 60 คนที่เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์ม

สาม กลุ่มนักสร้างสรรค์ นักเขียนฝีมือดีสามารถนำผลงานเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้ได้

“ตอนนี้เรามีสติ๊กเกอร์ที่มาจากกลุ่มองค์กร 60 ราย ดารา 60 ราย นักสร้างสรรค์อีก 800 ซึ่งกลุ่มองค์กรธุรกิจจะมีการเติบโตและสร้างรายได้ให้เยอะที่สุด”

ถ้าเข้าไปดูใน www.chatstick market.com จะเห็นว่ามีสติ๊กเกอร์แบรนด์ ดารา และนักสร้างสรรค์ที่ส่งมาขายกับเราในแบบ Profit sharing ซึ่งเก็บทุก 25% ของทรานเซ็คชั่นที่เกิดขึ้น

โดยในกระบวนการผลิตทางทีมงานจะดำเนินการให้ทั้งในส่วนออกแบบ Copy Writer รวมถึงมาร์เก็ตติ้งเพื่อให้คนได้ดาวน์โหลดไปใช้”

ถึงวันนี้ ChatStick มียอดดาวน์โหลดแล้ว 5 แสนดาวน์โหลดในช่วงเวลา 2-3 เดือนเท่านั้น โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ ซึ่ง ชูชัย มองว่า ภายหลังการ สื่อสารออกไปจะทำให้ทั้ง 3 กลุ่มเข้ามาอยู่ในตลาดกลางสติ๊กเกอร์แห่งนี้มากขึ้น

ชูชัย มองภาพใหญ่ของการเติบโตวัดจากการใช้งานสติ๊กเกอร์ทั่วโลกโดยแฉพาะในฝั่งเอเชีย

ปัจจุบันคนมีพฤติกรรมการใช้สติ๊กเกอร์กันอย่างมากโดยเฉพาะในฝั่งเอเชียแล้ว การสื่อสารที่ใช้การพิมพ์ข้อความ เปรียบเทียบกับรูปภาพ การมีรูปภาพประกอบย่อมจะสื่อความหมายได้ดี

ยกตัวอย่าง ลูกค้าประกัน หรือธนาคาร เวลาคนมาคอมเม้นท์ แทนที่จะตอบแค่คำว่า “ขอโทษ” สามารถมีรูปภาพที่สื่อสารได้ดีกว่านั้น

ทั้งนี้ การสร้างแพลตฟอร์มกลางสำหรับสติ๊กเกอร์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจในภาพใหญ่ที่ ชูชัย ตั้งเป้าหมายไว้

คาดหวังว่าจะใช้เวลา 1 ปีในการสร้างฐานตลาดในไทยให้แข็งแรง จากนั้น เตรียมรุกทำตลาดในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ส่วนแผนในระยะถัดไป เตรียมทำตลาดในอาเซียน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย

“พฤติกรรมและวัฒนธรรมของคนในภูมิภาคนี้มีความใกล้เคียงกัน ทำให้มองถึงการสเกลธุรกิจไปต่างประเทศ ซึ่งขอใช้เวลาในช่วงแรกเพื่อสร้างตลาดในไทยให้แข็งแรงเสียก่อน”

ทั้งนี้ สติ๊กเกอร์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจเท่านั้น สิ่งที่จะขยายผลต่อได้และเป็นเป้าหมายใหญ่นั่นคือ เกม

“จากนักสร้างสรรค์สติ๊กเกอร์ เมื่อผลงานเติบโตและได้รับความนิยมไปจนถึงจุดหนึ่งก็ทำให้มองถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาไปเป็นเกมได้ในอนาคต โดยเรามีทีมงานและประสบการณ์ในการผลิตเกมอยู่แล้ว ทำให้มองเห็นโอกาสบนขีดความสามารถที่ทำได้" ชูชัย กล่าว

ChatStick จะเป็นอีกช่องทางที่ นักสร้างสรรค์ คนดัง และ แบรนด์จะมีสติ๊กเกอร์เป็นของตัวเอง

สติ๊กเกอร์โดนๆเรียกยอดโหลด

ทุกวันนี้การแข่งขันกันสร้างคาแรคเตอร์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำอย่างไรให้ผลงานที่ออกมานั้น “โดน” และเรียกยอดดาวน์โหลด

"ในกระบวนการทำงานต้องออกแบบให้โดดเด่น  จากนั้นคำที่ใช้ต้องใช้งานได้จริง หรือ อาจเป็นการเล่นคำ ยกตัวอย่าง "กู๊ดมอนิ่ง แต่สามารถออกแบบให้แล้วถือหม้อเอาไว้น่ิ่งๆ  รวมถึงอาจเป็นชุดคำพูดที่ออกแบบพร้อมท่าทางให้น่าสนใจ"ชูชัย กล่าว

รวมๆ เสน่ห์จะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วย ภาพ คำพูด ภาพรวมทั้งหมด ขี้นอยู่กับการสร้างสรรค์ของแต่ละคน 

ในกระบวนการทำงานสำหรับทีม ChatStick จะอยู่ที่ประมาณ 15-20 วัน ในการพัฒนาข้อความ ภาพ และทำในส่วนของ Designer Process เพื่อให้การจัดส่งข้อความทำได้ในทุกแอพพลิเคชั่น

ชูชัย และทีมงาน เติบโตมาจากการทำงานด้วยทีมขนาด 60 คน โดยมี 4 บริษัทที่ต้องดูแล ซึ่งหนึ่งในนั้นได้มีการพัฒนางานในส่วนของ ChatStick โดยใช้บิสิเนส โมเดล แบบสตาร์ทอัพเข้ามาขับเคลื่อนงานเป็นครั้งแรก

โดยเข้ามาเป็นหนึ่งทีมที่ได้เข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะของ True Incube เมื่อกลางปีที่ผ่านมา

"เอสเอ็มอี กับสตาร์ทอัพ ในมุมผม ต่างกันที่ปริมาณงาน การรับผลิตงานจะมีต้นทุนทีมงานที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณงานที่รับเขามาทำ ถ้าเรารับงานออกแบบ ทำซอฟต์แวร์ ดูแลโซเชียลมีเดียต้องเพิ่มคน กลายเป็นว่า เราโต ต้นทุนก็สูงขึ้น แต่สตาร์ทอัพ ไม่เป็นอย่างนั้น ทีมงานเท่าเดิม แต่รายได้มากขึ้น

จากนี้สิ่งที่ต้องเร่งทำสำหรับ ChatStick คือ สื่อสารให้มาก เพื่อปรับพฤติกรรมคนให้หันมาส่งสติ๊กกันผ่านแพลตฟอร์มนี้"