หัวเว่ยผนึกกฟภ.ผุดศูนย์นวัตกรรมไฟฟ้า

หัวเว่ยผนึกกฟภ.ผุดศูนย์นวัตกรรมไฟฟ้า

สานพันธกิจลงทุนในไทย ผนึก “กฟภ.” จัดตั้งอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ด้านไฟฟ้าแห่งแรก วางศูนย์กลางพัฒนานวัตกรรม อบรมบุคลากร คาดแล้วเสร็จภายในกลางปี 2561

นายเฉียง หัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรม กฟภ.(PEA Innovation Center)” กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เพื่อนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพและการให้บริการด้านระบบไฟฟ้า

นอกจากนี้ วางเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมบุคลากร และเผยแพร่ความรู้ด้านระบบไฟฟ้าและไอซีทีที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ทกริดแก่บุคคลทั่วไป อินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ดังกล่าวนับเป็นแห่งที่ 2 ของโลก ต่อจากในจีน เหตุที่เลือกไทยเนื่องจากมีทิศทางการทำงานที่สอดคล้อง ทั้งเคยทำงานด้านวิชาการร่วมกันมาก่อน

บริษัทมีแผนเข้ามาลงทุนในตลาดไทยในระยะยาว การสนับสนุนครั้งนี้จะมีทั้งเรื่องฮาร์ดอินฟราสตรักเจอร์ ซอฟต์อินฟราสตรักเจอร์ รวมถึงบุคลากร เบื้องต้นเตรียมทีมงานไว้แล้ว 10 คน

“เราต้องการสร้างโครงการต้นแบบเพื่อเป็นตัวอย่างและส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย และเตรียมขยายออกไปในระดับภูมิภาค"

นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวเสริมว่า จากที่ได้คุยกัน หัวเว่ยจะเข้ามาสนับสนุนด้านเครื่องมือ ทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบุคลากร คาดว่าการสร้างศูนย์จะแล้วเสร็จได้ภายในกลางปี 2561 จากนั้นเห็นผลงานในเฟสแรกเกี่ยวกับไอโอทีได้ภายในปีเดียวกันดังกล่าว

ศูนย์นวัตกรรม กฟภ. นับเป็นศูนย์นวัตกรรมด้านไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทย เตรียมก่อสร้างขึ้นที่บริเวณชั้น 3 อาคาร แอลอีดีของ กฟภ. โดยวางเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการวิจัย คิดค้นและทดสอบนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้า นำเทคโนโลยีด้านไอซีที ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีด้านระบบไฟฟ้า รวมทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ทกริด(Smart Grid) โดยมีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถใช้ในการศึกษาเรียนรู้ และทดลองใช้งาน รวมถึงมีพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนความรู้ และแสดงความคิดเห็น

หลังจากนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและหัวเว่ยจะนำองค์ความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายมาผสานเข้าด้วยกันเพื่อสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมที่ครอบคลุม โดยรวบรวมงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเครือข่ายการสื่อสารพลังงานไฟฟ้า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ ระบบคลาวด์ด้านพลังงานไฟฟ้า

รวมถึงระบบอื่นๆ มาช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของโครงข่าย และเพิ่มศักยภาพระบบโครงข่ายให้มีความอัจฉริยะในอนาคต ขณะเดียวกันส่งเสริมและพัฒนางานด้านทรัพยากรบุคคล ตลอดจนเผยแพร่เทคโนโลยีไฟฟ้าอัจฉริยะให้เป็นที่แพร่หลาย

“ความร่วมมือดังกล่าวยังเน้นระบบสื่อสารเทคโนโลยีไอพีเพิ่มความเสถียรในการทำงานของเครือข่ายครอบคลุมโครงการนวัตกรรมต่างๆ ได้แก่ คลาวด์คอมพิวติ้งด้านพลังงานไฟฟ้า บิ๊กดาต้า อุปกรณ์ชาร์จพลังงานสำหรับยานยนต์ สมาร์ทโฮม และการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า”