PharmaSafe ชุมชนใช้ยาปลอดภัย

PharmaSafe ชุมชนใช้ยาปลอดภัย

HealthTech ไม่สามารถเปลี่ยนได้ในข้ามคืน แต่ต้องค่อยๆ สร้างการเปลี่ยนแปลง

การลุยทำธุรกิจเครื่องหนังและงานออกแบบดีไซน์โปรดักท์หลังจากเรียนจบมาประมาณสิบปีในชื่อ FOLIO ก็ถึงวันที่เริ่มอิ่มตัว และมองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ เพื่อทำในสิ่งที่ตอบโจทย์ให้กับสังคมและคนเป็นจำนวนมาก

“ผมจบสถาปัตย์ ไปเรียนต่ออเมริกา ทำเรื่องการตลาด โปรดักท์ดีไซน์ ออกแบบโปรดักท์ ในต่างประเทศ

วันหนึ่งเรานั่งออกแบบแล้วรู้สึกว่ามีในทุกๆ สินค้าประเภทเครื่องหนังเป็นล้านๆ ชิ้นแล้วในโลก ทำไมเราต้องออกแบบชิ้นที่ล้านหนึ่งออกมาด้วย

อยากใช้เวลาในชีวิตที่เหลือทำอะไร จากนั้นก็เกษียณตัวเองจากงานโดยหุ้นส่วนรับหน้าที่ต่อ แล้วกลับมานั่งคิดหาว่า ไอเดียธุรกิจที่จะเป็นเหตุผลให้อยากจะตื่นมาทำงานทุกๆวัน” 

จักร โกศัลยวัตร ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น PharmaSafe กล่าว

แล้วในวันที่ต้องเผชิญกับปัญหาก็นำมาซึ่งจุดเริ่มต้นของไอเดีย ธุรกิจ

 “นาทีแห่งความเป็นความตาย” ในวันที่พ่อป่วยกะทันหันต้องเข้ารับการรักษาด่วนในโรงพยาบาล ที่จุดประกายให้เริ่มคิดพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆ มาช่วยให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงจากการใช้ยา

 “ พ่อผมเส้นเลือดสมองตีบเฉียบพลัน ลิ้นแข็งพูดไม่ได้ก็ส่ง รพ.ที่ใกล้ที่สุด ห้องฉุกเฉิน คำถามแรกที่หมอถามผมก็คือ คุณพ่อทานยาอะไร และแพ้ยาอะไรบ้าง

นาทีนั้น ผมบอกไปว่าไม่รู้ จากนั้นก็โทรไปบ้านให้พี่ชายขนซองยาทั้งหมดที่มี ทั้งยาเก่า ยาใหม่ อาจมีปนกับยาของแม่บ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ กว่าจะได้ข้อมูลยาต้องใช้เวลาเป็น 20 นาทีกว่าจะบอกหมอได้ ย้อนมองกลับไปในวันนั้นทำให้รู้เลยว่า ข้อมูลการใช้ยาเป็นที่จำเป็นสำหรับการรักษา เป็นความเป็นความตาย สำหรับคนไข้จริงๆ ยาบางตัวหากทานไปอาจมีผลข้างเคียง เช่น ยาละลายลิ่มเลือดหัวใจอยู่หากผ่าตัดเลือดอาจไหลไม่หยุด เป็นต้น

ทำให้มาคิดว่า ข้อมูลที่สำคัญแบบนี้ ทำไมต้องเก็บไว้ที่โรงพยาบาลอย่างเดียว ไม่สามารถแชร์มาให้คนไข้เก็บไว้ติดตัวตลอดเวลา เพราะเป็นข้อมูลที่สำคัญของคนไข้ทุกคน”

สิ่งที่ จักร เริ่มทำคือการวิจัยข้อมูลจากหลายแหล่งด้วยกัน ซึ่งก็พบว่าสิ่งที่มองว่าเป็น “ปัญหา” อยู่นี้ ไม่ใช่แค่ตัวเองเท่านั้นที่เผชิญ แต่เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศนี้

จากสถิติ 46% ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยเป็นค่าใช้จ่ายด้านยา หมายถึงครึ่งหนึ่งที่คนเราใช้จ่ายไป ในขณะที่ประเทศเจริญแล้ว อเมริกา อังกฤษ ค่าใช้จ่ายด้านยาอยู่ที่ 12-14% ส่วนสิงคโปร์ 24%

การใช้ยาผิดไม่ใช่แค่เสียเงิน แต่รักษาผู้ป่วยหายช้า นอนโรงพยาบาลนานขึ้น ปัญหาอาการป่วยแทรกซ้อน โดยภาวะแพ้ยาที่เกิดขึ้นอาจส่งผลถึงพิการหรือเสียชีวิตได้ ซึ่งก็มีหลายกรณีแล้วที่เกิดขึ้นจากการฟ้องร้องเรื่องยา

หลังจากมองเห็นปัญหาทำให้ จักร ตัดสินใจลงมือทำแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ PharmaSafe ย้อนหลังไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

PharmaSafe ทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้ช่วยผู้ป่วยที่มาในรูปของแอพพลิเคชั่นที่สามารถส่งข้อมูลยาและเอกสารกำกับยาได้ทางมือถือทันทีที่ได้รับการจ่ายยาจาก โรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยที่อยู่นอกโรงพยาบาลมีข้อมูลยาติดตัว เก็บประวัติการแพ้ยาและยาที่มีผลข้างเคียง

รวมทั้ง ระบบยังสามารถเตือนทานยาตามเวลา เตือนการนัดพบแพทย์ตามนัดและเก็บประวัติการใช้ยาในอดีต

“แอพนี้จะบอกถึงวิธีการกินยา ระบบตั้งเตือนเวลาทานยาให้ผู้ป่วยโดยอัตโนมัติ พอถึงเวลาก็เด้งขึ้นมาเลยว่าต้องกินเมื่อไหร่ มีรูปเม็ดยาโชว์อย่างชัดเจน แม้ว่าจะทำซองยาหายก็ยังกินยาได้ถูกต้อง ถ้าใช้ยามื้อนั้นไปแล้วข้อมูลก็ลบออกไป ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามหลักปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์”

จักร สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขไทยว่า ต้องยอมรับว่า ปัญหาเรื่องยาเกิดขึ้นที่บ้านมากกว่าผู้ป่วยในโรงพยาบาลซึ่งมีเครื่องมือ มีการรักษาที่ดีอยู่แล้ว

ปัญหาคือผู้ป่วยอยู่นอกโรงพยาบาล แม้คนเป็นโรคประจำตัวต้องไปหาหมอ 2 เดือนครั้ง นั่นเป็นวันเดียวจริงๆ ที่เจอหมอและได้รับคำแนะนำ แต่อีกหลายสิบวันที่เหลือนั้นจะทำอย่างไรแอพที่พัฒนาขึ้นมานี้จึงเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์ให้กับทางโรงพยาบาลที่ต้องการให้บริการทางการแพทย์กับ ผู้ป่วยอย่างแท้จริง

สอดรับกับปัญหาที่ประเทศไทยต้องเจอกับสังคมผู้สูงอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า จักร เชื่อว่า เครื่องมือตัวนี้จะช่วยลดภาระผู้ป่วยที่ต้องไปโรงพยาบาลได้ ลดเวลาเจ็บป่วยน้อยลงเพราะทานยาต่อเนื่องครบก็หายเร็ว ปัญหาข้างเคียงโรคแทรกซ้อนจากการใช้ยาผิดก็น้อยลงด้วย

PharmaSafe เริ่มต้นติดตั้งและใช้งานในโรงพยาบาลค่ายสุรนารีเป็นแห่งแรก และกำลังดำเนินการติดตั้งให้กับโรงพยาบาลอีก 3 แห่ง

หากย้อนมองถึงเส้นทางในช่วง 2 ปีและกำลังเข้าสู่ปีที่ 3 จักร บอกเป็นการเดินที่ถูกทางแล้ว

โปรดักท์ ได้รับการพิสูจน์ว่านำไปใช้งานได้จริง และเชื่อว่าจะขยายผลสู่กลุ่มผู้ใช้งานที่กว้างขึ้นกว่าเดิมในปีหน้า

และอีกหนึ่งตัวชี้วัดมาจากผู้ใช้งานจริง ถึงตอนนี้ผู้ป่วยอายุมากที่สุดเป็นคนวัน 82 ปีที่ใช้มือถือในการดูแลตัวเองเรื่องการใช้ยา

“ ระบบอัตโนมัติอยู่แล้ว ตั้งปลุกเวลาทานยา สามารถป้องกันการใช้ยาผิดได้ด้วยซึ่งสำคัญ เพราะข้อมูลยาไม่ได้เชื่อมโยงกันระหว่างโรงพยาบาล

อย่างเช่นในกรณี ผู้ป่วยที่รักษาอยู่กับสองโรงพยาบาลได้รับยาลดความดันมาทั้งคู่ ซึ่งหมอทั้งจากสองโรงพยาบาลก็ไม่ได้ผิด แค่ไม่รู้ และผู้ป่วยก็คงไม่ได้พกยาไปให้หมอดูด้วยทุกครั้ง การกินยาบางตัวร่วมกันก็อาจเกิดอันตราย

แต่ถ้าใช้ระบบนี้ ถ้ามียาที่มีผลข้างเคียงระบบจะทำการแจ้งให้ทราบทันทีว่ายาที่ได้รับนั้น ให้ทำการตรวจสอบกับแพทย์ หรือ เภสัชกรอีกครั้ง ซึ่งระบบจะเป็นตัวช่วยทั้งหมอในการจ่ายยาที่เป็นอันตราย รวมถึงผู้ป่วยด้วยที่ลดอันตรายจากการใช้ยาได้”

จักร บอกอย่างแรกตอบโจทย์เราในฐานะคนพัฒนาโซลูชั่นได้เลยคือ ส่งข้อมูลยาตรงจากโรงพยาบาลโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องทำอะไร

คนในวัย 82 ปีก็สามารถโหลดแอพและใช้ระบบนี้ได้กับโทรศัพท์ในราคาเป็นหลักสองพันบาทก็ใช้งานแอพนี้ได้ นั่นมาจากการออกแบบฟีเจอร์ที่เน้นเรียบง่าย และใช้งานได้จริง รวมทั้งออกแบบมาไม่ให้กินพื้นที่การทำงานของโทรศัพท์มากจนเกินไป

คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ PharmaSafe จะมีโอกาสผู้ป่วยนอกได้มากถึง 2 ล้านคน 

"สิ่งที่ทำให้เราขยายธุรกิจได้มากกว่านี้ คือความร่วมมือจากเครือข่ายต่างๆ ที่จะทำให้เราช่วยคนได้เยอะๆ  อีกประเด็นที่เราต้องการคือ ทุนสนับสนุน เพราะที่ผ่านมาการพัฒนาธุรกิจมาจากทุนส่วนตัว ใช้เงินจากธุรกิจเก่าที่มาทำ มาในปีที่ผ่านมาที่ขายหุ้นบางส่วนให้กับรุ่นพี่ที่ทำธุรกิจด้านการขายเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมองว่าเป็นทุนระดับบุคคล

ถ้าทำแบบนี้จะไปได้ช้า เพราะต้นทุนจำกัด แต่ถ้าได้เงินทุนที่เยอะขึ้นก็สามารถช่วยคนจำนวนมากได้พร้อมๆ กันมากขึ้น จากที่เคยติดตั้งได้ 4-5 โรง ก็อาจติดตั้งได้ 10-20 โรงด้วยต้นทุน การขยายทีมงานและต้นทุนในการทำงาน"

จักร มองว่า แม้ว่าจะมี Strategic partner เข้ามาสร้างความแข็งแรงในเรื่องคอนเน็คชั่น แต่เมื่อ PharmaSafe เดินในกรอบของสตาร์ทอัพ วิธีการสเกลก็ต้องใช้เงินทุนที่มากกว่าระดับบุคคล โดยเปิดให้นักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์เข้สใสร่วมกันมาลงทุนเพื่อให้ธุรกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว 

“มั่นใจว่าปีหน้าจะเติบโต จากโรงพยาบาลนำร่องที่ติดตั้งไปในปีนี้ ทำให้อีกหลายๆ โรงพยาบาลในระบบได้เห็น ขณะเดียวกันในมุมของนักลงทุนก็จะเห็นถึงความชัดเจนมากขึ้นทั้งโปรดักท์ การใช้งาน และฐานลูกค้า”

หัวใจสำคัญ จักร บอกจากประสบการณ์การทำธุรกิจเอสเอ็มอีมาก่อนทำให้รู้ว่าการทำธุรกิจต้องเดินไปอย่างไร นักลงทุนไม่ได้อยากจะลงทุนแค่ไอเดียเท่านั้น หากในปีหน้าเราสามารถพิสูจน์ได้ว่าธุรกิจนี้มีความพร้อมจริงๆ มูลค่าของธุรกิจจะสูงขึ้นตาม

“เราทำเอสเอ็มอี มาก่อนรู้เลยว่า ถ้ามียอดขายปัญหาอื่นแก้ได้หมด การผลิต ช่องทาง การพีอาร์ ความยากจึงอยู่ที่ ลูกค้าคนแรก ดังนั้นที่ผ่านมา เราถึงมุ่งเป้าว่าต้องขายให้ได้ ไม่ได้มุ่งเป้าที่ระดมทุน”

สำหรับเป้าหมายในระยะยาว จักร มองว่า การทำ HealthTech Startup ไม่เหมือนวงการอื่น เพราะต้องทำงานเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ง่าย และเร็วเท่า อีคอมเมิร์ซ

 "อีคอมเมิร์ซ หลักๆ อยู่ที่การมีสินค้ามีคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ ราคาที่ซื้อหาได้ แต่นี่เกี่ยวกับชีวิตคน กฎหมาย เกี่ยวข้องกับสถาบันที่มีวัฒนธรรมยาวนาน การเปลี่ยนความคิดของคนไม่ได้ทำได้เพียงชั่วข้ามคืน 

มองว่า HealthTech ไม่สามารถเปลี่ยนได้ในข้ามคืน แต่ต้องค่อยๆ สร้างการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากจุดเล็กๆ จาก 1 รพ สู่ 4 รพ แล้วค่อยๆ ขยายให้มากขึ้น สร้างการยอมรับ 

อีกทั้ง ต้องเข้าใจว่า  ธุรกิจนี้ต้องใช้เวลา ในแง่เงินทุน วิชั่น มิชชั่น กำลังใจ ต้องเตรียมมาให้พร้อม แต่ก็เชื่อว่าคุณค่าที่ได้กลับมานั้นมากกว่าแค่รายได้เป็นตัวเงิน และธุรกิจที่เติบโต เพราะยังมีเรื่องคุณค่าเชิงสังคมเข้ามาด้วย 

สะท้อนได้จากคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยรอดตาย เป็นคุณค่าที่อาจไม่ได้มีในตำราของนักลงทุน ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจ"

สำหรับ จักร แล้ว ฝันใหญ่ที่อยากจะไปให้ถึง  

“สมมติถ้าคนอื่นมองว่าความสำเร็จของสตาร์ทอัพอยู่ที่การเติบโตของธุรกิจ แต่สำหรับผมอยากมีจอสักจอ อัพเดทตัวเลขการที่ระบบเราเตือนการทานยาให้ผู้ป่วยปลอดภัยขึ้น สามารถดักยาแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้แล้วกำลังจะกิน นับเป็นตัวเลขแบบเรียลไทม์ให้เห็นว่าวันนี้เตือนได้ 40 คนแล้ว 100 คนแล้ว ซึ่งตัวเลขตรงนี้อาจไม่ใช่เงิน แต่หมายถึงชีวิตคน สุขภาพคน เราในฐานะคนทำธุรกิจเห็นคุณค่าตรงนี้รู้สึกภูมิใจมากกว่า” จักร กล่าวทิ้งท้าย