จุฬาฯระดมทุน พัฒนายาแห่งอนาคต

จุฬาฯระดมทุน พัฒนายาแห่งอนาคต

จุฬาฯ พลิกโฉมการรักษามะเร็งพร้อมทั้งสร้างรายได้ให้กับประเทศ ด้วยการเร่งพัฒนาต้นแบบวัคซีนและยารักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดทำลายเซลล์ร้ายแบบพุ่งเป้า นำร่องมะเร็งลำไส้และมะเร็งรังไข่ หวังเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ลดผลข้างเคียง ลดการนำเข้า พร้อมระดม

จุฬาฯ พลิกโฉมการรักษามะเร็งพร้อมทั้งสร้างรายได้ให้กับประเทศ ด้วยการเร่งพัฒนาต้นแบบวัคซีนและยารักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดทำลายเซลล์ร้ายแบบพุ่งเป้า นำร่องมะเร็งลำไส้และมะเร็งรังไข่ หวังเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ลดผลข้างเคียง ลดการนำเข้า พร้อมระดมทุนต่อยอดสู่การนำไปใช้จริงภายใน 3 ปี


“วัคซีนและยาภูมิต้านมะเร็งถือเป็นโจทย์ใหญ่ของศูนย์ฯ ที่จำเป็นต้องพัฒนาให้เป็นยาที่คนไทยเข้าถึงได้ ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องสุขภาพของประชาชน แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากจะช่วยลดการนำเข้ายาได้ถึง 2 หมื่นกว่าล้านบาท และช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้เพราะในตลาดยาภูมิต้านมะเร็งนั้นมีมูลค่ามากถึง 9 ล้านล้านบาทต่อปี” นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ กล่าว


วิจัยสู่การแพทย์อนาคต


ศูนย์ความเป็นเลิศฯ อยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนาวัคซีน/ยาภูมิต้านมะเร็งโดยการใช้ชีววิทยาเชิงระบบ ภายใต้กรอบความเชื่อที่ว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งได้ เช่นเดียวกับการกำจัดเชื้อโรค เบื้องต้นนำร่องศึกษาในกลุ่มยารักษามะเร็งลำไส้ และมะเร็งรังไข่
ทั้งนี้ การผ่าตัด เคมีบำบัดและการฉายแสง เป็นวิธีมาตรฐานรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน แต่มีข้อจำกัดจากผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์กับเซลล์ปกติและประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ในอวัยวะเป้าหมายที่ต่ำ เพราะต้องผ่านหลายระบบในร่างกาย จึงเกิดแนวคิดในการวิจัยค้นหารูปแบบการรักษาใหม่ที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น


พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง กล่าวว่า แนวโน้มงานวิจัยในส่วนของวัคซีนจะออกมาได้เร็วกว่ายาภูมิต้านมะเร็ง เนื่องจากไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องผลิตจากโรงงาน เมื่อตรวจพันธุกรรมของก้อนมะเร็งก็สามารถนำมาทำวัคซีนสำหรับผู้ป่วยคนนั้นได้ คาดว่าในปี 2561 อาจจะได้เห็นวัคซีนต้นแบบเพื่อการรักษา “ไม่ใช่” วัคซีนเพื่อการป้องกัน อีกทั้งวัคซีนตัวนี้จะใช้ได้กับเฉพาะบุคคลเท่านั้น เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ


ส่วนเหตุผลที่เริ่มจากมะเร็งลำไส้กับรังไข่ เพราะต้องการชิ้นเนื้อขนาดใหญ่มาตรวจ วิเคราะห์ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วจะเป็นมะเร็งชนิดไหนก็ได้ ขณะที่มะเร็งปอดและตับอ่อนจะได้ตัวอย่างชิ้นเนื้อเล็กมาก หรือมะเร็งบางอย่างที่ผ่าตัดไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีตรวจจากเลือด ซึ่งจะยากขึ้นอีกระดับหนึ่ง แต่ก็กำลังทดลองอยู่เช่นกันแม้ว่าผลยังไม่ชัดเจนเท่ากับก้อนเนื้อ”


เหตุผลที่วัคซีนเพื่อการรักษาในลักษณะนี้มีประสิทธิภาพสูง เพราะสามารถออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจง ไม่ใช่การทำวัคซีนแบบ One Size Fits All ที่ใช้สำหรับทุกคน อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกจะมีราคาสูงแต่เมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้วยังมีราคาถูกกว่า และในอนาคตจะมีการผลิตมากขึ้นเพราะเทคโนโลยีราคาถูก จะทำให้ราคาลดลงตามไปด้วย


นพ.ไตรรักษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาแล้วหายขาดคิดเป็นสัดส่วน 50% เท่านั้น ส่วนที่เหลือมักจะเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนระหว่างการรักษา ผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยยาภูมิต้านมะเร็งหรือยาไบโอโลจิกส์จากต่างประเทศ ต้องใช้เงินโดยเฉลี่ยมากถึง 8 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงยาดังกล่าว


การวิจัยทางคลินิก พบว่า ยาภูมิต้านมะเร็งร่วมกับยามาตรฐานอื่นๆ ได้ผลดีมากต่อโรคมะเร็งหลายชนิด การให้ยาในระยะเวลาไม่กี่เดือนสามารถทำให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมีอัตรารอดชีวิตสูงขึ้นชัดเจน.และในผู้ป่วยบางส่วนสามารถกำจัดมะเร็งได้ด้วยระบบภูมิคุ้มกันของตนเองออกไปได้เอง องค์การอาหารและยาของสหรัฐได้อนุมัติให้ใช้รักษาโรคมะเร็ง 8 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา .มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งของศีรษะและคอ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน มะเร็งตับ และมะเร็งกระเพาะอาหาร


ระดมทุนสร้างยาต้านมะเร็ง


พญ.ณัฏฐิยา กล่าวต่อว่า หากวัคซีนรักษามะเร็งประสบความสำเร็จ มั่นใจว่าจะนำไปสู่การตั้งกองทุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า ทำได้จริง อย่างไรก็ตาม การใช้วัคซีนรักษามะเร็งอย่างเดียวอาจไม่ได้ผล 100% จึงต้องใช้ควบคู่กับยาภูมิต้านมะเร็ง แต่มีข้อจำกัดคือ ต้องใช้งบสนับสนุนจำนวนมากเพื่อทำการทดลองในมนุษย์


ในต่างประเทศ กองทุนรักษามะเร็งใช้งบประมาณระดับหมื่นล้าน แต่สำหรับไทยประมาณ 2,000 ล้านบาทน่าจะดำเนินการต่อไปได้ตามเป้าหมาย จากปัจจุบันที่จุฬาฯ สนับสนุน 160 ล้านบาทระยะเวลา 3 ปีเป็นค่าครุภัณฑ์ 50% จึงเกิดแนวคิดระดมทุนขึ้นมาโดยเชิญผู้ประกอบรายใหญ่เข้ามาร่วมลงทุน หรือการบริจาคเงินสนับสนุนผ่านทางคณะแพทยศาสตร์เพื่อการวิจัยจะสามารถหักภาษีได้ 2เท่า (facebook.com/CUCancerIEC)
นอกจากนี้ยังได้จัดทำของชำร่วยออกจำหน่าย ในรูปแบบผ้าพันคอลายดอกราชพฤกษ์จากภาพเขียนสีน้ำของ พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก ราคา 1,000 บาทต่อผืน สามารถสั่งซื้อทางไปรษณีย์ เริ่มตั้งแต่ ธ.ค.เป็นต้นไป รายได้ทั้งหมดจะนำมาสนับสนุนงานวิจัยด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง