จ่อไฟเขียวให้ 'ทีโอที' เซ็งลี้คลื่น2300เปิดทางเอกชนเช่า

จ่อไฟเขียวให้ 'ทีโอที' เซ็งลี้คลื่น2300เปิดทางเอกชนเช่า

เผย "กสทช." จ่อไฟเขียวให้ "ทีโอที" เซ็งลี้คลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ เปิดทางให้เอกชนเช่าใช้ทั้งที่ขัดกฎหมาย

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงกรณีที่บอร์ด กสทช. มีมติให้สำนักงานกสทช.ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการใช้งานคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz ) ที่ทีโอทีได้รับอนุมติให้นำไปใช้งานรองรับโครงข่ายโทรศัพท์สาธารณะทางไกลในชนบท และได้ขอปรับปรุงเพื่อใช้งานอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ และโมบายบรอดแบนด์ว่า เป็นไปตามมติ กสทช.ตั้งแต่ 29 ตุลาคม 2558 และ 15 มีนาคม 2560 ที่แม้บอร์ดกสทช.จะเห็นชอบให้ทีโอทีนำคลื่นดังกล่าวไปใช้ แต่ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช.ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการใช้งานด้วยว่า เป็นไปตามหลักเกณฑ์ กฏระเบียบและประกาศ กสทช.หรือไม่และมีการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้รับทราบรายงานผลการตรวจสอบของคณะทำงานที่พบว่า ที่ผ่านมาทีโอที มีการนำคลื่นดังกล่าวให้ให้เอกชนใช้งานในลักษณะบริการ MVNO ที่ไม่เป็นไปตามประกาศ กสทช.และขัดมาตรา 46 ของพรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 รวมถึงมติกทค.ที่กำหนดให้ทีโอทีต้องประกอบกิจการเอง กทค.จึงสั่งให้สำนักงาน กสทช.ทำหนังสือแจ้งไปยังทีโอทีให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งยังให้คณะทำงานประเมินการใช้งานคลื่นความถี่ที่เหมาะสมของทีโอที โดยเห็นว่าหากใช้งานเฉพาะบริการ อินเตอร์เน็ต บรอดแบนด์ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้คลื่นมากถึง 60 MHz ส่วนการที่ทีโอทีจะนำไปใช้งานไวร์เลส บรอดแบนด์ด้วยนั้นสามารถทำได้แต่ต้องให้บริการเอง ไม่สามารถมอบหมายให้ใครใช้ต่อได้ และหากมีการใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือมีจำนวนคลื่นเหลือกสทช.จะเรียกคืนเพื่อนำออกประมูลต่อไป

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีข่าวว่าบอร์ด กสทช.ชุดปัจจุบันเตรียมอนุมัติให้ทีโอทีใช้คลื่นดังกล่าวได้ต่อไปทั้งในส่วนของอินเตอร์เน็ต บรอดแบนด์ และไวร์เลส บรอดแบนด์ แม้จะตรวจสอบพบว่าทีโอทีมีการนำคลื่นออกไปให้เอกชนเช่าใช้ต่อซึ่งขัดมาตรา 46 พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม และประกาศกสทช.ก็ตาม

"ถือเป็นเรื่องที่สร้างข้อกังขาให้แก่วงการโทรคมนาคมอย่างยิ่ง เพราะก่อนหน้า กสทช.สั่งให้คณะทำงานกสทช.ประเมินความจำเป็นและเหมาะสมในการใช้งานคลื่นความถี่ 2300 ในมือทีโอทีว่าควรมีเท่าไหร่ ส่วนที่เหลือให้ส่งคืนเพื่อที่ กสทช.จะได้นำไปประมูลหรือจัดสรรต่อไป ทั้งยังยืนยันว่าทีโอทีไม่สามารถจะเซ็งลี้คลื่นไปให้เอกชนใช้ในรูปแบบ MVNOได้"