สั่งปิดโรงชำแหละสุกรเถื่อน จ.ราชบุรี

สั่งปิดโรงชำแหละสุกรเถื่อน จ.ราชบุรี

สั่งปิด "โรงชำแหละหมูเถื่อน" ที่ จ.ราชบุรี หลังมีชาวบ้านร้องเรียน เรื่องโรงชำแหละเนื้อสุกรส่งกลิ่นเหม็นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 20 พ.ย.60 นางโสภา สาลียงพวย หัวหน้าฝ่ายบริหารสาธารณสุข รักษาการผู้อำนวยการกองสาธารณสุข เทศบาลตำบลบ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.ราชบุรี ได้เข้าตรวจสอบที่บริเวณโรงชำแหละเนื้อสุกร แห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หลังมีชาวบ้านร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเรื่องโรงชำแหละเนื้อสุกรส่งกลิ่นเหม็น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมได้เข้ามาตรวจสอบครั้งหนึ่งแล้ว พบว่าโรงชำแหละเนื้อสุกรแห่งนี้ไม่มีใบอนุญาตการประกอบกิจการ ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมพร้อมเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขเทศบาลตำบลบ้านฆ้อง จึงสั่งการให้ดำเนินการหยุดประกอบกิจการ และได้เข้ามาตรวจสอบอีกครั้งในวันนี้ พบว่าทางโรงชำแหละเนื้อสุกรดังกล่าวได้ให้คนงานหลายคนทยอยขนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นรถบรรทุกออกจากพื้นที่

ด้านนางโสภา สาลียงพวย หัวหน้าฝ่ายบริหารสาธารณสุข รักษาการผู้อำนวยการกองสาธารณสุข เทศบาลตำบลบ้านฆ้อง เปิดเผยว่า มีชาวบ้านร้องเรียนมาทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดว่า โรงชำแระแห่งนี้มีกลิ่นเหม็นและมีน้ำเสียที่เกิดจากโรงชำแระไหลออกมา เมื่อเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบแล้วก็พบข้อเท็จจริงตามที่ชาวบ้านร้อง ช่วงแรกที่เข้ามาได้แนะนำให้หยุดประกอบกิจการ หลังจากนั้นก็ได้เข้ามาตรวจสอบอีกครั้งก็พบว่ายังคงมีเศษชิ้นเนื้อสุกรอยู่ในพื้นที่ซึ่งทางผู้ประกอบการก็อ้างว่ากำลังจะขนอุปกรณ์ออก จึงมีคำสั่งให้ปิดกิจการ และดำเนินการแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรโพธาราม เพื่อให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535

มาตรา 27 ในกรณีที่มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในที่ หรือทางสาธารณะให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บุคคลซึ่งเป็นต้นเหตุหรือเกี่ยวข้องกับการก่อหรืออาจก่อให้เกิดเหตุรำคาญนั้น ระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญภายในเวลาอันสมควรตามระบุไว้ในคำสั่ง ในกรณีที่ปรากฏแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น และเหตุรำคาญที่เกิดขึ้นอาจเกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นระงับเหตุรำคาญนั้น และอาจจัดการตามความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุรำคาญนั้นขึ้นอีก

และมาตรา 33 คือ ในการออกใบอนุญาตทางเจ้าพนักงานท้องถิ่นอาจกำหนดเงื่อนไขโดยเฉพาะให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติ เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของสาธารณชน ซึ่งทางผู้ประกอบกิจการต้องมาขออนุญาตจากทางเทศบาล แต่ทางโรงชำแหละเนื้อสุกรดังกล่าวไม่ได้มาขออนุญาตประกอบกิจการจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยครั้งแรกได้ทำการตักเตือน มาครั้งที่ 2 ตรวจพบยังคงมีเศษชิ้นเนื้อหมูตกหล่นในโรงชำแหละอยู่ จึงใช้ข้อกฎหมายพระราชบัญญัติการสาธารณสุขให้หยุดประกอบกิจการทันที