ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 20-24 พ.ย.60

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 20-24 พ.ย.60

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง หลังผู้ผลิตน้ำมันมีแนวโน้มขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตในการประชุมโอเปค 30 พ.ย. นี้

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53-58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 60-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (20 พ.ย. – 24 พ.ย. 60)

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากข่าวการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคก่อนการประชุมในวันที่ 30 พ.ย. นี้ ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรง ซึ่งสร้างความกังวลต่อตลาดว่าอุปทานน้ำมันดิบจะตึงตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบจากสหรัฐที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ภาพรวมอุปสงค์น้ำมันดิบโดยรวมในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ สาเหตุหลักมาจากสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงปรับลดลง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ตลาดยังคงจับตามองผลการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคในวันที่ 30 พ.ย. 60 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เกี่ยวกับการหาข้อสรุปในการขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตให้ถึงสิ้นปี 2561 โดยการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคมีความเป็นไปได้มากขึ้น หลังจากยังไม่มีประเทศสมาชิกใดคัดค้านข้อตกลงนี้ นอกจากนั้น กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปคคาดการณ์ว่าหากกลุ่มโอเปคคงกำลังการผลิตไว้เท่ากับเดือน ต.ค. 60 ที่ระดับ 32.59 ล้านบาร์เรล จะส่งผลให้อุปทานส่วนเกิน และปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วปรับตัวลดลงแตะระดับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ได้ภายในปี 2561
  • สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบจะตึงตัวมากขึ้น จากเหตุการณ์การกวาดล้างคอรัปชั่นภายใต้การนำของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎหราชกุมารของซาอุดิอาระเบีย เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความกังวลของนักลงทุนต่อเสถียรภาพทางการเมืองในซาอุฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ตลาดมีความกังวลต่อเหตุความไม่สงบในบาห์เรน ซึ่งเกิดจากความตึงเครียดระหว่างซาอุฯ และอิหร่านที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น โดยล่าสุด เกิดเหตุระเบิดระบบท่อสายส่งน้ำมันครั้งใหญ่ในบาห์เรนเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีการโยงไปที่อิหร่านว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับขึ้นหลักๆ มาจากการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับจุดคุ้มทุนเฉลี่ยในการลงทุนผลิตน้ำมันจาก Shale oil นอกจากนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) คาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันดิบจาก Shale oil ในเดือน ธ.ค. มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน โดยคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 80,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 17 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ภาพรวมอุปสงค์น้ำมันในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวได้ช้าลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยล่าสุด สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดการคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันลงราว 100,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2560 ลงไปอยู่ที่ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยสาเหตุหลักมาจากสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ส่งผลกระทบให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงปรับลดลง
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน จำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงาน ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) สหรัฐ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ยูโรโซน

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 พ.ย. - 17 พ.ย. 60)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 0.19 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 56.55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 0.82 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 62.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 60.0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับภาพรวมอุปสงค์น้ำมันดิบในอนาคต หลังจาก IEA ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันสำหรับปี 2560 และ 2561 อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบไม่ได้ปรับลดลงไปมานัก เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากความกังวลต่อตลาดว่าอุปทานน้ำมันดิบจะตึงตัวมากขึ้น จากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง และการคาดการณ์เกี่ยวกับการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกไปจนถึงสิ้นปี 2561 ที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น

-------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

โทร.02-797-2999