กยท.ถกแก้ปัญหายางวันนี้ เกษตรกรรอหารือรมต.ใหม่

กยท.ถกแก้ปัญหายางวันนี้ เกษตรกรรอหารือรมต.ใหม่

กลุ่มเกษตรกรสวนยาง ปฏิเสธพบหารือ "ฉัตรชัย" ตามนัดหมายวันนี้ ระบุร้องมา 2 ปียังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่มีหลักประกันว่าจะได้รับการดูแล เชื่อจะมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี ขอรอดูท่าทีรมต.ใหม่ จะรับฟังปัญหาชาวสวนยางหรือไม่ นัดหมายแกนนำหารือกำหนดท่าที 28 ก.ย.นี้

การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางในประเทศ ของเกษตรกรสวนยางพารา ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หลังจากเกษตรกรบางส่วนได้เดินทางยื่นหนังสือเรียกร้องต่อพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา และอีกส่วนที่ถูกทหารนำตัวเข้าค่ายจนไม่สามารถเข้าร่วมการชุมนุมได้ และทำข้อร้องเรียนเสนอผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปแล้ว โดยจะมีการกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหวต่อไป

นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายสถาบันชาวสวนยางระดับประเทศ กล่าวว่าข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ ที่ผ่านการลงมติ มีเพียง 2 ข้อ คือ1.ขอให้การยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ถอดหุ้นออกจากบริษัทร่วมทุนจดทะเบียนที่ร่วมกับ 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย แล้วดำเนินการจัดตั้งบริษัทจำกัด ซึ่งเป็นของการยางเองและ 2.ขอให้รัฐออกนโยบายบังคับใช้ยางพาราภายในประเทศทุกรูปแบบอย่างจริงจัง โดยไม่ได้เรียกร้องขับไล่ใครออกจากตำแหน่ง

“หลายสิบปีที่ผ่านมา การต่อสู้เรื่องยางพาราในแต่ละรัฐบาล ทำให้ชาวสวนยางทุกคนต่างเรียนรู้ว่าเราต้องอยู่กับปัญหา และปัญหาราคายางที่เกิดขึ้น ต่อให้เปลี่ยนผู้บริหารออกไปกี่คน ขับไล่กันทุกยุคทุกสมัย แต่งานบริหารไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไข ปัญหาก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว"

ส่วนท่าทีของพล.อ.ฉัตรชัย ต่อข้อเรียกร้อง 2 ประการ ของเครือข่ายนั้น นายถนอมเกียรติ กล่าวว่า ยังไม่พบว่ากระทรวงเกษตรฯจะดำเนินกับปัญหานี้อย่างไร แต่ก็ไม่ถือว่าการชุมนุมที่ผ่านมาจะสูญเปล่า เนื่องจากหลังการชุมนุมพบว่า ภาพรวมที่ออกมาได้สร้างกระแสสังคมให้ได้รับทราบถึงที่มาของปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำว่าเกิดจากอะไร และหวังว่าจะสร้างแรงกดดันให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไข

ส่วนสาเหตุที่ตนและแกนนำเครือข่ายฯ จ.ตรัง ไม่เดินทางไปร่วมชุมนุมที่หน้ากระทรวงเกษตรฯ ก็เนื่องจากถูกร้องขอจากฝ่ายทหาร แต่ไม่ใช่คำสั่ง หรือมีหนังสือสั่งการจากผู้บังคับบัญชาคนใด เป็นเพียงคำร้องขอจากฝ่ายทหารที่พูดคุยกันเท่านั้น ซึ่งเรามองว่าไม่มีเหตุผลที่ต้องดื้อรั้นกับฝ่ายทหาร ด้วยมติของกลุ่มที่กำหนดให้ชุมนุมที่หน้ากระทรวงเกษตรฯ เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ จึงตัดสินใจ ยินยอมไม่เดินทางไปร่วมชุมนุม

ส่วนเงื่อนไข ที่จะให้แกนนำเครือข่ายฯ 5-10 คนเข้าพบพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ในวันนี้ (20 พ.ย.) ก็เป็นข้อเสนอที่ฝ่ายทหาร เสนอแกนนำเครือข่ายฯ จ.พัทลุง เพื่อแลกกับการยุติร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ ขณะที่ตนเองไม่เชื่อว่าการเข้าพบรัฐมนตรีจะได้ประโยชน์อะไร และก็ไม่มีหลักประกันว่า ข้อเสนอที่ยื่นให้ถึงมือรัฐมนตรีจะได้รับการแก้ไขจริง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ทางเครือข่ายพยายามบอกกว่ามาตลอด 2 ปี

ทั้งนี้ เนื้อหาที่จะเข้าพูดคุยกับ พล.อ.ฉัตรชัย นั้น เดิมทีมีการพูดกันว่าจะควรทบทวนเหตุผลกันก่อนว่า การเข้าพบในครั้งนี้จะให้ผลลัพธ์อะไรบ้าง ยกตัวอย่าง การทำปฏิญญาร่วมกัน เช่น ในเรื่องการดำเนินนโยบายใช้ยางพาราจากภาครัฐจะเป็นเช่นไร จะยกเลิกบริษัทข้ามทุน หรือหากไม่ยกเลิกก็ต้องมาคุยกันต่อว่าจะหาทางออกอย่างไร เช่น เมื่อมีการเสนอร่วมทุนแล้วเข้าประมูลได้ หลังจากเคลียร์ยาง เป็นไปได้หรือไม่ว่า อย่าบวกราคา หรือชี้นำราคามากเกินไป อันเกิดจากผลประโยชน์ทับซ้อน จนกลายเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด

อย่างไรก็ตามข้อเรียกร้อง 2 ประการ ที่รัฐมนตรีรับไว้กับมือนั้น ทำให้แกนนำเครือข่ายบางราย ขอติดตามท่าทีของรัฐบาล รัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่เนื่องจากกระแสการปรับคณะรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เชื่อได้ว่ากระทรวงเกษตรฯจะมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี

“เราก็ต้องติดตามกันต่อว่า รัฐมนตรีเกษตรฯคนใหม่ เป็นใคร เป็นบุคคลที่พอจะรับฟังปัญหาของชาวสวนยางหรือไม่ เพราะหากเข้าพบแล้วไม่แก้ไข ก็เปล่าประโยชน์"

ด้านนายธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายสถาบันชาวสวนยาง กล่าวว่า การแก้ปัญหาราคายาง ตามข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นไว้กับรัฐมนตรีเกษตรฯ ส่วนหนึ่งซึ่งต้องติดตามกันต่อไป เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นเรื่องยาก แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่จริงต่อการแก้ไขทำให้เรื่องกลายเป็นปัญหายืดเยื้อกระทบต่อการดำรงชีพของเกษตรกร
แต่อย่างน้อยเรื่องเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพคล่องของกองทุนพัฒนายางพารา ตามมาตรา49 (3) ซึ่งเป็นระเบียบการบริหาร ก็ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถกู้ยืมเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับนำไปปรับปรุงคุณภาพการผลผลิต การผลิต การแปรรูป เช่นเดียวกับที่ให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางกู้ยืม
ทั้งนี้ เบื้องต้นทราบว่า บอร์ดกยท. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน โดยจะมีการประชุมนัดแรกของคณะทำงานชุดนี้ ในวันที่ 20 พ.ย.นี้

ขณะที่ในส่วนของเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับจังหวัด ได้เริ่มทยอยเรียกประชุมสมาชิกกลุ่มสหกรณ์ในภูมิภาคต่างๆ แล้ว เพื่อสำรวจความต้องการเงินทุนเพื่อนำไปหมุนเวียนในการเสริมสภาพคล่องให้กับสมาชิกชาวสวนยาง ให้สอดคล้องกับระเบียบหากการแก้ไขดังกล่าวเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนหลังจากที่ต้องทนทุกข์กับราคายาง

ขณะเดียวกันเครือข่ายสถาบันชาวสวนยางระดับประเทศ จะรอดูผลการประชุมวันนี้ และนัดประชุมกำหนดท่าทีอีกครั้งในวันที่ 28 พ.ย.นี้