‘ซีพีเอ็น’พลิกโฉมชอปปิงมอลล์‘ศูนย์กลางใช้ชีวิต’

‘ซีพีเอ็น’พลิกโฉมชอปปิงมอลล์‘ศูนย์กลางใช้ชีวิต’

แรงกระเพื่อมจากความล้ำสมัยของเทคโนโลยีในยุคดิทัลส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเร็วมากในเรื่อง “เทรนด์”  

ในเวลาเดียวกันเป็นแรงกดดันและความท้าทายของผู้ประกอบการจะรับมืออย่างไร โดยเฉพาะแหล่งรวมสินค้าและบริการอย่าง “ชอปปิงมอลล์”  ที่กำลังถูกคุกคามจากโลกการค้าออนไลน์ ลูกค้าสามารถชอปปิงได้ทุกที่ทุกเวลา 24 ชั่วโมง 

ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ผู้บริหารเครือข่ายศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา, เซ็นทรัล เฟสติวัล และเซ็นทรัลเวิลด์ กล่าวว่า บทบาทของธุรกิจศูนย์การค้าก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของการใช้ชีวิต หรือ Center of Life มากขึ้นในทุกด้านทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม สินค้าและบริการ การท่องเที่ยว ผู้ประกอบการต้องสร้าง “ประสบการณ์การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่” สอดคล้องกับไปกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งสร้าง “แอทแทรคชั่น” ในรูปแบบใหม่เพื่อมอบประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ

ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่หรือจัดโซนนิ่งภายในศูนย์ เดิมเพียงนำร้านหรือบริการใหม่เข้ามาเปิดเรียงต่อๆ กัน ปัจจุบัน “ไม่พอ” เพราะร้านค้าไม่ได้มีหน้าที่ขายสินค้าอย่างเดียว หากเปิดร้านหรือโซนกีฬา ในพื้นที่นั้นลูกค้าสามารถลองไดร์ฟกอล์ฟ วิ่งทดสอบรองเท้า ได้ด้วย เช่นเดียวกับร้านหนังสือที่ต้องเป็นมากกว่าร้านหนังสือ เช่น คอนเซปต์ Think Space  ของ B2S การพัฒนาพื้นที่โค-เวิร์กกิ้งสเปซ   เป็นการสร้างบรรยากาศในศูนย์การค้าด้วยการนำนวัตกรรมการออกแบบและเทคโนโลยีมาสร้างความแปลกใหม่ น่าตื่นเต้น

นอกจากนี้ การพัฒนา “Service Innovation” เพื่อสนับสนุนลูกค้าแบบทันที (Real Time) จำเป็นอย่างยิ่ง เช่น การมี Wi-fi service ทั้งศูนย์การค้า เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เช่น เรทติ้งการรีวิวสินค้า ร้านอาหารแนะนำ โปรโมชั่นที่น่าสนใจ การใช้เทคโนโลยี QR และ AR Code เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงโปรโมชั่นและข้อมูลต่างๆ ได้รวดเร็ว

รวมทั้งมุ่งสร้างศูนย์กลางสำหรับทุกคนในครอบครัว ด้วยบริการสำหรับหลายเจนเนอเรชั่น ให้ครอบครัวใหญ่มา “รี-คอนเน็ค” ใช้เวลาร่วมกัน 

ศูนย์การค้าไม่ใช่แค่ขายของแต่ต้องครีเอทคัลเจอร์ (Culture) หรือดึงวัฒนธรรมท้องถิ่นเชื่อมต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งทุกวันนี้ผู้คนและนักเดินทางให้ความสำคัญกับรากเหง้า ภูมิปัญญาท้องถิ่น นับว่าเป็นความโชคดีของไทยที่เรามีสิ่งเหล่านี้ชัดเจนมากในแต่ละชุมชน” 

ทั้งนี้ การขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่นักเดินทางชาวไทยและต่างชาติเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ “ศูนย์การค้า” เป็นเสมือนหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อน เป็นโอกาสสำคัญในการดึงวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้าง “ซิกเนเจอร์ อีเวนท์” หรือ ของดีของเด่นประจำแต่ละจังหวัด สร้างสรรค์ “ตลาดไลฟ์สไตล์” รูปแบบใหม่ เป็นพื้นที่สำหรับสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าสู่ช่องทางการค้าปลีกสมัยใหม่  รวมถึงการจัดงานข้ามเขตจังหวัดและ บริเวณจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อช่วยโปรโมทสินค้าท้องถิ่นและสนับสนุนการท่องเที่ยวในภาพรวม แนวทางดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญในการตอกย้ำความเป็นแลนด์มาร์คในแต่ละพื้นที่

ล่าสุด การเปิดโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา ที่ได้นำดอกไม้ประจำเมืองมาเป็นสัญลักษณ์ในการตกแต่ง สร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่น การเปิดพื้นที่สำหรับสินค้าโอทอป กิจกรรมพื้นเมืองต่างๆ ขณะที่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา มหาชัย “เมืองซีพู้ด”  และทางผ่านสู่เมืองท่องเที่ยวภาคใต้ เตรียมเปิดบริการ 23 พ.ย.นี้ ในคอนเซปต์  “จุดแวะพักขนาดใหญ่” นอกจากนี้ อยู่ระหว่างปรับปรุงใหญ่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

ณัฐกิตติ์ กล่าวต่อว่า ไฮซีซัน 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ซีพีเอ็น ใช้งบกว่า 400 ล้านบาทสำหรับทำการตลาดเชิงรุกสร้างสีสันและกระตุ้นบรรยากาศการจับจ่าย นอกเหนือจาก “เซลโปรโมชัน” จะมีอีเวนท์รวมกว่า “100 งาน” โดยมีไฮไลท์ เช่น  “แจส เฟสติวัล” กับ โก้ มิสเตอร์ แซกแมน  ใน 14 ศูนย์การค้า  งานเปิดไฟต้นคริสมาสต์ และการจัดงานเคาท์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่แลนด์มาร์คใจกลางกรุงเทพฯ เซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมกระจายในหัวเมืองท่องเที่ยวต่างๆ  ซึ่งทุกงานต้องการดึงดูดผู้คนออกมาใช้ชีวิต!!