พิพิธภัณฑ์อินเดียจัดงานส้วมสุดแนว

พิพิธภัณฑ์อินเดียจัดงานส้วมสุดแนว

พิพิธภัณฑ์อินเดียจูงใจประชาชนเห็นความสำคัญการใช้สุขามากขึ้น โดยจัดนิทรรศการส้วมรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ยุคอดีตถึงปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์สุขานานาชาติสุลาภในชานกรุงนิวเดลีจัดแสดงบัลลังก์ไม้จำลองที่ใช้โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสซึ่งติดตั้งกระโถนใต้ที่นั่ง โดยผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เผยว่า เชื่อกันว่าพระองค์ทรงประสบปัญหาท้องผูกและต้องออกนั่งบัลลังก์ขณะทรงพระบังคนหนักเพื่อประหยัดเวลาอยู่บ่อยครั้ง

ในแต่ละวัน มีผู้เข้าร่วมนิทรรศการจำนวนมากเพื่อชมสุขาอายุหลายร้อยปี กระโถนปัสสาวะ และโถชำระล้าง เช่นเดียวกับ เครื่องจักรยุคศตวรรษที่ 21 ที่สามารถเปลี่ยนของเสียของมนุษย์เป็นเถ้าถ่านได้ภายในไม่กี่วินาที

นายบินเดชวาร์ ปาธัก ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สุขานานาชาติสุลาภ เผยว่า พิพิธภัณฑ์ของเขาไม่เหมือนใครและเชื่อว่าเป็นแห่งแรกในโลกที่จัดงานเกี่ยวกับสุขา และว่า แนวคิดนี้เริ่มมาจากการสนทนาเรื่องสุขอนามัยและสุขา ซึ่งถือเป็นประเด็นต้องห้ามในอินเดีย ทางพิพิธภัณฑ์จึงต้องการให้ผูู้คนรู้สึกว่าสุขาไม่ใช่คำสกปรก

เมื่อปี 2557 นิตยสารไทม์เคยจัดให้พิพิธภัณฑ์สุขานานาชาติสุลาภ ติดใน 10 อันดับแรกพิพิธภัณฑ์สุดแปลกของโลก

เรื่องสุขาถือเป็นประเด็นอ่อนไหวในอินเดียที่มีประชากรราว 600 ล้านคน โดยกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรอินเดียขับถ่ายในที่แจ้ง ขณะเดียวกันประมาณ 70% ของครัวเรือนอินเดียไม่มีสุขาใช้ แม้ 90% ของประชากรสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ก็ตาม

บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การขับถ่ายในที่แจ้งในอินเดียเกิดจากความยากจนและความเชื่อที่ว่าสุขาในบ้านไม่สะอาด ชาวอินเดียจึงนิยมขับถ่ายในที่แจ้งมากกว่า