“นกสกู๊ต”เล็งบุกจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี ดันรายได้เพิ่ม

“นกสกู๊ต”เล็งบุกจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี ดันรายได้เพิ่ม

นกสกู๊ต ลุยขยาย เส้นทางเอเชียเหนือหลังปลดธงแดง ฟื้นแผนชิงตลาดญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ขี่กระแสทัวร์จีนมาไทยทะลัก เล็ง 3 ปีเปิดเพิ่มเมืองอันดับ 2-3 เพิ่ม 2 เท่าตัว เผยผลประกอบการแนวโน้มดีหลังยอดขาดทุนลดลงต่อเนื่อง

นายยอดชาย สุทธิธนกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกสกู๊ต กล่าวว่าหลังจากไทยพ้นจากการเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศไทย (ไอซีเอโอ) หรือปลดธงแดงได้สำเร็จทำให้วางแผนเชิงรุกปี 2561 โดยจะเปิดเส้นทางใหม่ 2-3 เส้นทาง และแผนสำคัญคือ การกลับไปบินในเส้นทางเกาหลีใต้ (สนามบินอินชอน,กรุงโซล) และญี่ปุ่น (สนามบินนาริตะ,โตเกียว) ตามเป้าหมายดั้งเดิมสมัยที่ก่อตั้งสายการบินตั้งแต่เดือนมิ.ย.2558 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรอประสานระหว่างสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กับญี่ปุ่นและตามขั้นตอนญี่ปุ่นต้องเข้ามาตรวจสายการบินก่อนทำการบินเข้าไปอีกครั้ง แต่คาดหวังว่าจะทันทำตลาดในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่คนไทยเดินทางมากที่สุด

ทั้งนี้ เตรียมขยายฝูงบินเป็น 5 ลำภายใน 6 เดือนแรกปีหน้า หลังลำที่ 4 เพิ่งเข้าฝูงบินเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้อัตราที่นั่งรองรับเพิ่ม 25% ซึ่งเครื่องบินที่ใช้ยังเป็นโบอิง 777-200 ขนาด 415 ที่นั่ง อายุเฉลี่ย 14 ปี การที่ยังใช้เครื่องบินรุ่นเก่าเนื่องจากพิจารณาปัจจัยแวดล้อม เช่น ค่าน้ำมันที่ไม่ได้สูงเป็นประวัติการณ์เหมือนปี 2551 จึงไม่ใช่ภาระต้นทุนสำคัญสำหรับเครื่องบินรุ่นเก่าที่อาจจะมีข้อเสียเปรียบเรื่องอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง

นอกจากนั้นยังมองเป้าหมายรุกเปิดเส้นทางใหม่ในจีนจากปัจจุบัน 6 เส้นทาง (ไทเป 1 เส้นทาง) โดยวันที่ 9 ธ.ค.จะเปิดเส้นทางซีอาน ความถี่ 3 เที่ยว/สัปดาห์ และเชื่อว่าภายใน 3 ปีนี้ ยังมีศักยภาพขยายจุดบินใหม่อีกมากเนื่องจากการท่องเที่ยวจีนมาไทยเติบโตต่อเนื่องเช่นเดียวกับกระแสนักท่องเที่ยวขาออก (เอาท์บาวด์) ที่สูงราว 150 ล้านคน/ปี และรัฐบาลมีแผนพัฒนาเมืองลำดับ 2 และ 3 ให้เศรษฐกิจเติบโต และจะมีอีกกว่า 200 เมืองที่ประชากรเพิ่มเป็นกว่า 10 ล้านคนขึ้นไป

“สายการบินทั่วโลกมองการเข้าไปจับตลาดจีน และจากการให้บริการของนกสกู๊ต เห็นได้ว่าทุกเส้นทางในจีนมีสัดส่วนผู้โดยสารจากฝั่งจีนถึง 95% ขณะที่คนไทย 5% เท่านั้น”

อย่างไรก็ตามการให้บริการเส้นทางระหว่างญี่ปุ่นที่ขณะนี้มีสายการบินสกู๊ตซึ่งเป็นบริษัทผู้ถือหุ้นมาบินแทนอยู่นั้น หลังจากที่นกสกู๊ตเปิดตัวให้บริการเองหลังปลดธงแดงได้แล้วจะให้สกู๊ตยกเลิกการบินไปหรือไม่ยังต้องหารือกันต่อไป

นายยอดชาย กล่าวว่าแนวโน้มธุรกิจในปีนี้เริ่มดีขึ้น โดยไตรมาส 1 และ 3 มีผลกำไรแล้ว เช่นเดียวกับไตรมาส 4 ที่อยู่ทิศทางที่ดีทำให้ตลอดปีนี้ขาดทุนราว 50-100 ล้านบาทซึ่งเป็นการขาดทุนลดลงต่อเนื่องจากปีที่แล้วยังขาดทุนถึงราว 600 ล้านบาทขณะที่รายได้โดยประมาณของปีนี้จะอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วปิดที่ 3,900 ล้านบาท และตลอดปีมีอัตราบรรทุกเฉลี่ยผู้โดยสารกว่า 87%

ส่วนปี 2561 บริษัทต้องการพลิกสถานการณ์ให้มีกำไร แต่ก็ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องพิจารณา เช่น ต้นทุนน้ำมัน,อัตราแลกเปลี่ยนและที่สำคัญคือการแข่งขันในธุรกิจสายการบินที่น่าจะต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคาเป็นตัวตั้งเช่นการเปิดเส้นทางใหม่ในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น การให้ราคาเริ่มต้นในหลักไม่เกิน 1 หมื่นบาทก็น่าจะยังมีการนำมาใช้แข่งขันกันเช่นเดิม สิ่งที่ทุกสายการบินต้องไปมุ่งเน้นเพื่อให้มีกำไรจะไปอยู่ที่การควบคุมต้นทุนของตัวเองให้ดีที่สุดมากกว่า เช่น ปัจจุบันมีอัตราการใช้งานเครื่องบิน 12 ชม./วัน แต่จะให้มีประสิทธิภาพก็ควรเพิ่มเป็น 13-14 ชม./วัน เป็นต้น

“การปลดธงแดงเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมแต่การแข่งขันก็จะสูงตามไปด้วย การให้บริการระหว่างประเทศของนกสกู๊ตอาจได้เปรียบนกแอร์ บริษัทแม่เล็กน้อยเพราะการแข่งขันไม่ดุเดือดเท่า แต่อนาคตเมื่อการบินในประเทศต้องดิ้นหาจุดหมายต่างประเทศมากขึ้นจะทำให้เกิดคู่แข่งใหม่ ซึ่งการเปิดเส้นทางใหม่ๆ ทุกวันนี้แทบเป็นไปไม่ได้ว่าจะมีจุดหมายใหม่ใดที่ไม่เคยมีใครบินเข้าไปก่อน ดังนั้นกลยุทธ์ก็จะเน้นเกาะกลุ่มตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตดีเช่นจีนรวมถึงพิจารณาโอกาสในอินเดีย”

สำหรับนายยอดชายเข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารตั้งแต่วันที่ 1พ.ย.ที่ผ่านมา โดยตำแหน่งก่อนหน้านี้คือประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการพาณิชย์ สายการบินนกแอร์