'แม่กำปอง' ที่แท้ทรู!

'แม่กำปอง' ที่แท้ทรู!

เมื่อแม่กำปองกลายเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวหมายปอง ลองรู้จักและสัมผัสแม่กำปองในมุมมองที่แท้จริง!

ไม่อยากจะใช้มุกเดิมๆ ที่ว่า พอลมหนาวมาเยือนก็ถึงเวลาขึ้นเหนือเพื่อไปสัมผัสความหนาวเย็น แต่ก็อดไม่ได้จริงๆ ที่ต้องบอกว่าตอนนี้ที่แม่กำปอง จ.เชียงใหม่ อากาศกำลังหนาว ท้องฟ้ากำลังแจ่มใส ต้นไม้ยังเขียวครึ้ม ถ้าได้เดินเล่นไปตามถนน รับไอแดดอุ่นๆ น่าจะสุขอย่างบอกไม่ถูกเชียวละ

            เกริ่นมาเสียดิบดี แต่อาจจะยังมีคนไม่รู้ว่า ‘แม่กำปอง’ คืออะไร บ้านแม่กำปอง ตั้งอยู่ในกิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหุบเขา รายล้อมด้วยป่าไม้เขียวขจี มีน้ำตกและลำธารใสเย็นไหลผ่าน หน้าตาของชุมชนที่นี่เรียบง่าย บ้านแต่ละหลังเรียงรายไปตามเนินเขา อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 เมตร จึงไม่น่าแปลกใจถ้าที่นี่จะทำให้เข้าใจว่าเป็นฉากในฝันของคนที่แสวงหาความสงบ ง่าย และงาม

            ชื่อหมู่บ้านนี้มาจากคำว่า ‘แม่’ แปลว่าแม่น้ำ กับ ‘กำปอง’ เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีดอกไม้สีเหลือง แดง ขึ้นตลอดข้างลำธาร ชาวบ้านที่นี่มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายทว่ามากเสน่ห์ และด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ชาวชุมชนแม่กำปองเปิดหมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และโฮมสเตย์ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539

 

            แม้ตอนนี้อุณหภูมิจะลดต่ำถูกใจติ่งฤดูหนาว แต่อันที่จริงที่นี่อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี จึงทำให้เหมาะสำหรับการปลูกเมี่ยง (ชา) และกาแฟซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบัน กาแฟแม่กำปองนับเป็นของขึ้นชื่อที่สุดอย่างหนึ่งของที่นี่

            ดีงามระดับนี้ แม่กำปอง จึงกลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสอากาศบริสุทธิ์ ดื่มด่ำธรรมชาติของป่าไม้ ลำธารและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ยังคงอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว โดยที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ การเดินทางสะดวกสบาย

            นักท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด เมื่อจะเข้ามาที่แม่กำปอง ย่อมต้องผ่าน ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน นี่นับเป็นจุดแรกๆ ที่ควรค่าแก่การแวะเที่ยวชม เพราะขึ้นชื่อว่าเป็น ‘โครงการหลวง’ ย่อมเกิดจากน้ำพระทัยและพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ประมาณ 300,000 บาท สำหรับก่อสร้างศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก เพื่อเป็นแหล่งพัฒนา สาธิต และส่งเสริมการเพาะเห็ดหอม และกาแฟ ให้เป็นอาชีพเสริมแก่ราษฎรนอกเหนือจากการปลูกเมี่ยงโดยมี วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริม พัฒนาปัจจัยพื้นฐาน และคุณภาพชีวิตร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพื่อสนับสนุนงานทดลอง สาธิต และวิจัยรวมทั้งอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยศูนย์ฯแห่งนี้ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 700-1,200 เมตร เป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน

            อีกสิ่งที่เมื่อแวะเวียนมาแล้วจะต้องประทับใจ คือ การผ่อนคลายท่ามกลางธรรมชาติ สูดอากาศบริสุทธ์ อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี มีร้านอาหารให้บริการโดยใช้วัตถุดิบจากโครงการหลวง ได้ลิ้มลองผักปลอดสารพิษที่สดกรอบอร่อย แล้วค่อยมุ่งหน้าสู่หมู่บ้านแม่กำปองซึ่งไม่ไกลกันนัก

            แทบจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อมาถึงแม่กำปอง ที่นักท่องเที่ยวจะต้องไปยืนพิงอิงแอบกับกำแพงของ ร้านกาแฟบ้านริมห้วยลุงปุ๊ด & ป้าเป็ง ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม บรรยากาศดีเพราะตั้งอยู่ริมลำธาร ด้วยตัวร้านเป็นบ้านไม้เก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์ บริเวณหน้าร้านจึงมีหนุ่มสาวยันวัยชรายืนแอ็คท่าเท่ๆ ดูฮิปสเตอร์ไม่น้อย ความยอดนิยมของร้านนี้ถึงขั้นว่าไม่ต้องแหงนดูป้ายร้าน แค่ดูว่าตรงไหนคนยืนออกันถ่ายรูป นั่นละร้านลุงปุ๊ด & ป้าเป็ง ซึ่งนอกจากจะเป็นฉากถ่ายรูปและเป็นร้านอาหาร ที่นี่ยังเปิดให้บริการบ้านพักแบบโฮมสเตย์ด้วย

            แม้จะยังไปไม่ถึงแก่นแกนของแม่กำปอง แต่การค่อยๆ ละเมียดละไมกับของเด็ดระหว่างทางก็ทำให้เพลิดเพลินดีทีเดียว และที่ร้าน ไส้อั่วแม่นิ่ม ก็ทำให้เพลินลิ้นด้วย นี่เป็นอีกหนึ่งร้านดังของแม่กำปอง ขายไส้อั่วรวมถึงอาหารพื้นเมืองต่างๆ ทั้งส้มตำ ลาบ น้ำตก ไก่ทอด  แทบทุกคนที่มาแม่กำปองก็จะต้องลองชิมไส้อั่วร้านนี้ เพราะรสชาติที่บอกว่าได้ลองแล้วจะติดใจ เดิมทีเป็นร้านขายไส้อั่วเล็กๆ แต่ด้วยความนิยมยิ่งกว่าซุป’ตาร์ ปัจจุบันจึงรุ่งเรืองเป็นร้านใหญ่ เพิ่มโต๊ะเพิ่มเก้าอี้ และมีโซนนั่งกินริมน้ำ ทั้งรสชาติอร่อย ราคาไม่แพง แถมได้ปริมาณเยอะ บอกเลยว่า หากไปน่านแล้วต้องกินบัวลอยป้านิ่ม มาที่แม่กำปองก็ต้องไส้อั่วแม่นิ่มนี่ละ

            ยิ่งเดินลึกเข้าไปก็ยิ่งเข้าใกล้ความทรู (ความจริง) เพราะที่ต่อไปซึ่งพลาดไม่ได้คือ วัดกันธาพฤกษา หรือเรียกง่ายๆ ว่า วัดแม่กำปอง วัดเดียวในหมู่บ้านแม่กำปอง เป็นศูนย์รวมจิตใจคนในชุมชนตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน (ราว พ.ศ. 2473) หน้าตาวัดนี้ชัดเจนด้วยสถาปัตยกรรมแบบภาคเหนือ โดยเฉพาะวิหารหลังเก่าซึ่งเป็นไม้ทั้งหลัง หน้าจั่วหลังคาวัดแกะสลักจากไม้สัก เป็นลวดลายแบบล้านนา ลักษณะของวิหารสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง แกะสลักลวดลายอันวิจิตรงดงาม หลังคาของวิหารที่เป็นไม้สักถูกปกคลุมด้วยมอสสีเขียวทั่วทั้งหลังคา บ่งชี้ถึงสภาพอากาศชุ่มชื้น ที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี

            และที่เป็นหน้าเป็นตาของวัดนี้ คือ มีพระอุโบสถที่ตั้งอยู่กลางลำธารที่ไหลผ่านหมู่บ้าน  งดงามท่ามกลางธรรมชาติที่เขียวขจี เป็นวัดไม่กี่วัดที่จะมาเล่นมุกเข้าวัดแล้วร้อนไม่ได้เด็ดขาด เพราะที่นี่ร่มเย็นและชุ่มชื้นจริงๆ

            หลังจากนั้นไปสู่ความชุ่มชื้นขั้นกว่า คือ น้ำตกแม่กำปอง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวหมู่บ้านเพียง 1.2 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็ก แต่มีจำนวนชั้นมากถึง 7 ชั้น ถึงแม้น้ำตกแห่งนี้จะเป็นอีกจุดยอดนิยมที่ไม่ว่าใครก็ไม่พลาด ทว่าความน่าสนใจอยู่ที่ยังรักษาบรรยากาศความสงบเงียบไว้ได้อย่างดี เพราะไม่มีร้านค้า ร้านอาหาร หรือร้านขายของที่ระลึกมาตั้งรบกวนธรรมชาติ มีเพียงศาลาหลังน้อยไว้พักสำหรับคนที่อยากมานั่งนิ่งๆ ชมสายน้ำใสๆ และฟังเสียงน้ำกระแทกหิน เป็นท่วงทำนองของธรรมชาติที่เยียวยาจิตใจอ่อนล้าให้กลับมาฟิตปั๋งอีกครั้ง

            น้ำใสๆ เย้ายวนให้ลองจุ่มมือสัมผัส ถึงกับสะดุ้งเพราะน้ำที่นี่นอกจากจะใสราวกระจกยังเย็นเฉียบ สำหรับคนไม่กลัวหนาว จะรีเฟรชร่างกายด้วยการลลงไปแช่น้ำตกก็ไม่มีใครว่า แต่ควรระวังขณะเดินไปมาบนหิน เพราะมีตะไคร่และมอสขึ้นเต็มไปหมด และถ้าเดินขึ้นไปยังชั้นที่ 7 บนนั้นมีแอ่งน้ำ ลงเล่นได้ แต่ในช่วงน้ำมาก เส้นทางเดินขึ้นไปจะถูกปิดเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว อย่าเซี้ยวแอบปีนขึ้นไปเชียวล่ะ

            สำหรับนักท่องเที่ยวที่ขับรถมาเอง ถนนบริเวณหน้าน้ำตกจะเป็นทางน้ำล้นข้ามผ่านถนน รถเก๋งรวมถึงรถตู้ความสูงปกติ (ไม่โหลด) ขับผ่านได้ บริเวณหน้าน้ำตกมีที่ให้จอดรถไม่เกิน 7 คัน จากหน้าทางเข้าเดินไปน้ำตกเพียง 2-3 นาที

            หากย้อนกลับไปลงไปนิดหน่อยจะมี ร้านกาแฟชมนกชมไม้ ร้านกาแฟชื่อดังระดับท็อปของหมู่บ้าน ตั้งอยู่ระหว่างหมู่บ้านแม่กำปองกับน้ำตกแม่กำปอง ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 750 เมตร ไม่ว่าจะเมื่อยจากการเดินหรือแค่โหยหาคาเฟอีน พอมาถึงร้านกาแฟชมนกชมไม้ ทั้งเครื่องดื่มและวิวสวยที่มองจากระเบียงร้านไปในหุบแบบพาโนรามาจะเยียวยาทุกสิ่ง ซึ่งวิวที่อยู่ตรงหน้านั้นคือหมู่บ้านแม่กำปองจากมุมสูง กลุ่มบ้านใหม่ปนเก่ากระจุกตัวแล้วมีป่าไม้และภูเขาโอบล้อมไว้ นั่งดูไปจิบเครื่องดื่มไป อาจเผลออุทานออกมาดังๆ ว่า “ชีวิตดี๊ดี!”

            เครื่องดื่มยอดฮิตของที่นี่มีหลายอย่าง เช่น กาแฟสด ชาเขียว โกโก้ ชาร้อน น้ำผลไม้ตามฤดูกาล เช่น น้ำเสาวรส น้ำสตรอเบอรี่ กินแกล้มกับขนมรสกลมกล่อม ส่วนมากรสชาติไม่หวานจัด เข้ากันดีกันเครื่องดื่มทุกชนิด ถึงจะทำเลดี และอร่อยขนาดนี้ แต่ราคากลับไม่แพงอย่างเหลือเชื่อ คือ เครื่องดื่ม ราคา 45- 65 บาทเท่านั้นเอง

            ปิดท้ายด้วยไฮไลท์และที่จะพาคุณก้าวข้ามแม่กำปองแบบแมสๆ แล้วยกระดับสู่แม่กำปองที่แท้ทรู เพราะที่นี่คือหัวใจของที่นี่ และเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงแม่กำปองกระทั่งเป็นที่รู้จักของคนภายนอก นั่นคือ ผืนป่าแม่กำปอง

            รู้และเห็นกันคาตาว่าที่นี่เต็มไปด้วยป่า เขา และสายน้ำ แต่บางคนลืมนึกไปว่าในป่ามีความน่าสนใจซ่อนตัวอยู่มากมาย นักท่องเที่ยวจำนวนไม่มากนักที่เลือกจะให้ชาวบ้านพาเข้าไปเปิดสัมผัสแก่นแท้ของแม่กำปอง จากริมถนนที่คดเคี้ยวและสูงชันมีทางเดินแคบๆ เข้าไปในป่า สิ่งแรกที่เห็นคือ ต้นเมี่ยง (ชา) กับต้นกาแฟ ที่ชาวบ้านปลูกล้อไปกับต้นไม้เดิมในป่านี้ บ่งบอกว่าชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากป่าทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยไม่รุกหรือทำลาย ขณะที่ชาวบ้านพาเดินไป เจอต้นเมี่ยงของเขามือก็ล้วงไปในกระเป๋าหยิบใบมีดแบบสวมนิ้วที่เรียกว่า ‘เล็บ’ มาเก็บใบเมี่ยงกันสดๆ พร้อมกับเล่าว่านี่เป็นภาพที่ต่อไปอาจไม่มีแล้ว เพราะคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเก็บเมี่ยง เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมกันหมด

            จากแรกๆ ที่ป่าค่อนข้างโปร่ง ความร่มรื่นค่อยๆ เข้ามาปกคลุม พวกเราย่ำไปบนพื้นดินชื้นแต่ไม่ถึงกับแฉะ ข้ามรากไม้ที่ทำตัวเป็นธรณีประตูของป่า ข้ามแล้วข้ามอีกไม่จบสิ้น ยิ่งข้ามก็ยิ่งเข้าไปลึกและสงบเงียบ นอกจากเสียงฝีเท้าและเสียงหอบของคนที่กำลังเดินกันอยู่ คือเสียงนกไม่ทราบชนิด แต่เดาจากเสียงได้ว่ามีหลายชนิด

            ยิ่งเดินยิ่งลึก ยิ่งลึกยิ่งรู้ ในช่วงเวลาที่ป่ายังชุ่มชื้นและหนาวเย็น จะมีอะไรต่อมิอะไรให้เห็นมากมาย เช่น เห็ดนานาพันธุ์ ซึ่งชาวบ้านก็เก็บเป็นอาหารได้ด้วย หรือสัตว์ป่าบางชนิด เช่น หมูป่า ไก่ป่า นก หมีก็มีแต่ไม่เข้ามาใกล้แหล่งชุมชน

            นอกจากสรรพสัตว์ ต้นไม้ใหญ่ก็ค่อยๆ มีให้เห็นเรื่อยๆ บางต้นมหึมาจนไม่รู้ว่าต้องใช้กี่คนโอบ ชาวบ้านจะพาเราไปจนถึงตาน้ำเลยทีเดียว

            สำหรับคนที่ต้องการเข้าไปเรียนรู้หัวใจของแม่กำปองด้วยการเดินป่าแม่กำปอง ติดต่อที่โฮมสเตย์ท้องถิ่นได้ทันที จะมีชาวบ้านผู้ชำนาญเส้นทางพาเดินและบรรยายด้วยภาษาเข้าใจง่าย ส่วนชาวต่างชาติก็มีล่ามช่วยแปลให้อีกทีหนึ่ง

          แม่กำปองในวันนี้กำลังเนื้อหอมเหมือนสาวสวยแรกรุ่น แต่ถ้าได้ใกล้ชิดสนิทแนบจะต้องหลงใหลในเสน่หาของแม่กำปอง...ที่แท้ทรู!

           

 

  • การเดินทาง

โดยรถส่วนตัว

            บ้านแม่กำปองตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของ จ.เชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่โดยผ่าน อ.สันกำแพง ระยะทาง 50 กิโลเมตร และห่างจากตัว อ.แม่ออน 20 กิโลเมตร และอีกเส้นทางหนึ่งผ่าน อ.ดอยสะเก็ด เลี้ยงขวาตรงสามแยกโป่งดิน ระยะทาง 51 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยางและเทคอนกรีต สามารถ เดินทางได้สะดวกสบายทุกฤดู และสามารถใช้พาหนะรถได้ทุกชนิด

โดยรถสาธารณะ

            มีรถตู้โดยสารสาธารณะ ขึ้นที่สถานีขนส่งช้างเผือก  สายเชียงใหม่-น้ำพุร้อนสันกำแพง  โดยมี 2 รอบ เดินทางเข้าสู่หมู่บ้านแม่กำปอง ทุกวัน ขาไปแม่กำปอง มีรอบ 7.30น. และ 11.30น. ขากลับออกจากแม่กำปอง มีรอบ 9.20 น. และ13.20น.  อัตราค่าโดยสาร ไปน้ำพุร้อนสันกำแพงคนละ  35 บาท  ไปบ้านแม่กำปองคนละ 120 บาท (ต้องมี 4 คนขึ้นไป หากไม่ถึง 4 คน หารค่าโดยสารตามจำนวนคน) สอบถาม โทร.08 3325 4965