สตช.จับมือกรมราชทัณฑ์ จัดทำประวัติดีเอ็นเอ.ผู้ต้องขัง

สตช.จับมือกรมราชทัณฑ์ จัดทำประวัติดีเอ็นเอ.ผู้ต้องขัง

"สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" จับมือ "กรมราชทัณฑ์" จัดทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอ.และประวัติ ระบบออนไลน์ผู้ต้องขังทั่วประเทศ หวังลดการกระทำความผิดซ้ำซ้อน หลังมีการปล่อยตัวสู่สังคม

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยความร่วมมือการประสานด้านระบบฐานข้อมูลผู้กระทำความผิด ผู้ต้องขัง ด้านนิติวิทยาศาสตร์ ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เป็นระบบตามมาตรฐานสากล

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ จะทำให้ข้อมูลด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล หรือ DNA ของผู้กระทำความผิดที่ถูกจับกุม มีการเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็ว และสามารถจับกุมตัวมาดำเนินคดีได้ทันที หากพบมีการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งจะเร่งดำเนินการทำฐานข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 เชื่อว่าจะสามารถทำให้ผู้ถูกจับกุมลดการกระทำความผิดซ้ำลง อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า การเก็บตัวอย่าง ดีเอ็นเอ. ของผู้ต้องขัง ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของกองพิสูจน์หลักฐาน อีกทั้งได้เตรียมดำเนินการอบรมตำรวจในพื้นที่ให้สามารถเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ.ได้อย่างถูกต้องถูกวิธีฯ เพื่อนำส่งรวบรวมข้อมูลที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง

ขณะที่ พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า ได้มีการสั่งการให้เรือนจำ และทัณฑสถานทั่วประเทศ ประสานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 ทั่วประเทศ เพื่อจัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ. และลายนิ้วมือของผู้ต้องขังภายในเรือนจำ ซึ่งขณะนี้มีผู้ต้องขังกว่า 3 แสนคนในความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ แต่ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และสถานที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้กรมราชทัณฑ์ไม่สามารถคืนคนดีสู่สังคมได้เท่าที่ควร ทั้งนี้ การทำฐานข้อมูลผู้ต้องขัง จึงเป็นอีกช่องทางสำคัญในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำซ้อนอย่างเป็นระบบ