‘เดลล์’ตั้งหน่วยธุรกิจ ลุยหนักโซลูชั่นไอโอที

‘เดลล์’ตั้งหน่วยธุรกิจ ลุยหนักโซลูชั่นไอโอที

เร่งกลยุทธ์ไอโอที ตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ให้บริการโซลูชั่นสำหรับลูกค้าองค์กรธุรกิจแบบครบวงจร ชี้ตลาดไทยเริ่มเปิดรับ ไทยแลนด์ 4.0 - การมาของ 5 จีช่วยเพิ่มกระแสลงทุน

นายอโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี อินโดไชน่า กล่าวว่า เดลล์ได้ตั้งหน่วยธุรกิจใหม่แผนก "ไอโอที" เพื่อให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร จุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา นายไมเคิล เดลล์ ประกาศยุทธศาสตร์เกี่ยวกับไอโอทีของเดลล์โดยจะลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีข้างหน้า สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โซลูชั่น ห้องปฏิบัติการ ระบบนิเวศ และโปรแกรมคู่ค้าใหม่สำหรับไอโอที

“การมาของข้อมูลจำนวนมหาศาลเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งทุกองค์กรธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับมือ และต้องมองต่อไปว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้นำข้อมูลที่เก็บมาวิเคราะห์ พร้อมนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้"

ส่วนของเดลล์ยึดกลยุทธ์ “ไอคิวที (IQT)” ที่จะนำเทคโนโลยีจาก 7 บริษัทของเดลล์มาใข้งานในหน่วยธุรกิจไอโอทีที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ โดยจะใช้เทคโนโลยีอย่างเอไอ และแมชีนเลิร์นนิ่งเป็นตัวขับเคลื่อน และมีอุปกรณ์ไอโอทีมาช่วยเก็บข้อมูล

ข้อมูลระบุว่า ภายในปี 2020 ระดับโลกจะมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และไม่ใช่สมาร์ทโฟน (Connected Device) จำนวนมากกว่า 2.04 หมื่นล้านชิ้น และจะเพิ่มเป็น 7.44 หมื่นล้านชิ้นภายในปี 2568

สำหรับในประเทศไทย ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน ระบุว่าในปี 2557 ประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนไอโอทีที่ 57.7 ล้านดอลลาร์ และภายในปี 2563 จะเติบโตขึ้น 1,600 เท่า หรือเป็น 973 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ไอดีซีคาดการณ์ว่าในปี 2563 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยกเว้นญี่ปุ่นจะมีมูลค่าการลงทุนไอโอทีสูงถึง 5.83 แสนล้านดอลลาร์

“จุดที่ทำให้ในไทยเริ่มมีการลงทุนไอโอทีมากขึ้น หลักๆ มาจากการผลักดันนโยบายของไทยแลนด์ 4.0 การขยายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก รวมถึงการลงทุนเพื่อเตรียมรับ 5จี"

เบื้องต้น ภาคอุตสาหกรรมที่จะมีการลงทุนไอโอทีจะเริ่มจากภาคการขนส่ง โลจิสติกส์ และภาคการเกษตร ก่อนขยายไปยังอาคารอัจฉริยะ และโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อนำไปช่วยเพิ่มกำลังการผลิต คาดว่าการลงทุนที่ชัดเจนจะได้เห็นภายในไม่เกิน 1 ปีข้างหน้า และเห็นการลงทุนโซลูชั่นที่ชัดเจนขึ้นใน 2 ปีข้างหน้า

ขณะที่ อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไอโอทีมีการพูดถึงมากขึ้นคือการที่ กสทช. เห็นชอบในการนำคลื่น 920 - 925 เมกะเฮิรตซ์มาให้บริการไอโอที ซึ่งเชื่อว่าจะเพียงพอกับการใช้งานในช่วงแรก แต่อนาคตอย่างในยุโรปที่ใช้งานกันจะต้องใช้คลื่นราว 10 เมกะเฮิรตซ์เพื่อให้รับกับการขยายตัวได้