สนช.ผ่านกฎหมาย 'สูงอายุ' รีดภาษีบาป2%เพิ่มเบี้ยยังชีพ

สนช.ผ่านกฎหมาย 'สูงอายุ' รีดภาษีบาป2%เพิ่มเบี้ยยังชีพ

จับประเด็นร้อน! สนช.ผ่านกฎหมาย "สูงอายุ" รีดภาษีบาป2%เพิ่มเบี้ยยังชีพ มอง สสส.-ไทยพีบีเอส และมองทุนกีฬาฯ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่าน “ร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ....” แบบเอกฉันท์ 181 เสียง ต่อ 0 เสียง ในการประชุมวานนี้ (16พ.ย.) และจะเหลือเพียงขั้นตอนการประกาศใช้เท่านั้น

โดยสาระหลักของร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่มาตรา 5 ที่ให้บัญญัติไว้ใน มาตรา 15/1 “ให้เรียกเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าสุราและยาสูบในอัตราร้อยละสองของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต และให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีดังกล่าวเป็นผู้มีหน้าที่ส่งเงินบำรุงกองทุนพร้อมกับชำระภาษีสรรพสามิต ทั้งนี้ตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด”

ทั้งนี้ส่วนที่เก็บจะมีไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ส่วนที่เกินจากนั้นจะนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

ซึ่งต้องทำความเข้าใจกันว่า อัตรา 2 % ที่เก็บนี้ ไม่ใช่มี 100 ส่วนแล้วชักออก 2 ส่วน แต่การเขียนเช่นนี้คือการที่เดิมจ่าย 100 ส่วน ตามของใหม่ก็ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 102 ส่วน

หมายความว่าจากนี้ผู้ประกอบการที่เคยเสียภาษีสรรพสามิต 100 บาท ก็จะต้องเสียเพิ่มอีก 2 บาท เป็น 102 บาท ซึ่งภาระเหล่านี้จะอยู่ที่ผู้ประกอบการ แต่จะวนมาบวกเพิ่มเอากับผู้บริโภคหรือไม่ก็ขึ้นกับผู้ประกอบการ

จากการชี้แจงระบุว่าเงินภาษีสรรพสามิตที่เก็บเพิ่มและนำส่งเข้ากองทุนผู้สูงอายุ จะถูกนำไปจ่ายเป็นเบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มเติมอีกคนละ 100 บาท อาทิ เดิมคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปได้เบี้ยยังชีพ 600 บาท ก็จะเพิ่มเป็น 700 บาท อายุ 70 ปี จากเดิมได้ 700 บาท ก็เพิ่มเป็น 800 บาท

ทั้งนี้ มีการคำนวณว่า ส่วนที่นำมาเพิ่มค่าเบี้ยยังชีพจะอยู่ที่ 2,400 ล้านบาทต่อปี ส่วนที่เหลืออีก 1,600 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้เป็นสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ เช่น การซ่อมแซมและสร้างบ้านเรือนผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง การจัดกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตามหากย้อนดูจะพบว่า “กองทุนผู้สูงอายุ” ไม่ใช่กองทุนแรกที่ใช้เงินจากภาษีสรรพสามิต
โดยมีกองทุนต่างๆ ที่ใช้เงินภาษีสรรพสามิตจาก “สุรา” และ “ยาสูบ” ดังนี้

1. “กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” หรือที่เรียกกันว่า “กองทุน สสส.” มีหน้าที่ หลักคือ ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในประชากรทุกวัยตามนโยบายสุขภาพแห่งชาติ

รวมทั้งสร้างความตระหนักเรื่องพฤติกรรมการเสี่ยงจากการบริโภคสุรา ยาสูบ หรือสาร หรือสิ่งอื่นที่ทำลายสุขภาพ และรณรงค์ให้ลดบริโภคสุรา ยาสูบ หรือสารหรือสิ่งอื่นที่ทำลายสุขภาพ

ทั้งนี้ใน พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพ พ.ศ. 2544 มาตรา 11 ระบุว่า “ให้กองทุนมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในอัตราร้อยละสองของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ”
ซึ่งเป็นการเก็บเงินในอัตราร้อยละสองจากภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบ โดยที่ไม่มีเพดานวงเงินจำกัด

2.“องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย” หรือที่เรียกกันว่า “ไทยพีบีเอส” ก็ใช้เงินจากภาษีสรรพสามิตในส่วนของ สุราและยาสูบเช่นเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์โดยสรุปคือเพื่อให้เป็นโทรทัศน์สาธารณะ ผลิตรายการที่มีคุณภาพ และนำเสนอข่าวสารทีเป็นอิสระจากการเมืองและธุรกิจ
โดย พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ระบุในมาตรา 12 ว่า “ให้องค์การมีอํานาจจัดเก็บเงินบํารุงองค์การจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย ว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในอัตราร้อยละหนึ่งจุดห้าของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตาม กฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ และจัดสรรให้เป็นรายได้ขององค์การ โดยให้มีรายได้ สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกินสองพันล้านบาท”
แปลความง่ายๆว่า ให้นำรายได้จากภาษีสรรพสามิตในส่วนสุราและยาสูบ ร้อยละ 1.5 โดยมีเพดานอยู่ที่ปีละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท และให้มีการทบทวนทุกสามปี

3. “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการกีฬาของชาติ และมีรายได้หลักจาก ภาษีสรรพสามิตในส่วนของสุราและยาสูบตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 “ให้กองทุนมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบในอัตราร้อยละสองของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ”

โดยสรุปก็คือให้นำรายได้ร้อยละสองจากภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบ โดยไม่มีเพดาน
ดังจะเห็นว่ามีหลากหลายกองทุนต่างต้องการเงินส่วนนี้ ที่เรียกกันว่า “ภาษีบาป” เพราะเงินก้อนนี้ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับภาระงบประมาณประเทศ และผลักให้เป็นภาระของผู้เสียภาษี ซึ่งหากใครจะปริปากบ่นก็ต้องเจอกับข้อหาที่ว่า “ถ้าไม่อยากจ่ายก็อย่ากินอย่าสูบ เพราะของพวกนี้เป็นของไม่ดี” หรือถ้าไม่พอใจก็ “เลิกซะ”

ที่สำคัญคือการจัดสรรงบประมาณเช่นนี้ถือว่าไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณตามปกติ ที่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม แต่นี่เปรียบเสมือนการ “บายพาส” งบประมาณกันเลยทีเดียว

และยิ่งหากมาดูรายได้จากภาษีสรรพสามิตในส่วนของ สุราและยาสูบ จะพบว่ามีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยหากเปรียบเทียบตั้งแต่ปี 255 ที่เริ่มจัดเก็บเพื่อกองทุน สสส. ขณะนั้นจัดเก็บภาษี สุรา และ บุหรี่ได้ปีละ 85,637 ล้านบาท ปี 2546 จัดเก็บได้ 95,952 ล้านบาท ปี 2547 จัดเก็บได้ 105,255 ล้านบาท ปี 2548 จัดเก็บได้ 112,295 ล้านบาท ปี 2549 จัดเก็บได้ 109,007 ล้านบาท ปี 2550 จัดเก็บได้ 127,210 ล้านบาท ปี2551 ซึ่งเป็นปีแรกที่จัดเก็บเข้ากองทุนไทยพีบีเอส จัดเก็บได้จัดเก็บได้ 132,113 ล้านบาท ปี 2552 จัดเก็บได้130,311 ล้านบาท ปี 2553 จัดเก็บได้ 154,610 ล้านบาท ปี 2554 จัดเก็บได้ 167,319 ล้านบาท ปี 2555 จัดเก็บได้ 178,307 ล้านบาท ปี 2556 จัดเก็บได้ 189,652 ล้านบาท ปี 2557 จัดเก็บได้ 202,214 ล้านบาท ปี 2558 ที่เป็นปีแรกซึ่งจัดตั้งกองทุนกีฬา จัดเก็บได้ 205,336 ล้านบาท และปี 2559 จัดเก็บได้ 213,534 ล้านบาท

จากปีแรกที่เริ่มเก็บเข้ากองทุน สสส. จะพบว่ารายได้จากภาษีสรรพสามิตส่วนสุราและยาสูบเพิ่มขึ้นถึง 120,000 ล้าน

เค้กก้อนโต และจะโตขึ้นเรื่อยๆ ย่อมหอมหวนยิ่งนักสำหรับการนำไปใช้ในกิจการต่างๆ โดยที่ไม่กระทบงบประมาณปกติ แต่ภาระนี้จะถูกผลักไว้ให้ใคร ก็เป็นเรื่องของคนบาปที่ต้องรับไปอย่างไม่สามารถปริปากได้เลย